หุ้นกู้ออกใหม่ เดือนพฤษภาคม 2567 คนทั่วไปลงทุนได้ ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 5% ต่อปี

           หุ้นกู้ออกใหม่ เดือนพฤษภาคม 2567 มีบริษัทไหนบ้าง ให้ดอกเบี้ยเท่าไร รวบรวมข้อมูลหุ้นกู้ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถจองซื้อได้ มาบอกกัน
หุ้นกู้ คืออะไร

           หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้เอกชนที่บริษัทต่าง ๆ เสนอขายให้กับสถาบันหรือผู้ลงทุนทั่วไป เพื่อนำเงินไปใช้หมุนเวียนในการทำธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ เปรียบเสมือนกู้เงินจากเราแล้วให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากธนาคาร ยิ่งในปัจจุบันมีหุ้นกู้ที่เปิดขายแก่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น ทำให้คนทั่วไปเริ่มสนใจลงทุน งั้นลองมาศึกษาข้อมูลกันสักนิด พร้อมเช็กว่าในเดือนพฤษภาคม 2567 มีหุ้นกู้ตัวไหนที่ประชาชนทั่วไปจองซื้อได้บ้าง

หุ้นกู้ออกใหม่
เดือนพฤษภาคม 2567

           สำหรับในเดือนพฤษภาคม 2567 มีหุ้นกู้ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไป (PO) จองซื้อได้อยู่หลายชุด ดังนี้

1. บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU)

หุ้นกู้ banpu

ภาพจาก : Thaibma สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

          บริษัทประกอบธุรกิจจัดหาพลังงานครบวงจร ครอบคลุม 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เสนอขายหุ้นกู้ 5 ชุด ในเดือนพฤษภาคม 2567 ดังนี้

  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : 

    • ชุดที่ 1 อายุ 2 ปี 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.10% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569

    • ชุดที่ 2 อายุ 5 ปี 9 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2573

    • ชุดที่ 3 อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.76% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2574

    • ชุดที่ 4 อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.08% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2577

    • ชุดที่ 5 อายุ 12 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.21% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2579

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 6 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : A+ แนวโน้มคงที่ 

  • ระดับความเสี่ยง : 3 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี  

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 7-9 พฤษภาคม 2567

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารยูโอบี ซึ่งรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ และบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต

  • ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

2. บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (ORI)

หุ้นกู้ ori

ภาพจาก : Thaibma สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

          ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ฯ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ประเภทคอนโดมิเนียมตามแนวสถานีขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เสนอขายหุ้นกู้จำนวน 3 ชุด ในเดือนพฤษภาคม 2567 ได้แก่

  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : 

    • ชุดที่ 1 อายุ 1 ปี 10 เดือน 8 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.25% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569

    • ชุดที่ 2 อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.85% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2570

    • ชุดที่ 3 อายุ 3 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2570

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ แนวโน้มคงที่ 

  • ระดับความเสี่ยง : 5 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี  

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ผู้ลงทุนทั่วไป และ/หรือผู้ลงทุนสถาบัน

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 9-10 และ 13 พฤษภาคม 2567

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า, บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ, บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์, บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน และบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก 

  • ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

3. บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC)

หุ้นกู้ เมืองไทยแคปิตอล mtc

ภาพจาก : Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

          บริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ สินเชื่อโฉนดที่ดิน และสินเชื่อส่วนบุคคลแก่ลูกค้ารายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป เสนอขายหุ้นกู้ 3 ชุด ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 ได้แก่

  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : 

    • ชุดที่ 1 อายุ 2 ปี 22 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.30% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569

    • ชุดที่ 2 อายุ 3 ปี 21 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.80% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2570

    • ชุดที่ 3 อายุ 4 ปี 27 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.95% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2571

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ แนวโน้มคงที่

  • ระดับความเสี่ยง : 5 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ผู้ลงทุนทั่วไป และ/หรือผู้ลงทุนสถาบัน

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 14-16 พฤษภาคม 2567

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า, บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัทหลักทรัพย์ พาย, บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์, บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีพัฒนสิน และบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต 

  • ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

4. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE)

หุ้นกู้ทรู True

ภาพจาก : Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

          บริษัทผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจร ทั้งด้านเครือข่าย ดิจิทัลมีเดีย และคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต Wi-Fi และดิจิทัลแพลตฟอร์ม เสนอขายหุ้นกู้ 5 ชุด ในเดือนพฤษภาคม 2567 ประกอบด้วย

  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : 

    • ชุดที่ 1 อายุ 1 ปี 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2.95% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2568

    • ชุดที่ 2 อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.51% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569

    • ชุดที่ 3 อายุ 3 ปี 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.70% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2570

    • ชุดที่ 4 อายุ 5 ปี 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4.00% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2572

    • ชุดที่ 5 อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.30% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2577

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : A+ แนวโน้มคงที่

  • ระดับความเสี่ยง : 3 (จากทั้งหมด 8 ระดับ) 

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี ยกเว้นรุ่นอายุ 10 ปี ผู้ออกมีสิทธิ์ไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 23-24 และ 27 พฤษภาคม 2567

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารยูโอบี, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย, บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์

  • ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  

สิ่งที่ต้องพิจารณา
ก่อนลงทุนหุ้นกู้

หุ้นกู้ออกใหม่

ความมั่นคงและความน่าเชื่อของบริษัท

           สิ่งแรกที่ควรศึกษาก็คือ บริษัทนั้นประกอบธุรกิจใด ผลประกอบการเป็นอย่างไร และมีความน่าเชื่อถือมาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งเบื้องต้นอาจพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ (Credit Rating) ประกอบด้วย โดยหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) จะมีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป จนถึง AAA แต่ถ้าเป็นหุ้นกู้ที่มีระดับ BB+ ลงมา จนถึง D จะถูกจัดเป็นหุ้นกู้ในกลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment Grade) อย่างไรก็ตาม การจัดเรตติ้งนี้ไม่ได้การันตีว่าหุ้นกู้จะไม่ผิดนัดชำระ

อายุของหุ้นกู้ที่ต้องการลงทุน

           การลงทุนในหุ้นกู้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาว เริ่มตั้งแต่ 1 ปี ไปจนถึงมากกว่า 10 ปี แม้จะสามารถขายออกมาก่อนได้ แต่ก็มีความยุ่งยากพอสมควรและอาจขาดทุน เราจึงต้องพิจารณาให้ดีว่าหากนำเงินมาลงทุนแล้วจะกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินในช่วงระยะเวลานั้นหรือไม่ เพื่อเลือกระยะเวลาในการลงทุนที่เหมาะสม

อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้

  • หุ้นกู้ที่มีเรตติ้งสูงจะให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งน้อยกว่าเมื่อเทียบในระยะเวลาเท่ากัน เช่น หุ้นกู้ที่มีเครดิต A+ ย่อมให้ดอกเบี้ยน้อยกว่าหุ้นกู้ที่มีเครดิต BBB+

  • หุ้นกู้ที่มีระยะเวลานานกว่ามักให้ดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาถือครองสั้น เช่น หุ้นกู้ในบริษัทเดียวกันที่มีอายุ 7 ปี จะให้ดอกเบี้ยสูงกว่ารุ่นอายุ 4 ปี

คุณสมบัติผู้จองซื้อ

          หากสนใจหุ้นกู้ตัวไหนควรตรวจสอบด้วยว่า หุ้นกู้ตัวนั้นเสนอขายแก่คนกลุ่มใด เรามีสิทธิ์ซื้อได้หรือไม่ ซึ่งจะแบ่งกลุ่มผู้ลงทุนออกเป็น 4 ประเภท คือ

1. ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP10) คือ การขายตราสารหนี้ให้กับผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ฉบับ หรือ 10 ราย ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องเป็นผู้ลงทุนสถาบัน กรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นเกิน 10% และบริษัทในเครือเท่านั้น

2. ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor : II) เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ กองทุน บริษัทประกัน

3. ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth : HNW) คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ รายได้ต่อปี หรือลงทุนในหลักทรัพย์ตามที่กำหนด โดยกรณีเป็นบุคคลธรรมดา (รวมคู่สมรสตามกฎหมาย) จะใช้เกณฑ์ดังนี้ (เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง)

  • มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือ

  • มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 8 ล้านบาทขึ้นไป ถ้ารวมเงินฝากจะเป็น 15 ล้านบาทขึ้นไป หรือ

  • มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป ไม่รวมที่อยู่พักอาศัยประจำ 

          แต่ในกรณีที่มีฐานะทางการเงินไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดจะพิจารณาคุณสมบัติด้านความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนเพิ่มเติม โดยหากเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ก็สามารถเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ได้ 

  • มีประสบการณ์การลงทุนย้อนหลังในสินทรัพย์เสี่ยงที่ต้องมีการลงทุนเป็นประจำและต่อเนื่อง หรือ

  • มีประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารการเงินและการลงทุน หรือ

  • เป็นผู้แนะนำการลงทุนหรือผู้วางแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือ

  • ได้รับวุฒิบัตรที่เกี่ยวกับการลงทุน

4. ผู้ลงทุนทั่วไป (Public Offering : PO) คือ ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหุ้นกู้ได้

ความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่ควรรู้

ความเสี่ยงหุ้นกู้

          ความเสี่ยงของหุ้นกู้หลัก ๆ นั้นจะมีอยู่ 3 ด้าน คือ

  • ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง : การลงทุนหุ้นกู้จะได้รับเงินคืนเมื่อครบกำหนดเวลาไถ่ถอน แต่ถ้าอยากขายออกมาก่อนกำหนดสามารถขายได้ผ่านตลาดรอง เพียงแต่อาจต้องขายลดราคาหรือขาดทุน

  • ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย : หุ้นกู้มักให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้น จะไม่มีการปรับขึ้น-ลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หมายความว่า ถ้าเราลงทุนไปแล้วเกิดมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หุ้นกู้ก็จะยังให้ดอกเบี้ยเท่าเดิม ไม่ปรับขึ้นตาม เราจึงอาจเสียโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ 

  • ความเสี่ยงด้านเครดิต : บริษัทผู้ออกหุ้นกู้บางแห่งอาจประสบปัญหาหมุนเงินไม่ทัน ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่สามารถคืนเงินลงทุนให้เราได้เมื่อครบกำหนด เท่ากับผิดนัดชำระหนี้ (Default) ส่งผลให้เงินลงทุนของเราแทบกลายเป็นศูนย์ ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องการชดเชยต่อไป
           อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นกู้มีความเสี่ยงที่แลกมากับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ดังนั้น แนะนำให้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน

บทความที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้

ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (1), (2), (3), (4) 
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (1), (2), (3), (4), YouTube ThaiBMAChannel

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หุ้นกู้ออกใหม่ เดือนพฤษภาคม 2567 คนทั่วไปลงทุนได้ ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 5% ต่อปี อัปเดตล่าสุด 8 กรกฎาคม 2567 เวลา 22:52:45 31,728 อ่าน
TOP
x close