หุ้นกู้ออกใหม่ หรือตราสารหนี้ออกใหม่ ที่ให้ดอกเบี้ยสูงมีอยู่หลายชุด แต่สำหรับชุดที่คนทั่วไปจองซื้อได้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 จะมีรุ่นไหนบ้างนั้น รวบรวมมาบอกแล้ว
ลงทุนอะไรดี ที่ไม่ผันผวนมากนัก ? คำตอบของเรื่องนี้มีอยู่หลายอย่าง อาทิ บัญชีเงินฝาก สลากออมทรัพย์ พันธบัตรออมทรัพย์ แต่ถ้าต้องการดอกเบี้ยสูงขึ้นมาหน่อย การลงทุนให้หุ้นกู้ ก็น่าสนใจ เพราะระบุอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับแน่นอน เพียงแต่จะมีความเสี่ยงอยู่พอสมควรในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือจ่ายเงินต้นคืนผู้ลงทุนได้ตามกำหนด แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ดังนั้น ใครคิดจะลงทุนหุ้นกู้ อยากให้มาศึกษาข้อมูลด้านล่างนี้กันก่อน พร้อมกันนี้เรายังรวบรวมหุ้นกู้ออกใหม่ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถจองซื้อได้มาให้พิจารณากันด้วย
หุ้นกู้คืออะไร ซื้อยังไง ?
หุ้นกู้ (Corporate Bond หรือ Debenture) เป็นตราสารหนี้ที่บริษัทเอกชนเปิดขายเพื่อระดมทุนนำไปใช้ในกิจการต่าง ๆ ของบริษัท เช่น ลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ หรือนำไปชำระหุ้นกู้รุ่นเดิมที่ใกล้ครบกำหนด โดยบริษัทจะจ่ายดอกเบี้ยให้ตามที่ตกลงไว้ตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ และชำระเงินต้นคืนในวันที่ครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
สำหรับหุ้นกู้ของประเทศไทยนั้นจะมีมูลค่าหน่วยละ 1,000 บาท และส่วนใหญ่จะกำหนดให้ลงทุนขั้นต่ำ 100 หน่วย หรือ 100,000 บาท ยกเว้นบางรุ่นที่อาจจะให้ซื้อได้ตั้งแต่ 1,000 บาท ไปจนถึง 1,000,000 บาท โดยติดต่อซื้อได้ที่ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายตามประกาศของหุ้นกู้แต่ละบริษัท
หุ้นกู้มีกี่ประเภท ?
หุ้นกู้จะมีอยู่หลายลักษณะ ได้แก่
- หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หมายถึง หุ้นกู้นี้มีสินทรัพย์ต่าง ๆ ค้ำประกันอยู่ ถ้าเกิดปัญหาที่บริษัทไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นให้เราได้ เราจะมีสิทธิ์ในหลักประกันนั้น
- หุ้นกู้ชนิดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ วางไว้ กรณีบริษัทที่ออกหุ้นกู้ประสบปัญหาทางการเงินจะต้องแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิ์และสัดส่วนที่ถือ
- หุ้นกู้ด้อยสิทธิ คือ ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ล้มละลายหรือเลิกกิจการ ผู้ที่ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะมีสิทธิ์ได้รับคืนเงินต้นหลังจากผู้ถือหุ้นที่มีประกัน กล่าวว่าอยู่ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ
- หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ คือ ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ล้มละลายหรือเลิกกิจการ ผู้ที่ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิจะมีสิทธิ์ได้รับคืนเงินต้นในอันดับที่ทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ และสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
โดยหากจัดอันดับสิทธิ์ในการเรียกร้องสินทรัพย์ หรือการได้รับคืนเงินต้นจากผู้ออกตราสารเมื่อกิจการล้มละลาย จะเป็นดังนี้
- ลำดับที่ 1 หุ้นกู้มีประกัน
- ลำดับที่ 2 หุ้นกู้ไม่มีประกัน
- ลำดับที่ 3 หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
- ลำดับที่ 4 หุ้นบุริมสิทธิ
- ลำดับที่ 5 หุ้นสามัญ
ต้องพิจารณาอะไรบ้างเมื่อจะลงทุนหุ้นกู้
บริษัทน่าเชื่อถือหรือไม่
การซื้อหุ้นกู้คือการให้บริษัทกู้ยืมเงิน ดังนั้นจึงควรดูให้แน่ใจก่อนว่าบริษัทมีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน ฐานะการเงินเป็นอย่างไร จะมีเงินจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้เราได้หรือไม่ โดยสามารถพิจารณาได้จากอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่จัดทำโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไปจนถึง AAA จัดเป็นหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) เพราะออกโดยบริษัทที่มั่นคง ผลประกอบการดี มีโอกาสที่จะไม่ได้รับเงินต้นคืนค่อนข้างต่ำ
แต่หากเป็นหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งตั้งแต่ BB+ ลงมา จนถึง D จะเป็นหุ้นกู้ในกลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment Grade) นอกจากนี้ที่ต้องระวังในการลงทุนคือ หุ้นกู้ในกลุ่มไม่มีเรตติ้ง (Unrated) ที่แม้จะให้ดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้เงินลงทุนคืนกลับมาสูงตามไปด้วย
อายุของหุ้นกู้นานแค่ไหน
หุ้นกู้จะกำหนดอายุเอาไว้ เช่น 2 ปี, 4 ปี 9 เดือน, 7 ปี เป็นต้น เมื่อครบกำหนดบริษัทจะคืนเงินต้นให้กับผู้ลงทุน ซึ่งควรเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุสอดคล้องกับระยะเวลาที่ต้องการลงทุน แต่ก็มีหุ้นกู้ประเภทที่มีเงื่อนไขสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้อยู่ 2 กรณี คือ บริษัทสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด หรือการที่ผู้กู้ขอคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนด และอีกกรณีคือ ผู้ถือหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด หรือการที่ผู้ให้กู้ขอเงินกู้คืนก่อนครบกำหนด
ผลตอบแทน/ดอกเบี้ยเป็นเท่าไร
หุ้นกู้จะจ่ายดอกเบี้ยอยู่ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ แบบกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ตายตัวตลอดระยะเวลาของหุ้นกู้ เช่น หุ้นกู้อายุ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.20% ต่อปี กับแบบกำหนดเป็นขั้นบันได ซึ่งปกติจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น เช่น หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ 2% ต่อปี ปีที่ 3-5 เท่ากับ 3.5% ต่อปี และปีที่ 6 เป็นต้นไป เท่ากับ 4% ต่อปี
ทั้งนี้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นประเภทของหุ้นกู้ อายุของหุ้นกู้ ความเสี่ยงของบริษัทผู้ออกหุ้นส่วน นอกจากนี้ดอกเบี้ยที่ได้รับทุกครั้งจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ด้วย
ใครมีสิทธิ์จองซื้อ
บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะเสนอขายหุ้นกู้ตามกลุ่มนักลงทุน ดังนั้นก่อนซื้อต้องศึกษาให้ดีว่าเรามีสิทธิ์ซื้อหรือไม่ โดยแบ่งกลุ่มผู้ลงทุนออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP10) คือ การขายตราสารหนี้ให้กับผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ฉบับ หรือ 10 ราย ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องเป็นผู้ลงทุนสถาบัน กรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นเกิน 10% และบริษัทในเครือเท่านั้น
2. ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor : II) เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ กองทุน บริษัทประกัน
3. ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth : HNW) คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ รายได้ต่อปี หรือลงทุนในหลักทรัพย์ตามที่กำหนด โดยกรณีเป็นบุคคลธรรมดา (รวมคู่สมรสตามกฎหมาย) จะใช้เกณฑ์ดังนี้ (เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง)
-
มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือ
-
มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 8 ล้านบาทขึ้นไป ถ้ารวมเงินฝากจะเป็น 15 ล้านบาทขึ้นไป หรือ
-
มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป ไม่รวมที่อยู่พักอาศัยประจำ
แต่ในกรณีที่มีฐานะทางการเงินไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะพิจารณาคุณสมบัติด้านความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนเพิ่มเติม โดยหากเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ก็สามารถเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ได้
-
มีประสบการณ์การลงทุนย้อนหลังในสินทรัพย์เสี่ยงที่ต้องมีการลงทุนเป็นประจำและต่อเนื่อง หรือ
-
มีประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารการเงินและการลงทุน หรือ
-
เป็นผู้แนะนำการลงทุนหรือผู้วางแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือ
-
ได้รับวุฒิบัตรที่เกี่ยวกับการลงทุน
4. ผู้ลงทุนทั่วไป (Public Offering : PO) คือ ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหุ้นกู้ได้
ความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่ควรรู้
ความเสี่ยงของหุ้นกู้หลัก ๆ นั้นจะมีอยู่ 3 ด้าน คือ
-
ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย : ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปลดลง หุ้นกู้จะมีมูลค่าสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม หุ้นกู้ก็จะมีมูลค่าลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้น ทำให้ราคาที่ขายได้อาจมากหรือน้อยกว่าราคาที่ซื้อมา ขึ้นอยู่กับระดับและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ตรงนี้อาจมีค่าเสียโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น
-
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง : หากลงทุนในระยะยาวมาก ๆ แล้วประสบปัญหาจำเป็นต้องใช้เงินก้อนก่อนหุ้นกู้ครบอายุ ทำให้ต้องนำไปขายที่ตลาดรอง ซึ่งมีราคาลดลงหรืออาจขาดทุนได้
-
ความเสี่ยงด้านเครดิต : การลงทุนหุ้นกู้กับบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำจะมีความเสี่ยงสูง เช่น บริษัทเลิกกิจการหรือล้มละลาย จนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามที่สัญญา แต่ก็จะมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นกู้ของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่า
นอกจากนี้ หากผู้ออกหุ้นกู้ประสบปัญหาทางการเงิน อาจจะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือคืนเงินต้นให้เราได้ เท่ากับผิดนัดชำระหนี้ (Default) ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อไป
หุ้นกู้ออกใหม่ เดือนพฤศจิกายน 2566
สำหรับหุ้นกู้ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไป (PO) สามารถจองซื้อได้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีดังนี้
1. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE)
บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ ให้บริการครบวงจรทั้งเครือข่าย ดิจิทัลมีเดียและคอนเทนต์ต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต Wi-Fi และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ออกหุ้นกู้เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป จำนวน 5 ชุด
-
ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้
-
อายุและอัตราดอกเบี้ย :
-
อายุ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.15% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2567
-
อายุ 3 ปี 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.75% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2570
-
อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.10% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2571
-
อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.35% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2573
-
อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.60% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2576 (เฉพาะชุดนี้ ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิ์ไถ่ถอนก่อนครบกำหนด)
-
-
จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน
-
อันดับความน่าเชื่อถือ : A+
-
ระดับความเสี่ยง : 2-3 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)
-
การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี (ยกเว้นชุดที่ 5 อายุ 10 ปี)
-
ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป
-
ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
-
วันที่เปิดจอง : 2-3 และ 6 พฤศจิกายน 2566
-
ช่องทางการขาย : ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารยูโอบี
- ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
2. บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (TPIPP)
ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงขยะ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง โรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ เสนอขายหุ้นกู้ 1 ชุด ดังนี้
-
ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้
-
อายุ : 4 ปี 9 เดือน
-
อัตราดอกเบี้ย : 4.10% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2571
-
จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน
-
อันดับความน่าเชื่อถือ : A- แนวโน้มคงที่
-
ระดับความเสี่ยง : 3 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)
-
การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี
-
ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป และผู้ลงทุนสถาบัน
-
ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
-
วันที่เปิดจอง : 8-10 พฤศจิกายน 2566
-
ช่องทางการขาย : ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์, บริษัทหลักทรัพย์ พาย, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ, บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส, บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ, บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน, บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์, บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก, บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป, บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี, บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์
- ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
3. บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) (SCAP)
บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเช่าซื้อ เสนอขายหุ้นกู้ 3 ชุด ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ดังนี้
-
ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้
-
อายุและอัตราดอกเบี้ย :
-
อายุ 1 ปี 2 เดือน 23 วัน รอประกาศอัตราดอกเบี้ย คาดว่า 4.10-4.25% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2568
-
อายุ 2 ปี รอประกาศอัตราดอกเบี้ย คาดว่า 4.25-4.40% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2568
-
อายุ 3 ปี รอประกาศอัตราดอกเบี้ย คาดว่า 4.75-4.90% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569
-
-
จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน
-
อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ แนวโน้มคงที่
-
ระดับความเสี่ยง : 5 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)
-
การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี
-
ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป
-
ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
-
วันที่เปิดจอง : 13-15 พฤศจิกายน 2566
-
ช่องทางการขาย : ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์
- ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
4. บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT)
บริษัทผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ธุรกิจนายหน้าประกันภัย และธุรกิจประกันภัย เสนอขายหุ้นกู้ 2 ชุด ดังนี้
-
ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้
-
อายุและอัตราดอกเบี้ย :
-
อายุ 1 ปี รอประกาศอัตราดอกเบี้ย คาดว่า 4.10-4.25% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2567
-
อายุ 3 ปี รอประกาศอัตราดอกเบี้ย คาดว่า 4.75-4.90% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569
-
-
จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน
-
อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ แนวโน้มคงที่
-
ระดับความเสี่ยง : 4 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)
-
การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี
-
ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป และผู้ลงทุนสถาบัน
-
ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
-
วันที่เปิดจอง : 14-16 พฤศจิกายน 2566
-
ช่องทางการขาย : บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์, บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์, บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ, บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี
-
ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
5. บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR)
บริษัทประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อ เช่าซื้อ และนายหน้าประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต และบริการที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เสนอขายหุ้นกู้ 2 ชุด โดยชุดที่ 2 เปิดให้ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถจองซื้อได้ ดังนี้
-
ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้
-
อายุ : 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569
-
อัตราดอกเบี้ย : 3.70% ต่อปี
-
จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 6 เดือน
-
อันดับความน่าเชื่อถือ : A แนวโน้มคงที่
-
ระดับความเสี่ยง : 3 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)
-
การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี
-
ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป
-
ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
-
วันที่เปิดจอง : 24 และ 27-28 พฤศจิกายน 2566
-
ช่องทางการขาย : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร
- ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
6. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF)
เจ้าของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ทั้งการผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปขั้นพื้นฐาน การผลิตอาหารและอาหารพร้อมรับประทาน ตลอดจนกิจการช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหาร เสนอขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 1 ชุด
-
ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท หรือเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิ์ไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด และมีสิทธิ์เลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
-
อายุ : ไม่มีกำหนดระยะเวลา
-
อัตราดอกเบี้ย :
-
ปีที่ 1-5 เท่ากับ 5.50-5.65% ต่อปี (รอประกาศอัตราดอกเบี้ย)
-
ปีที่ 6-25 เท่ากับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 5 ปี + Initial Credit Spread + 0.25% ต่อปี
-
ปีที่ 26-50 เท่ากับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 5 ปี + Initial Credit Spread + 1.00% ต่อปี
-
ปีที่ 51 เป็นต้นไป เท่ากับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 5 ปี + Initial Credit Spread + 2.00% ต่อปี
-
-
จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 6 เดือน
-
อันดับความน่าเชื่อถือ : A- แนวโน้มลบ
-
ระดับความเสี่ยง : 7 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)
-
การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิ์ไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งหมดในวันแรกที่สามารถใช้สิทธิ์ไถ่ถอนหุ้นกู้ (วันครบกำหนด 5 ปี นับจากวันออกหุ้นกู้ หรือวันกำหนดชำระดอกเบี้ยแต่ละครั้งภายหลังจากวันแรกที่สามารถใช้สิทธิ์ไถ่ถอนหุ้นกู้
-
ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป
-
ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
-
วันที่เปิดจอง : คาดว่า 28 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2566
-
ช่องทางการขาย : ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทยเอ็กซ์สปริง, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส
-
ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
7. บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI)
บริษัทพัฒนาและบริการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย เปิดจำหน่ายหุ้นกู้ดิจิทัล 1 ชุด คือ
-
ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ดิจิทัล ระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้
-
อายุ : 2 ปี
-
อัตราดอกเบี้ย : 4.25% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2568
-
จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน
-
อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ แนวโน้มคงที่
-
ระดับความเสี่ยง : 5 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)
-
การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี
-
ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เยาว์ โดยถือสัญชาติไทยเพียงสัญชาติเดียว และต้องมีภูมิลำเนา-ถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
-
ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 1,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 1,000 บาท
-
วันที่เปิดจอง : 28-30 พฤศจิกายน 2566
-
ช่องทางการขาย : จองซื้อผ่านแอปฯ เป๋าตัง ของธนาคารกรุงไทย
- ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
สำหรับใครที่ต้องการทราบรายละเอียดของหุ้นกู้ชุดต่าง ๆ เพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่ เว็บไซต์ ก.ล.ต. หรือที่ เฟซบุ๊ก ThaiBMA
บทความที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้
ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (1) , (2), (3), (4), (5), (6), (7), (8)
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (1), (2), (3), (4), (5), (6), (7), Youtube ThaiBMAChannel