หยุดงาน-กักตัวเพราะโควิด 19 จะได้ค่าจ้างหรือไม่ ตอบข้อสงสัยที่ลูกจ้างอยากรู้ !


          COVID-19 อาจทำให้ใครต้องหยุดงานหรือกักตัวเอง แต่แบบนี้เราจะยังได้เงินเดือนหรือค่าจ้างอยู่ไหม ลองมาไล่เรียงกันเป็นเคส ๆ

          ลูกจ้างต้องทำงานทุกวันถึงจะมีรายได้ แต่ในภาวะที่ COVID-19 (โควิด 19) แพร่ระบาดอย่างหนัก จนใครก็ตามต่างมีความเสี่ยงที่จะติดโรค หากเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือป่วยขึ้นมาก็อาจทำให้ถูกกักตัวหรือต้องหยุดงาน จนเสียรายได้เลี้ยงชีพ เราจึงจะมาแนะนำ Case by Case ให้กับคนที่เป็นลูกจ้างทุกคนได้ดูว่า ตัวเองอยู่ในสถานการณ์แบบไหน เพื่อตรวจเช็กว่าในกรณีนั้นจะได้รับค่าจ้างหรือไม่

1. ต้องกักตัว 14 วันหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ

             ใครเดินทางไปต่างประเทศ ในช่วงที่ COVID-19 กำลังแพร่ระบาด เมื่อกลับมาประเทศไทยและต้องกักตัว 14 วัน ถึงแม้จะไปทำงานไม่ได้เพราะเป็นคำสั่งราชการ แต่นายจ้างก็ไม่ได้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ ลูกจ้างจึงไม่ได้รับค่าจ้างในกรณีนี้แต่อย่างใด โดยหากถูกกักตัว 14 วัน หรือนานกว่านั้น ก็จะไม่มีรายได้ทั้งหมด ยกเว้นว่าบางบริษัทอาจให้ใช้สิทธิ์ลาป่วย ลาพักร้อน ก็จะยังได้รับค่าจ้างในช่วงถูกกักตัว

2. ลูกจ้างมีอาการป่วย ต้องไปพบแพทย์

          เมื่อรู้สึกป่วย คือ มีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ หลังจากไปพื้นที่แพร่ระบาด หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อมา จนต้องไปพบแพทย์ เพื่อตรวจว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ เราสามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยได้ ถ้าต้องการค่าจ้างเต็มจำนวน หรือหากสิทธิ์ลาป่วยหมด ก็ใช้สิทธิ์ลาพักร้อนแทนได้

          สำหรับคนที่กลับมาจากต่างประเทศ แต่ไม่แสดงอาการป่วย หรือบางคนอยู่ที่ไทย แต่ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ ถ้านายจ้างให้ไปตรวจหาโรคแล้วไม่ไป แต่มาทำงานจนทำให้คนอื่น ๆ มีความเสี่ยงที่จะติดโรคตามไปด้วย ถือว่าฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่งของนายจ้างในกรณีร้ายแรง ซึ่งนายจ้างอาจเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ ดังนั้น ถ้านายจ้างให้ไปตรวจหาโรคก็ควรไปตรวจ เพื่อความปลอดภัยในหน้าที่การงานของตนเองและชีวิตของผู้อื่น

COVID-19

3. หยุดอยู่บ้านเฝ้าดูอาการ 14 วัน


          ค่าจ้าง : ใครที่หยุดอยู่บ้านเพื่อกักตัวเฝ้ารอดูอาการ 14 วัน หรือถูกนายจ้างสั่งไม่ให้มาทำงาน เพราะสุ่มเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อ หรือต้องเฝ้าระวังอาการ หากต้องการค่าจ้างเต็มจำนวนอาจตกลงกับนายจ้าง ด้วยการขอทำงานอยู่บ้าน หรือใช้สิทธิ์ลาป่วย หรือสิทธิ์ลาพักร้อน เพราะหากหยุดเฉย ๆ นายจ้างก็จ่ายเงินให้ไม่ได้นะ หรือนายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) หรือให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามหลักสัญญาต่างตอบแทน (No Work No Pay) ก็ได้

          ประกันสังคม : หากลูกจ้างมีสิทธิประกันสังคม ส่งเงินสมทบครบ 6 เดือน ใน 15 เดือน และไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในช่วงนี้ จะถือว่าเป็นกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย สามารถยื่นขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคมได้ และนายจ้างต้องยื่นหนังสือรับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

4. อ้างว่าอยู่บ้านเฝ้าอาการ แต่แอบไปเที่ยว

          กรณีนี้ไม่ได้ค่าจ้างแน่นอน ถึงแม้จะตกลงกับนายจ้างด้วยการใช้สิทธิ์ลาป่วยหรือลาพักร้อน เพราะหากนายจ้างตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ได้ทำตามข้อตกลง มีสิทธิ์ที่จะใช้เรื่องนี้ถือว่าขาดงาน และไม่จ่ายค่าจ้างได้ และ COVID-19 (โควิด 19) ยังเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง การไปข้างนอกจนทำให้คนอื่น ๆ ได้รับความเสี่ยงที่จะติดโรคไปด้วย ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย อาจเสี่ยงติดคุกติดตะรางได้

5. ป่วยเป็น COVID-19 ต้องรักษาตัว

          เมื่อตรวจพบว่าตัวเองเป็น COVID-19 และต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะสามารถใช้สิทธิ์ลาป่วย หรือถ้าสิทธิ์ลาป่วยหมดแล้วก็ให้ใช้สิทธิ์ลาพักร้อนแทน แต่ถ้าเราไม่มีทั้งสิทธิ์ลาป่วยและลาพักร้อนเหลืออีกแล้ว ก็อาจตกลงกับนายจ้างขอหยุดงานโดยรับหรือไม่รับค่าจ้าง ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท

6. นายจ้างสั่งปิดที่ทำงานเพราะเสี่ยงต่อการระบาด 

          หากมีคนต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ หรือติดเชื้อแล้วเข้ามาทำงาน หรือมีลูกค้าที่ติดเชื้อเข้ามาใช้บริการสถานประกอบการนั้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด นายจ้างอาจสั่งให้ปิดชั่วคราวเพื่อควบคุมโรค ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัย นายจ้างมีสิทธิ์ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างได้ หรือแล้วแต่ตกลงกันกับลูกจ้าง เช่น ให้ทำงานที่บ้าน ก็ยังได้รับค่าจ้างอยู่

COVID-19

7. นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว

          นายจ้างที่หยุดกิจการลงชั่วคราว เพราะ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่ต้องหยุดการผลิต เพราะไม่มีวัตถุดิบจากต่างประเทศ หรือธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม บริษัททัวร์ ฯลฯ และเราไม่ต้องไปทำงาน จะไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ลูกจ้างจึงมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย โดยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2551 กำหนดไว้ว่าจะได้รับไม่น้อยกว่า 75%

8. หยุดงานโดยสมัครใจ

          เมื่อเราเลือกหยุดงานโดยสมัครใจ กรณีนี้จะไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave without Pay) เพราะตัวนายจ้างก็คงลำบากถึงต้องให้พนักงานหยุดงานเอง ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะสมัครใจหยุดงานหรือไม่ ซึ่งก็อาจสลับกันไปเป็นบางวัน หรือตามนโยบายของที่ทำงานที่ออกมา อย่างไรก็ตาม หากทางบริษัทบังคับก็ต้องปฏิบัติตาม เพื่อช่วยที่ทำงานให้ผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ด้วย

9. ภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว

          ค่าจ้าง : การที่ภาครัฐและจังหวัดต่าง ๆ สั่งปิดสถานที่เพื่อไม่ให้คนมารวมกลุ่มกันจนเกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา กรณีนี้ถือเป็นการหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย นายจ้างอาจพิจารณาไม่จ่ายค่าจ้างให้ก็ได้ เพราะลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้ ตามหลัก No Work No Pay หรือนายจ้างบางรายอาจจ่ายเงินบางส่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้าง และหากเป็นงานที่สามารถทำจากที่บ้านได้ (Work from Home) นายจ้างก็สามารถจ่ายเงินให้เต็มจำนวนได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัทในการพิจารณาจ่ายเงินด้วย 

          ประกันสังคม : กรณีลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ส่งเงินสมทบครบ 6 เดือน ใน 15 เดือน และไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในช่วงนี้ สามารถยื่นเรื่องรับเงินทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยได้ และนายจ้างต้องยื่นหนังสือรับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

ประกันสังคมเยียวยาโควิดเท่าไร ถ้าหยุดงาน-ตกงานเพราะโควิด 19

          การเยียวยาจะแบ่งเป็น 3 ช่วงของการระบาดคือ

* หยุดงานจากการระบาดในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2563

          - ผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2563 ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

          - กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน 62% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

          - กรณีว่างงานเพราะลาออกจากงานในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 45% ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนที่ว่างงาน

          - กรณีว่างงานเพราะถูกเลิกจ้าง จ่ายประโยชน์ทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 70% ระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน

          สำหรับลูกจ้างประกันสังคม มาตรา 39 หรือ 40 ที่ไม่มีนายจ้าง แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 จะไม่ได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม แต่จะได้รับเงินชดเชยจากกระทรวงการคลัง 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 รวม 15,000 บาท ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน 

* หยุดงานจากการระบาดในช่วงเดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

           จากการระบาดระลอกใหม่ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ไปจนถึงปี 2564 ทางประกันสังคมก็ได้ออกนโยบายจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ว่างงานจากกรณีต่อไปนี้

          - ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค

         - ลูกจ้างไม่ได้ทำงานจากการที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

         โดยในการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ (ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป) ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน จะได้รับเงินเยียวยากรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ แล้วแต่กรณี แต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน ซึ่งสามารถยื่นเรื่องได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้

           1. ผู้ประกันตนกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) (ดาวน์โหลด) พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของตนเอง

           - กรณีกักตัวใช้เอกสารประกอบ คือ ใบรับรองแพทย์ให้กักตัว หรือคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งให้กักตัว

           2. ผู้ประกันตนนำ สปส.2-01/7 และเอกสารอื่น ๆ ส่งให้นายจ้างรวบรวม

           3. นายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบ สปส.2-01/7 และหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว ผ่านระบบ e-service ที่ www.sso.go.th (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนเพื่อใช้ระบบก่อน)

           4. เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บนเว็บไซต์ www.sso.go.th

           5. เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับข้อมูลของนายจ้างถูกต้องครบถ้วน จะทำการอนุมัติจ่าย รอบแรกเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ ส่วนที่เหลือโอนเข้าบัญชีทุกสิ้นเดือนจนครบ


* หยุดงานเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564

          เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐบาลได้สั่งล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับให้สถานที่สุ่มเสี่ยงหยุดกิจการชั่วคราวหรือปิดทำการเร็วขึ้น ซึ่งกระทบต่อนายจ้าง-ลูกจ้าง

          ต่อมาได้ประกาศเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มอีก 16 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง ซึ่งจากคำสั่งล็อกดาวน์ ครม. จึงอนุมัติเงินเยียวยาให้นายจ้างและผู้ประกันตน ม.33, ม.39 และ ม.40 ใน 9 กิจการ โดยจะได้รับเงินดังนี้

ประกันสังคม มาตรา 33 (ในกิจการ 9 หมวด ในพื้นที่สีแดงเข้ม)

          สำหรับพื้นที่ 13 จังหวัด

          - ลูกจ้างที่หยุดงานตามคำสั่งทางการ รับ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) หากมีสัญชาติไทย ได้รับเพิ่ม 2,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รวมได้รับสูงสุด 20,000 บาท
          - ลูกจ้างที่ไม่ได้หยุดงาน และมีสัญชาติไทย รับ 2,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รวมได้รับ 5,000 บาท
          - นายจ้างรับตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 200 คน เป็นเวลา 2 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564

          สำหรับพื้นที่ 16 จังหวัดที่ประกาศเพิ่มเติม

          - ลูกจ้างที่หยุดงานตามคำสั่งทางการ รับ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) หากมีสัญชาติไทย ได้รับเพิ่ม 2,500 บาท เป็นเวลา 1 เดือน คือ เดือนสิงหาคม 2564 รวมได้รับสูงสุด 10,000 บาท
          - ลูกจ้างที่ไม่ได้หยุดงาน และมีสัญชาติไทย รับ 2,500 บาท เป็นเวลา 1 เดือน คือ เดือนสิงหาคม 2564  
          - นายจ้างรับตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในเดือนสิงหาคม 2564

ประกันสังคม มาตรา 39 (ในกิจการ 9 หมวด ในพื้นที่สีแดงเข้ม)

          - สำหรับพื้นที่ 13 จังหวัด : ได้รับ 5,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รวมได้รับสูงสุด 10,000 บาท

          - สำหรับพื้นที่ 16 จังหวัดที่ประกาศเพิ่มเติม : ได้รับ 5,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน คือ เดือนสิงหาคม 2564

ประกันสังคม มาตรา 40 (ในกิจการ 9 หมวด ในพื้นที่สีแดงเข้ม)

          สำหรับพื้นที่ 13 จังหวัด จะได้รับเงินช่วยเหลือ 2 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564

          - ผู้ประกันตน มาตรา 40 ใน 9 กิจการ ได้รับ 5,000 บาท ต่อเดือน
          - กรณีมีอาชีพอิสระ ถ้าขึ้นทะเบียน ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับ 5,000 บาท ต่อเดือน
          - นายจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ถ้าขึ้นทะเบียน ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับ 5,000 บาท ต่อเดือน
          - นายจ้างในระบบถุงเงิน (คนละครึ่ง, เราชนะ) ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ถ้าขึ้นทะเบียน ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับ 5,000 บาท ต่อเดือน

          ส่วนพื้นที่ 16 จังหวัดที่ประกาศเพิ่มเติม จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1 เดือน คือ เดือนสิงหาคม 2564

          ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม และเช็ก 9 กิจการที่ได้รับเงินเยียวยา ได้ที่ วิธีลงทะเบียนรับเงินเยียวยา ม.33 ม.39 ม.40   

ลูกจ้างป่วยโควิดจะได้เงินชดเชยจากประกันสังคมหรือไม่ ?


          ถ้าเราถูกตรวจพบว่าป่วย COVID-19 และแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว หากมีประกันสังคม เราจะยังได้รับค่าจ้าง ดังนี้

          - ค่าจ้างจากนายจ้าง

          กรณีเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 สามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างไม่เกิน 30 วัน/ปี

          - เงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม

          กรณีเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนฯ ให้ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง (คิดจากฐานอัตราเงินเดือนสูงสุดของผู้ประกันตนแต่ละมาตรา) โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับเงินทดแทนฯ ไม่เกิน 365 วัน

ใครมีสิทธิ์รับเงินทดแทนการขาดรายได้ หากป่วยโควิด ?


          ผู้ประกันตน มาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง)

          - มีสิทธิ์ได้เงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือน ย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว
    
          - ต้องลาป่วยและได้รับเงินจากนายจ้างครบ 30 วันก่อน ส่วนที่ลาป่วยเกิน 30 วัน จึงสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนฯ จากประกันสังคมได้
    
          - มีหนังสือรับรองจากนายจ้างว่าได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยครบ 30 วันทำงาน ใน 1 ปีปฏิทิน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว

          - จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน

          ผู้ประกันตน มาตรา 38 (ผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ลาออกจากงาน แต่ยังอยู่ในสิทธิ์คุ้มครอง 6 เดือน)

          - มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือน ย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเจ็บป่วยภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว และต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงถือว่ามีรายได้จากการทำงานก่อนการเจ็บป่วย
    
          - จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน

          ผู้ประกันตน มาตรา 39 (ประกันตนเอง)

          - มีสิทธิ์รับเงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือน ย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว และจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง (วันละ 80 บาท) โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน
 
          - กรณีไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง หรือไม่มีรายได้ จะไม่สามารถเบิกสิทธิ์เงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมได้

          ผู้ประกันตน มาตรา 40 (ประกันตนเอง)

          - หากป่วยต้องใช้สิทธิบัตรทอง เพราะประกันสังคมไม่ครอบคลุม
 
          - แต่จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม กรณีนอนโรงพยาบาลได้รับสูงสุด 300 บาท/วัน กรณีไม่นอนโรงพยาบาล แต่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว จะได้รับ 200 บาท/วัน รวมกันไม่เกิน 30 วัน/ปี (สำหรับผู้ประกันตนทางเลือกที่ 1 และ 2) และไม่เกิน 90 วัน/ปี (สำหรับผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3)

          ผู้ประกันตน มาตรา 41 (ลาออกจากมาตรา 39 แต่ยังอยู่ในสิทธิ์คุ้มครอง 6 เดือน)

          มีสิทธิ์รับเงินทดแทนเมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือน ย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเจ็บป่วยภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว และต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงถือว่ามีรายได้จากการทำงานก่อนการเจ็บป่วย โดยจะได้รับสิทธิ์เหมือนกับผู้ประกันตน มาตรา 39

หยุดงานเพราะ COVID-19
 

          ถึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ต้องหยุดงานเพราะ COVID-19 (โควิด 19) ใครเป็นลูกจ้างควรตรวจสอบว่าตนเองเข้าข่ายเคสไหน เพื่อรักษาสิทธิ์ในการมีรายได้ ตลอดจนเงินชดเชยจากประกันสังคม เพื่อให้ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปได้ด้วยดี

          หากใครอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506 หรือทางเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 4 สิงหาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก
เดลินิวส์, เดลินิวส์, กรุงเทพธุรกิจ, กรุงเทพธุรกิจ, สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3, สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3, เฟซบุ๊ก สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2, เฟซบุ๊ก สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2, สำนักงานประกันสังคม, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, ไทยพีบีเอส, ราชกิจจานุเบกษา, ราชกิจจานุเบกษา, สำนักงานประกันสังคม, PR.Surat สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หยุดงาน-กักตัวเพราะโควิด 19 จะได้ค่าจ้างหรือไม่ ตอบข้อสงสัยที่ลูกจ้างอยากรู้ ! อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2564 เวลา 16:37:52 198,911 อ่าน
TOP
x close