ทำอย่างไรเมื่อเผลอซื้อ LTF และ RMF เกินสิทธิ์

ซื้อกองทุน LTF RMF

          หากเคยซื้อ LTF/RMF ไปแล้ว เมื่อรู้ตัวว่าซื้อเกินสิทธิ์ ไม่ควรขายกองทุนออกไป เพราะจะทำให้ผิดเงื่อนไขในการลงทุนได้

          ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลายคนน่าจะตะลุยลงทุนใน LTF และ RMF กันเต็มสิทธิ์เพื่อประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี แต่บางคนอาจจะซื้อกองทุนเกินสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะคำนวณรายได้สูงกว่าที่ได้รับจริง แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดี จะถือต่อหรือขายส่วนที่เกินออก วันนี้ K-Expert  มีคำตอบมาฝากกัน

ซื้อกองทุน LTF RMF

ซื้อ LTF เกินสิทธิ์
   
          กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มีเงื่อนไขในการลงทุนคือ ลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท และจะต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน ซึ่งการซื้อ LTF แบบเกินสิทธิ์แบ่งออกได้ 2 กรณี คือ สำหรับคนที่เพิ่งซื้อ LTF เป็นปีแรก และคนที่เคยซื้อ LTF ในปีก่อน ๆ มาแล้ว

          สำหรับคนที่ซื้อปีแรก หากลงทุนไปเกินสิทธิ์ สามารถถือ LTF ทั้งก้อน แล้วขายพร้อมกันเมื่อครบ 7 ปีปฏิทิน เช่น ลงทุนปี พ.ศ. 2559 จะสามารถขายคืนได้ในปี พ.ศ. 2565 โดยกำไรที่เกิดขึ้นจากส่วนที่ซื้อเกินสิทธิ์นั้นจะต้องนำมาแสดงเป็นรายได้ 40(8) เพื่อเสียภาษีในปีที่ขายออกไป แต่ถ้าไม่อยากถือส่วนที่เกินสิทธิ์ แนะนำให้ขายในปีก่อนใช้สิทธิลดหย่อนภาษี และนำยอดเงินลงทุนและกำไร (ถ้ามี) มาแสดงเป็นเงินได้ 40(8) ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ด้วย เพราะถ้าขายหลังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจะถูกมองว่าเป็นการขาย LTF ในส่วนที่ใช้ลดหย่อนภาษี ทำให้ผิดเงื่อนไขการลงทุน และจะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับจากการลดหย่อนภาษีให้กับกรมสรรพากร

          ส่วนคนที่เคยใช้สิทธิลดหย่อนด้วย LTF มาแล้ว และมีการซื้อเกินสิทธิ์ แนะนำให้ถือจนครบ 7 ปีปฏิทิน เพราะถ้าขาย LTF ส่วนที่เกินสิทธิ์ออกมา จะถือว่าผิดเงื่อนไขทันที เนื่องจากกรมสรรพากรกำหนดเกณฑ์ในการขาย LTF เป็นแบบเข้าก่อนออกก่อน (First in, First out: FIFO) ดังนั้น แม้ว่าตั้งใจจะขาย LTF เฉพาะส่วนที่ซื้อเกินสิทธิ์ของปีนี้ แต่กรมสรรพากรจะพิจารณาว่าเป็นการขาย LTF ส่วนที่ลงทุนในช่วงแรก ที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปแล้ว

โดยสิ่งที่ต้องทำเมื่อขาย LTF แบบผิดเงื่อนไข ได้แก่

          1) คืนเงินภาษีที่ได้รับจากการลดหย่อนภาษีของ LTF ส่วนที่ขายออกไป
          2) จ่ายเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน นับจากวันที่ 1 เมษายน ของปีที่ยื่นภาษี
          3) นำกำไรจากการขาย LTF มารวมคำนวณเป็นเงินได้ 40(8) ในปีที่ขายคืน

          จะเห็นว่า การขาย LTF แบบผิดเงื่อนไขมีแต่เสียกับเสีย ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ แนะนำให้ถือจนครบกำหนดเวลาตามเงื่อนไขจะดีกว่า

ซื้อ RMF เกินสิทธิ์

          ในส่วนของการลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีเงื่อนไขในการลงทุนคือ ลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี โดยเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และค่าเบี้ยประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท และขั้นต่ำในการลงทุนคือ 3% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะน้อยกว่า นอกจากนี้ เมื่อลงทุน RMF ไปแล้วจะต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้อย่างมาก 1 ปี) ไปจนถึงอายุ 55 ปี อีกทั้งต้องถือ RMF มาไม่น้อยกว่า 5 ปีตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก จึงจะขายกองทุนออกไปได้ โดยนับเฉพาะปีที่มีการลงทุน
 
          คำแนะนำสำหรับการซื้อ RMF เกินสิทธิ์ คือ ควรถือจนครบตามเงื่อนไข แม้ว่าจะซื้อเกินสิทธิ์ก็ตาม เนื่องจากกรมสรรพากรจะมองว่าการขาย RMF ก่อนครบกำหนดนั้น เป็นการขาย RMF ในส่วนที่ใช้สิทธิลดหย่อนไปแล้ว ซึ่งถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน แต่ถ้าต้องการขายจริง ๆ จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ลงทุนยังไม่ถึง 5 ปี และกรณีที่ลงทุนมาแล้ว 5 ปีขึ้นไป

          • กรณีที่ลงทุนยังไม่ถึง 5 ปี จะต้องคืนเงินภาษีทั้งหมดที่เคยได้ลดหย่อนไป และนำกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน มารวมเป็นเงินได้มาตรา 40(8) เพื่อเสียภาษี

          • กรณีที่ลงทุนมาแล้ว 5 ปีขึ้นไป จะต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้ลดหย่อนไป 5 ปีย้อนหลัง แต่กำไรที่ได้จากการขายคืน ไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี

          จะเห็นได้ว่า การขาย RMF แบบผิดเงื่อนไขนั้น ก็มีแต่เสียกับเสียเช่นเดียวกับ LTF ดังนั้น ทางที่ดีจึงควรถือครอง RMF ที่ซื้อเกินสิทธิ์ไปจนครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์ให้ถูกต้องตามเงื่อนไข แล้วค่อยขายจะดีที่สุด ถือซะว่าเป็นการเพิ่มเงินออมสำหรับเกษียณ

ltf

rmf


          เพื่อป้องกันไม่ให้ซื้อ LTF/RMF เกินสิทธิ์ แนะนำให้คำนวณตั้งแต่ต้นปีไว้เลยว่า ปีนี้จะลงทุนในกองทุนแต่ละประเภทได้สูงสุดเท่าไร หากใครได้โบนัสในช่วงปลายปี ยังไม่ต้องนำโบนัสมาคำนวณก็ได้ เนื่องจากอาจจะทำให้การคำนวณคลาดเคลื่อน วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ลงทุนเกินสิทธิ์ ส่วนใครที่อยากลดหย่อนภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ช่วงเดือนธันวาคมสามารถนำเงินเดือน โบนัส และรายได้อื่น ๆ มาคิดคำนวณรวมกันอีกครั้ง เพื่อให้ทราบยอดเงินสูงสุดที่เราสามารถลงทุนใน LTF/RMF ได้

K-Expert Action

          • คำนวณสิทธิ์การซื้อ LTF/RMF ตั้งแต่ต้นปี และวางแผนทยอยลงทุน LTF/RMF ทุกเดือน เพื่อกระจายความเสี่ยงและป้องกันการซื้อเกินสิทธิ์ 

          • เมื่อซื้อ LTF/RMF เกินสิทธิ์ และได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปแล้ว ควรถือจนครบกำหนดเงื่อนไขแล้วค่อยขายคืน 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำอย่างไรเมื่อเผลอซื้อ LTF และ RMF เกินสิทธิ์ อัปเดตล่าสุด 10 มกราคม 2560 เวลา 17:55:22 24,475 อ่าน
TOP
x close