ผู้ค้าปลีกหวั่นขึ้นภาษีบุหรี่ ดันราคาบุหรี่ 2559 พุ่งสูง กระตุ้นให้คนสูบยาเส้นมากขึ้น เปิดช่องว่างให้เกิดบุหรี่เถื่อน กระทบกลุ่มผู้ค้าปลีกที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมาย
วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2559) นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ยังไม่พบสัญญาณการกักตุนบุหรี่หลังการปรับขึ้นภาษียาสูบ โดยวัดจากข้อมูลการสั่งซื้อแสตมป์ยาสูบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีความปกติดี อย่างไรก็ดี ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบตามชายแดนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันบุหรี่เถื่อนหนีภาษีเข้ามาขายในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดผู้สูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น จนต้องใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาดูแล
ส่วนราคาบุหรี่ขายปลีกนั้น ให้ขึ้นอยู่กับการตลาดของแต่ละบริษัทที่จะพิจารณาปรับขึ้น ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะพิจารณาว่าบุหรี่ในแต่ละประเภทปรับราคาขึ้นเหมาะสมหรือไม่ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะทำให้บุหรี่ที่ขายปลีกปรับตัวขึ้น ซองละ 5-10 บาท ส่วนร้านค้าที่มีการสต็อกสินค้าไว้ล่วงหน้า ก็สามารถจำหน่ายราคาใหม่ได้ทันที เพราะได้ผ่านการชำระภาษีสรรพสามิตบุหรี่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต พบว่าราคาขายปลีกบุหรี่ต่างประเทศ ที่ราคาจำหน่ายเฉลี่ยที่ 95 บาทต่อซอง จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 20 บาท เป็น 115 บาทต่อซอง ขณะที่บุหรี่ต่างประเทศ ที่ราคาจำหน่ายปัจจุบันเฉลี่ยที่ 66 บาทต่อซอง จะเพิ่มขึ้นอีก 15 บาทต่อซอง เป็นเฉลี่ย 80 บาทต่อซอง ส่วนบุหรี่ในประเทศ ยี่ห้อดัง ราคาเฉลี่ยที่ 67 บาทต่อซอง จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 15 บาทต่อซอง เฉลี่ย 80 บาทต่อซอง ส่วนบุหรี่ในประเทศที่ราคาต่ำสุดเฉลี่ย 35 บาทต่อซอง ราคาจะปรับขึ้น 1.50 บาทต่อซอง
ด้าน นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย ซึ่งเป็นตัวแทนสมาชิกร้านค้าปลีกโชห่วยที่ขายบุหรี่ทั่วประเทศ 1,300 ราย กล่าวว่า การขึ้นภาษีในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นที่รุนแรงมาก เพราะการขึ้นภาษีจาก 87% เป็น 90% ทำให้อัตราภาษีที่จะจัดเก็บจริง เพิ่มจาก 669% เป็น 900% ถือว่าเพิ่มภาษีสรรพสามิตในครั้งเดียวถึง 35% ซึ่งเมื่อรวมกับภาษีตัวอื่น ๆ ที่ใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นฐาน อาทิ ภาษีกองทุนที่ส่งบำรุง สสส.-ไทยพีบีเอส และกองทุนพัฒนากีฬา รวมไปถึง VAT ก็จะทำให้ผลการปรับภาษีขึ้นในครั้งนี้มีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังแถลงข่าวผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม-พฤศจิกายน) ปรากฏว่าภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการอยู่ 1,129 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.9) เนื่องจากผู้บริโภคได้เปลี่ยนมาบริโภคยาสูบราคาถูกเพิ่มมากขึ้น การปรับภาษีสูงแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่สมาคมเป็นห่วง เพราะจะเป็นการผลักให้ผู้บริโภค หันไปหาซื้อสินค้าราคาถูกทดแทน เปิดช่องให้บุหรี่ผิดกฎหมายขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ทั้งของเถื่อน ของลักลอบและของปลอม ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาในตลาดมาก ขณะที่ร้านค้าปลีกซึ่งขายของแบบถูกกฎหมาย ขายของได้ลดลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ก็จะถูกซ้ำเติมจากการขายแข่งกับบุหรี่ผิดกฎหมายในตลาดมืด และสมาคมมองว่าในระยะยาวภาครัฐเองก็จะสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีตรงนี้ไปอย่างมาก ไม่แน่ใจว่าจะคุ้มหรือไม่จากการตัดสินใจขึ้นภาษีในครั้งนี้
นางวราภรณ์ ชี้ว่า การขึ้นภาษีที่สูงเกินไปจะทำให้ช่องว่างของราคาสินค้าที่ถูกกฎหมายกับผิดกฎหมายห่างกันมากขึ้น อีกทั้งยังคงมีช่องว่างระหว่างการเก็บภาษีบุหรี่โรงงาน (แบบมวนสำเร็จ) กับภาษียาเส้นที่มีอัตราการเก็บที่น้อยมาก ซึ่งกว่าร้อยละ 50 ของผู้สูบบุหรี่ไทยเป็นกลุ่มยาเส้น จุดนี้ทางหน่วยงานภาครัฐก็คงต้องออกมาดูในระยะยาวว่าจะจัดการกับปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาอย่างไรให้ได้ตรงจุดมากที่สุด แต่ที่แน่ ๆ ธุรกิจขนาดเล็กอย่างร้านค้าปลีกรายย่อยคงได้รับผลกระทบอย่างทันทีหลังจากการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้