x close

เจ้าสัวธนินทร์ นั่งไม่ติดงัดกลยุทธ์สู้กลุ่มต้านสินค้าในโลกโซเชียล


 เจ้าสัวธนินทร์ นั่งไม่ติดงัดกลยุทธ์สู้กลุ่มต้านสินค้าในโลกโซเชียล

             กระแสบอยคอตสินค้าร้าน 7-11 ปะทุว่อนโซเชียล ซีพีรุกแจงยิบ ยันผู้ประกอบการรายย่อยกว่าครึ่งเป็นของคนไทย ชี้ยังยึดระบบแข่งขันแบบเสรี ขณะที่นักวิชาการหวั่นซีพีครองตลาดค้าปลีก-ส่ง ทำกลไกตลาดพัง หลังซื้อแม็คโคร-เทสโก้ โลตัส

             วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีที่กลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์ก ได้มีการนัดรวมตัวกันงดซื้อ (บอยคอต) ของในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่อยู่ในเครือซีพีในช่วงวันที่ 7-11 พฤษภาคม เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่าได้มีการลอกเลียนแบบสินค้าของคู่แข่ง ล่าสุดที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก คือการลอกเลียนแบบขนมโตเกียวบานาน่าไทยที่เคยวางแผนจะสั่งซื้อแต่กลับบอกเลิกและหันมาผลิตและจำหน่ายเอง รวมไปถึงสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ที่ถูกลอกเลียนแบบจนทำให้เจ้าของต่างได้รับความเสียหายทางธุรกิจ

             นอกจากกรณีดังกล่าวแล้วยังมีอีกหลายประเด็นที่ทำให้ธุรกิจของกลุ่มเครือซีพี โดยเฉพาะร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งมีสาขามากที่สุดในประเทศไทย ตกเป็นเป้าโจมตี ทั้งเรื่องที่มีนักวิชาการชื่อดังเขียนในบทความจนเกิดเป็นกรณีที่ถูกเรียกว่า "Copy & Paste" สินค้าแบรนด์อื่น ๆ นำมาวางขาย แต่เรื่องที่ตกเป็นเป้าโจมตีอย่างไม่ลดละคือการลอกเลียนแบบขนม "โตเกียวบานาน่าไทย" ที่เจ้าของจริงออกมาแฉ ถึงแม้ว่าบริษัทซีพี จะออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าวไปแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถคลายความข้องใจให้กับสังคมได้เลยแม้แต่น้อย

             รายงานระบุด้วยว่า เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้แก้ไขปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาด ด้วยการกำหนดโควตาการนำเข้าได้ไข่พ่อแม่พันธุ์ โดยให้คณะกรรมการพัฒนานโยบายไข่ไก่ (เอ้กบอร์ด) บริหารจัดการทั้งระบบ โดยมีกรมปศุสัตว์มีหน้าที่ในการควบคุมปริมาณ ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าเลี้ยงในฟาร์ม ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะกลับเข้าสู่การผูกขาดในอุตสาหกรรมไข่ไก่ให้กับนายทุนยักษ์ใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากบริษัทที่เรียกร้องเงินชดเชยการจำกัดการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ไข่ไก่ล้วนตั้งอยู่ในตึกซีพีทั้งสิ้น

             ขณะที่ นางสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกมาระบุถึงกรณีข้างต้นว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ครองตลาดเกินครึ่งในกิจการเมล็ดพันธุ์ข้าว ธุรกิจอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ อาหารแปรรูป และผักมีอิทธิพลเหนือตลาดที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอาหารในร้านสะดวกซื้อ บริษัทอื่น ๆ ในกิจการอาหารสัตว์ การผลิตเนื้อไก่ และห้างค้าส่งขนาดใหญ่ หากปราศจากกติกาควบคุมกลุ่มทุนโดยสังคมการผูกขาดเช่นนี้จะนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อย่างสำคัญ

             นอกจากนี้ยังมีบทความที่อ้างว่าเป็นของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ระบุว่า ระบบการค้าที่ไร้จริยธรรมหวังเพียงผลกำไรนั้นจะทำลายสังคมจนหมดไม่ต่างจากฝูงตั๊กแตนที่ลงกินไร่จนหมดแล้วบินไปกินที่อื่นต่อ เช่นเดียวกับบริษัทซีพี ทุกวันนี้ผู้ค้ารายย่อยในสังคมไทยก็ต้องปิดตัวเองลงทั้งหมดเมื่อมีร้านสะดวกซื้อของซีพีไปตั้ง และอุตสาหกรรมพื้นฐานหลายอย่างที่ส่งสินค้าไปขายก็โดนแย่งตลาด โดยมีของที่ห้างโลตัสและซีพี ผลิตตราตัวเองออกมาตั้งวางขายบนหิ้งเดียวกันแต่ราคาถูกกว่า แล้วนำสินค้ายี่ห้ออื่นไปไว้หลังร้านแทน อีกทั้งซีพีกำลังจะฮุบเทสโก้โลตัส ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ซื้อ แม็คโครไว้แล้ว นั้นจะทำให้การค้าส่งและค้าปลีกเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศ จะทำให้กลไกราคาตลาดเสียหาย จะตั้งราคาบวกกำไรเท่าไรก็ย่อมได้

             สิ่งที่น่าสนใจคือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2542 ที่เป็นกฎหมายป้องกันการผูกขาด กลับไม่เคยมีธุรกิจใดถูกดำเนินคดี แต่ภายหลังบทความออกมา ดร.อาทิตย์ ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เขียนบทความดังกล่าว

             หลังจากที่ตกเป็นเป้าโจมตีในหลายเรื่อง ทางซีพีได้ออกมาอธิบายข้อสงสัยต่าง ๆ โดยระบุว่า "ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น" กว่าครึ่งเป็นของผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นของคนไทยทุกภูมิภาค พร้อมยืนยันว่า "ซีพี" เป็นผู้ประกอบการไทยที่ให้ความเคารพกฎหมาย กฎระเบียบของสังคม ไม่ได้มีอิทธิพลทางการเมือง

             ส่วนกรณีเทสโก้โลตัส และแม็คโครโดน "ซีพี" ซื้อแล้วจะทำให้เกือบทั้งประเทศตกอยู่ในกำมือนั้น "ซีพี" แจงว่า ซีพีเป็นผู้ริเริ่มนำเทสโก้โลตัสและแม็คโครเข้ามาในไทย แต่ต้องขายกิจการทั้งสองในช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งซีพีเพิ่งซื้อแม็คโครกลับมา ที่มีตลาดสำคัญอย่างร้านค้าย่อย ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรม ซีพีไม่ได้คุมกิจการอย่างที่เข้าใจ

             สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่า ซีพีแข่งขันแบบเป็นธรรมกับใครไม่เป็นนั้น ก็ยืนยันว่า เราเชื่อมั่นในระบบการแข่งขันแบบเสรี และไม่เชื่อว่าการทำธุรกิจแบบผูกขาดจะส่งผลดี ซึ่งซีพีเชื่อมาตลอดว่าเราไม่ได้เก่งคนเดียว จึงอยากเห็นผู้ประกอบการไทยพัฒนาขีดความสามารถโดยตลอดเพื่อพร้อมกับการแข่งขันอยู่เสมอ

             ล่าสุดมีรายข่าวแจ้งว่า "เจ้าสัวธนินท์" ธนินท์ เจียรวนนท์ ซีอีโอของเครือซีพี ถึงกับนั่งไม่ติด สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องหลังกระแสต้านดังกล่าวแล้ว ส่วนจะแก้ไขได้หรือไม่ต้องจับตาดู


ภาพจาก สำนักข่าวอิศรา
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจ้าสัวธนินทร์ นั่งไม่ติดงัดกลยุทธ์สู้กลุ่มต้านสินค้าในโลกโซเชียล อัปเดตล่าสุด 11 พฤษภาคม 2558 เวลา 10:33:29 6,637 อ่าน
TOP