ทริคให้ทิปแบบมืออาชีพ จ่ายได้ไม่ขายหน้า

ทริคให้ทิปแบบมืออาชีพ

ทริคให้ทิปแบบมืออาชีพ (Lisa)

          เรื่องของการให้ทิปดูเหมือนจะเป็นเรื่องจิ๊บ ๆ แต่บางสถานการณ์กลับเป็นเรื่องใหญ่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าเราไม่รู้จักเคล็ดลับและมารยาทของการให้ทิป

          การให้ทิปในหลาย ๆ ประเทศกลายเป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติ แต่สำหรับเมืองไทย ทิปยังขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อการบริการเป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจและมารยาททางสังคมอันดี แต่ก่อนจะให้ทิปยังมีสิ่งที่เราควรรู้ต่อไปนี้

          ทิปกับเซอร์วิสชาร์จ ความต่างของสองคำนี้อยู่ที่ทิปคือ สินน้ำใจที่เราให้เพื่อตอบแทนการบริการที่ดี ส่วนเซอร์วิสชาร์จคือ ค่าใช้จ่ายจากการที่ทางร้านต้องตระเตรียมบริการต่าง ๆ ไว้ให้กับลูกค้า นั่นหมายถึงได้รวมการทำงานของพนักงานเสิร์ฟไว้ด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นร้านอหาร โรงแรม ร้านตัดผม สปา ฯลฯ มักบวกค่าเซอร์วิสชาร์จไว้ในบิลกันแทบทั้งนั้น บางแห่งเขียนบอกเอาไว้ในเมนูบริการด้วยเสร็จสรรพ ดังนั้นการจะให้ทิปหรือสินน้ำใจเพิ่มหรือไม่นั้น ระลึกไว้เลยว่าอำนาจตัดสินใจยังอยู่ในมือเรา


          ทิปรวมกับทิปแยก โดยทั่วไปเงินเดือนของพนักงานบริการไม่ได้สูงมากนัก บางคนอยู่รอดได้ เพราะค่าทิปด้วยซ้ำ ในขณะที่ยังมีตำแหน่งอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากหน้าร้าน เช่น คนล้างจาน พ่อครัว แม่ครัว เด็กเตรียมของ เด็กทำความสะอาดในร้านทำผมหรือสปา คนหลังร้านพวกนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับทิปเหมือนกัน เหตุนี้ร้านหลายแห่งจึงใช้ระบบทิปรวม เพื่อตอบแทนพนักงานตำแหน่งอื่น ๆ ซึ่งทำงานดีพอกัน แต่ถ้าเราชื่นชมพนักงานที่คอยดูแลเราเป็นพิเศษ ควร “เพิ่ม” ทิปแยกต่างหากแล้วแอบให้เนียน ๆ ก็ไม่ว่ากัน

          ราคามาตรฐานของทิป สำหรับทิปรวมโดยทั่วไปคือ 20% สำหรับค่าบริการที่ยอดเยี่ยม 15% สำหรับการบริการที่ดี และ 10% สำหรับการบริการทั่วไปที่ไม่ถึงขั้นเลวร้าย แล้วอาจเพิ่มทิปแยกอีก 5-10% ให้พนักงานที่คอยดูแลเราเป็นพิเศษก็ได้

          Self-Service เดี๋ยวนี้มีร้านอาหารบางแห่งที่เขียนป้ายไว้ว่า “Self-Service” หมายถึงเราต้องบริการตัวเอง เริ่มตั้งแต่เขียนบิลสั่งอาหาร รอรับอาหาร หาเครื่องดื่มเอง หรือบางแห่งเราต้องเก็บจานชามที่กินเสร็จแล้วด้วยตัวเอง ฉะนั้นเราจึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้ทิปอีก

เทคนิคการให้ทิป

          ประเมินการบริการ ก่อนอื่นต้องแยกระหว่างการบริการกับองค์ประกอบอื่น เช่น ในร้านอาหารต้องแยกระหว่างรสชาติ ราคา และบรรยากาศ หากไม่แฮปปี้กับสามสิ่งนี้ ซึ่งเป็นปัญหาของร้าน ควรแจ้งให้ผู้จัดการร้านทราบ หรือคราวหลังไม่ต้องไปอุดหนุนร้านนั้น ๆ อีก ในร้านทำผมหรือสปาก็เช่นกัน

ส่วนการบริการต้องพิจารณาจาก...

          พนักงานบริการมีความสุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส

          รู้จักเอาใจใส่ต่อความต้องการของเรา เช่น ขยันเติมน้ำให้ หรือคอยสอบถามถึงความต้องการในระหว่างที่เราทำสปาหรือต้องนั่งรอทำผมนาน ๆ

          สั่งปุ๊บได้ปั๊บ สั่งอะไรได้อย่างนั้น เช่น สั่งเช็กบิลไวทันใจ อาหารที่เสิร์ฟตรงกับออเดอร์ไหม อาหารยังร้อน ๆ มาจากครัวหรือเปล่า ถ้าไม่ก็ต้องดูว่าเป็นเพราะความล่าช้าของบริกรหรือคนทำครัว

          เป็นบริกรมือใหม่หรือมืออาชีพ เพราะงานบริการต้องใช้ทักษะและการฝึกฝน บางทีเราต้องให้โอกาสบริกรมือใหม่บ้าง

          จ่ายด้วยเงินสดถ้าทำได้ หากเราชำระเงินด้วยบัตรเครดิต นอกจากคิดค่าเซอร์วิสชาร์จแล้ว บางแห่งยังมีช่องให้เราเขียนค่าทิปเพิ่ม การให้ทิปผ่านบัตรเครดิต พนักงานอาจต้องรอนานกว่าเงินจะเข้ากระเป๋า ดังนั้นถ้าตั้งใจจะตอบแทนการบริการที่ดีเยี่ยมจริง ๆ จ่ายทุกอย่างเป็นเงินสดรวมทั้งค่าทิปด้วย จะช่วยให้เขากลับบ้านพร้อมเงินทิปที่ได้เร็วขึ้น หรือจะจ่ายทุกอย่างผ่านบัตรเครดิตยกเว้นค่าทิป แต่ต้องเช็กในเสร็จให้ดี ๆ ว่าทางร้านมีการคีย์ค่าทิปเพิ่มโดยพลการรึเปล่า

          Take Home ถึงจะเป็นร้านอาหารประเภทซื้อกลับบ้านได้ แต่เชื่อเถอะว่าพนักงานยังคงคาดหวังทิปเล็ก ๆ น้อย ๆ จากเรา อย่างน้อย ๆ 10% ถ้าเค้ากระตือรือร้นให้บริการ ดูแลอาหารที่เราสั่งให้ช้อนส้อมและกระดาษทิชชูมาครบ จัดใส่ถุงให้อย่างเนี้ยบ แล้วยังรู้จักถามไถ่ว่าจะรับอะไรเพิ่มมั้ย กินให้อร่อยนะคะ/ครับ แถมส่งท้ายด้วยรอยยิ้มอีกต่างหาก แบบนี้ก็สมควรที่จะให้ทิปแล้วล่ะ

          Taxi Tip คนส่วนใหญ่มักจะให้ทิปแท็กซี่ด้วยการยกเงินทอนให้ อย่างน้อย 10-20 บาท สำหรับแท็กซี่ที่พูดจาสุภาพ ให้คำแนะนำในการเดินทางที่ดีแก่ลูกค้า และส่งเราถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ถ้าเงินจำนวนนี้ไม่เกินกำลังของเราก็ให้ไปเถอะค่ะจะได้เป็นกำลังใจให้แก่คนขับแท็กซี่ดี ๆ แต่กรณีถ้าเจอแท็กซี่แย่ ๆ แบบนี้ก็ไม่สมควรให้ทิปแม้แต่บาทเดียว


 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.15 No.13 2 กรกฎาคม 2557




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทริคให้ทิปแบบมืออาชีพ จ่ายได้ไม่ขายหน้า อัปเดตล่าสุด 17 กรกฎาคม 2557 เวลา 16:32:20 16,593 อ่าน
TOP
x close