วิธีออมเงิน ประหยัดรายจ่าย หากใครยังไม่มีเคล็ดลับการออมเงินหรือยังไม่รู้วิธีปลดหนี้อย่างทันใจ บอกได้คำเดียวว่าต้องอ่าน !
แม้ว่าหลายคนจะเคยเห็นเคล็ดลับการออมเงินมามากมาย แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด และเหลือเงินออมเก็บเลยสักเดือน แถมยังมีหนี้ติดตัวอีกต่างหาก เอ้า ! แต่ถ้าอยากเปลี่ยนนิสัยการใช้เงินมาเป็นคนออมเงินเก่งมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการปลดหนี้ให้เหลือศูนย์ ลองทำตามเคล็ดลับประหยัดรายจ่ายเหล่านี้ดูสิคะ
1. เคลียร์หนี้บัตรเครดิตให้หมดก่อน
ถ้าคุณเผลอใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตจนมียอดค้างชำระจำนวนหนึ่ง ก่อนจะเริ่มเก็บเงินอย่างจริงจังก็ควรชำระหนี้บัตรเครดิตเป็นอันดับแรก เพราะเราก็รู้ดีอยู่แล้วว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้นสูงมากขนาดไหน ฉะนั้นถ้าไม่อยากให้ยอดหนี้เพิ่มพูนจนเกินกำลังจ่ายของตัวเองมากไปกว่านี้ ก็ควรเคลียร์หนี้บัตรเครดิตให้หมดซะ
2. ใช้รถสาธารณะบ้างก็ได้
สำหรับคนมีรถเป็นของตัวเอง เคยลองคำนวณกันบ้างไหมคะว่า ในแต่ละเดือนคุณหมดกับค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส ค่าจอดรถ ค่าทางด่วน และค่าซ่อมบำรุงไปเท่าไร ซึ่งถ้าคิดอย่างจริงจังก็จะรู้เลยว่าเป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยทีเดียวกับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ดังนั้นอาจจะดีกว่าก็ได้หากเราจะลองมาใช้บริการรถสาธารณะ หรือติดรถคนรู้จักไปบ้าง แค่นี้ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้เป็นหลักร้อยหลักพันเชียวล่ะ
3. แอบส่องมาตรวัดน้ำและมาตรไฟฟ้าทุกวัน
อาจจะดูเป็นวิธีแปลก ๆ พิกลแต่ขอบอกเลยว่าถ้าเราหมั่นเช็กมาตรวัดน้ำและมาตรไฟฟ้าเป็นประจำ จะช่วยให้เราตระหนักได้ถึงพฤติกรรมการใช้พลังงานของคนในบ้านได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้รู้จักใช้น้ำและไฟอย่างประหยัดโดยอัตโนมัติ หรือบางทีอาจจะเจอเลขมิเตอร์ที่ผิดเพี้ยนไปจากบิลบ้างก็ได้
4. ลดระดับแพคเกจมือถือ
สมาร์ทโฟนที่มาพร้อมแพคเกจโทรศัพท์รูปแบบต่าง ๆ ให้ได้เลือกใช้ กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้ของทุกคนไปแล้ว แต่ในเมื่อแพคเกจโทรศัพท์ก็มีทางเลือกให้เราหลายโปรโมชั่น เราก็ควรพิจารณาให้ดีว่าไลฟ์สไตล์ของเราเหมาะสมกับแบบไหน และหากว่าที่บ้านของคุณก็ติดอินเทอร์เน็ตและปล่อยสัญญาณไวไฟอยู่แล้ว แบบนี้แนะนำให้เลือกใช้แพคเกจโทรศัพท์มือถือเบา ๆ เอาแค่ขีดจำกัด 3G ไม่กี่เมกกะบิตต์ก็พอ
วิธีคลาสสิกอย่างการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายในแต่ละวันไว้เป็นหลักฐานให้ดูยังคงใช้ได้มาจนถึงทุกวันนี้ แถมยังได้ผลดีด้วยล่ะค่ะ เพราะหากคุณจดรายรับ-รายจ่ายของตัวเองทุกวัน ก็เหมือนคุณได้ทบทวนพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองไปด้วยในตัว คราวนี้ก็จะเห็นแล้วล่ะว่าเผลอฟุ่มเฟือยกับอะไรไปบ้าง
6. ลิสต์รายการช้อปปิ้งในแต่ละเดือน
ในกรณีที่คุณต้องการควบคุมตัวเองให้ช้อปปิ้งอย่างประหยัด ลองลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ก่อนไปช้อปปิ้งคร่าว ๆ ก่อนสิคะ แล้วอ่านทวนซ้ำอีกรอบว่าของที่เราอยากได้นั้นมีความจำเป็นกับเรามากน้อยแค่ไหน จากนั้นจึงค่อย ๆ ตัดรายการของใช้ฟุ่มเฟือยออกไป แต่ทั้งนี้ควรซื้อสัตย์กับตัวเองหน่อยนะ พวกข้ออ้างต่าง ๆ ที่ชอบใช้ตอนอยากช้อปก็ขอให้ลืม ๆ ไปซะให้หมด
7. ซื้อของในตลาด
จำได้ไหมเอ่ยว่าคุณเดินตลาดครั้งสุดท้ายเมื่อไร เพราะยุคสมัยนี้ผู้คนก็มักจะจับจ่ายของใช้ในห้างเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่จริงแล้วสินค้าในตลาดบางอย่างถูกกว่าราคาในห้างตั้งเยอะเชียวนะคะ ถ้าอย่างนั้นลองเดินสำรวจราคาของในตลาดกันบ้าง
8. ของมีชื่อก็ไม่ได้ดีเสมอไป
สินค้าชื่อดังหลายแบรนด์อาจไม่ได้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากไปกว่าสินค้ายี่ห้อไก่กาที่มีขายอยู่ทั่วไปในราคาต่ำกว่าก็ได้ โดยเฉพาะคนที่ติดใช้แบรนด์เมืองนอก รู้ไหมคะว่าราคาสินค้าที่คุณต้องควักจ่ายไป บวกภาษีมูลค่าเพิ่มเกิน 7% ฉะนั้นลองเปิดใจเลือกใช้สินค้ายี่ห้อทั่ว ๆ ไปดูสิคะ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะมือดีได้ของมีคุณภาพในราคาน่าคบหาดูบ้างก็ได้
9. เปิดท้ายขายของเก่า
เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์เก่า ๆ หรือแม้แต่หนังสือที่คุณอ่านจนเบื่อแล้วสามารถนำไปเลหลังขายเป็นของมือสองได้ด้วยนะคะ ยิ่งเดี๋ยวนี้ช่องทางตลาดมีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งแบบขายผ่านโซเซียลเน็ตเวิร์ก แบกะดินขายตามตลาดนัด และฝากขายตามเว็บไซต์ที่ให้บริการซื้อ-ขายของมือสอง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้เราแบบง่าย ๆ แล้ว ยังช่วยเคลียร์ข้าวของที่รกอยู่ในบ้านออกไปด้วย
ของทำมือทุกชนิดมักจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง เนื่องมาจากไม่ได้ขายแค่งานประดิษฐ์อย่างเดียว แต่ขายไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ไปด้วยกัน ซึ่งหากคุณเองก็มักจะ D.I.Y. ของใช้เองอยู่แล้ว ลองทำเผื่อขายหารายได้พิเศษเข้ากระเป๋าตัวเองก็น่าจะเวิร์กไม่เบา
11. ขายความสามารถพิเศษ
ใครที่ใช้ของได้คุ้มจนไม่มีของเหลือใช้เอาไว้ขายก็ไม่ต้องน้อยใจไปค่ะ เพราะหากคุณมีความสามารถด้านอื่น เช่น มีทักษะด้านงานศิลปะ ดนตรี คอมพิวเตอร์ หรือมีทักษะด้านงานเขียนและการใช้ภาษา คุณสามารถดึงข้อได้เปรียบเหล่านี้มาสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ตัวเองได้เช่นกัน อย่างวาดรูปการ์ตูนเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ วาดภาพประกอบ เล่นดนตรีเปิดหมวกหรือที่ร้านอาหาร ไม่ก็รับจ้างแปลบทความส่งสำนักพิมพ์ เป็นต้น
12. เปิดบัญชีเงินฝากประจำ
ในเมื่อรู้ตัวเองว่าไม่เคยใจแข็งออมเงินได้สำเร็จเลยสักครั้ง แนะนำให้บังคับตัวเองด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากประจำไปซะเลย โดยฝากเงินขั้นต่ำก่อนก็ได้ คราวก็จะเหมือนบังคับตัวเองให้ออมเงินทุก ๆ เดือน และแม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก แต่ถ้าเก็บสะสมไปเรื่อย ๆ ก็พอกพูนเป็นเงินก้อนในสักวัน
13. จองล่วงหน้าประหยัดกว่าเยอะ
ไม่ว่าจะเป็นตั๋วเครื่องบินหรือโรงแรมที่คุณวางแผนจะไปเข้าพักตอนไปเที่ยวพักผ่อน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะถูกกว่าปกติหากคุณทำการจองล่วงหน้าประมาณ 2 เดือนเป็นอย่างต่ำ ยิ่งถ้ามีโปรโมชั่นเครื่องบินประกาศออกมา ก็ไม่ควรพลาดการจองด้วยประการทั้งปวง จะได้ออกไปเปิดหูเปิดตาในราคาสบายกระเป๋ามากขึ้น
14. เซย์โนให้เป็น
ค่าใช้จ่ายกว่า 1 ใน 3 ของทุกเดือนค่อนไปทางงานเลี้ยงสังสรรค์ซะส่วนใหญ่ ฉะนั้นหากคุณกลั้นใจปฏิเสธคำเชื้อเชิญไปงานปาร์ตี้ของเพื่อนบ้างในบางครั้งก็เท่ากับจะมีเงินเหลือเก็บในกระเป๋าจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว รู้อย่างนี้แล้วเรื่องเที่ยวก็เพลา ๆ ลงบ้างเถอะ
หลายครั้งเราหลวมตัวใช้เงินเยอะไปกับของใช้ฟุ่มเฟือย อาหารบุฟเฟ่ต์ และอาหารขยะซึ่งไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากไปกว่าสนองความต้องการของตัวเราเองเท่านั้น ซึ่งถ้าลองระงับกิเลสของตัวเองลงมาสักนิด เชื่อไหมคะว่าจะเหลือเงินเก็บอีกเพียบเลย
16. ชิลได้ แต่เลือกวันหน่อย
วิถีชีวิตแบบเหลือเงินเก็บก็ใช่ว่าจะต้องงดกิจกรรมบันเทิงทุกอย่างใช้ชีวิตไปซะเมื่อไร แต่แค่เลือกเที่ยว เลือกช้อปในวันที่ร้านค้าจัดโปรโมชั่นแทน เช่น ดูหนัง จัดชาบูในวันพุธ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ทางร้านค้ามักจะลดราคา
17. ทบทวนอีกครั้งก่อนควักกระเป๋า
พฤติกรรมเห็นปุ๊บควักกระเป๋าสตางค์จ่ายเงินปั๊บมีใครเคยเป็นกันบ้างไหมคะ แล้วของส่วนใหญ่ที่ซื้อมาก็ไม่ค่อยได้ใช้อย่างคุ้มค่าเงินที่เสียไปอีกต่างหาก จนบางครั้งเราก็มานั่งเสียใจทีหลังว่าไม่น่าใจง่ายซื้อของชิ้นนี้มาเลย ถ้าอย่างนั้นเอาเป็นว่าเรามาทบทวนความจำเป็นและประโยชน์ของชิ้นนั้น ๆ ให้ถี่ถ้วนอีกครั้งก่อนตัดสินใจจ่ายเงินดีกว่าเนอะ
18. ยกเลิกค่าสมาชิกฟิตเนส
สำหรับคนที่ต้องการฟิตหุ่นให้เฟิร์มเลยต้องซื้อแพคเกจออกกำลังกายจากฟิตเนสสักแห่ง จริง ๆ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เลยนะคะ เพราะเดี๋ยวนี้มีคลิปวิดีโอจากผู้ใจดีที่ชอบแบ่งปันเรื่องราวด้านสุขภาพดี ๆ แบบนี้อยู่เยอะ และก็ฟรีอีกต่างหาก ที่สำคัญการออกกำลังกายหลายอย่างเราสามารถทำได้ที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปฟิตเนสให้เหนื่อยและเปลืองเพิ่มขึ้นด้วย
19. ชงกาแฟกินเอง
กาแฟและชา 1 แก้วมีราคาสูงเป็นหลักร้อยเลยนะคะ หรือเบาะ ๆ ก็แก้วละ 20 บาทเป็นอย่างต่ำ ซึ่งพอบวกรวมกันทุกวัน ๆ สัปดาห์หนึ่งก็มีส่วนแบ่งในค่าใช้จ่ายเราเป็นหลักร้อย หลักพันได้เลย ดังนั้นหันมาชงเครื่องดื่มเหล่านี้กินเองคงช่วยประหยัดได้อีกมาก
การที่ภาษีบุหรี่และเหล้าพุ่งสูงขึ้นทุกปีก็เป็นเพราะว่า สินค้าเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย แถมให้โทษกับร่างกายหลายด้าน ฉะนั้นใครที่ติดบุหรี่และเหล้าอยู่ตอนนี้ จะดีกว่าไหมคะหากเราจะมาลด ละ เลิกเหล้าละบุหรี่อย่างเด็ดขาดกันสักที ซึ่งนอกจากจะมีเงินเหลือเก็บแน่ ๆ อยู่แล้ว คุณจะสัมผัสได้ถึงสุขภาพที่ฟิตขึ้นอีกมากด้วย
21. อ่านหนังสือจากห้องสมุดประชาชน
สำหรับหนอนหนังสือที่ตอนนี้แทบจะกินนอนอยู่กับหนังสือในตู้ที่บ้าน คงอดไม่ได้ที่จะซื้อหนังสือน่าอ่านอีกหลายเล่มมาเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว แต่ถ้าคุณลองคำนวณดูแล้วว่าไม่เคยหยิบหนังสือเล่มไหนออกมาอ่านซ้ำ แถมยังหวงของจนไม่อยากบริจาคหนังสือให้ใคร แบบนี้ลดการช้อปหนังสือแล้วออกไปหาหนังสืออ่านแถว ๆ ห้องสมุดประชาชนน่าจะดีกว่า
22. ช้อปปิ้งออนไลน์
อย่างที่บอกว่าคุณไม่จำเป็นต้องงดการจับจ่ายซื้อของ หรืองานปาร์ตี้แบบเด็ดขาด เพียงแค่ลดและรู้จักใช้เงินอย่างฉลาดมากขึ้นก็พอ อย่างการช้อปปิ้งออนไลน์ก็ช่วยให้คุณประหยัดเงินได้ อย่างน้อย ๆ ก็ไม่ต้องเสียค่าเดินทางแล้วใช่ไหมคะ อีกทั้งการช้อปปิ้งแบบไม่เห็นตัวสินค้าจริง ๆ ยังอาจทำให้คุณได้มีเวลาตัดสินใจนานขึ้น พร้อมกันนั้นก็ต้องไตร่ตรองให้มากขึ้นว่าสินค้าตัวจริงจะดีเหมือนที่เราเห็นในรูปหรือเปล่าอีกด้วย
23. ลองดูของลดราคา
ใครอดไม่ได้ที่จะช้อปตามนิสัยเคย ๆ ถ้าอย่างนั้นรอจังหวะที่ห้างสรรรพสินค้าจัดโปรโมชั่นและลดราคาสินค้าประจำปีไปเลยดีกว่า แต่ทั้งนี้คุณก็ควรต้องพิจารณาคุณภาพของสินค้าก่อนซื้อด้วยนะจ๊ะ
24. อย่าหวังรวยทางลัดกับหวย
สำหรับคนที่หวังจะรวยทางลัดหรือชอบวัดดวงเรื่องตัวเลขทุกงวด คุณคงรู้ดีอยู่แล้วว่าโอกาสถูกรางวัลแทบจะเรียกได้ว่าต่ำมาก ฉะนั้นเก็บเงินส่วนที่ซื้อหวงทุกเดือนไปออมเอาไว้ใช้อย่างอื่นกันเถอะ
ในเมื่อออมเงินด้วยวิธีปกติไม่ค่อยจะได้ผลเท่าไร ถ้าอย่างนั้นมาลองตั้งเงื่อนไขการออมเงินให้ตัวเองบ้างดีกว่า เช่น เลือกเก็บแต่แบงก์ 50 หรือเหรียญ 10 เป็นต้น แค่นี้ก็มีเงินเหลือเก็บเกิน 500 ต่อเดือนง่าย ๆ แล้วนะ
26. เปลี่ยนแพคเกจดาวเทียม
เดี๋ยวนี้เรามาไกลถึงยุคดิจิตอลทีวีแล้วนะคะ ฉะนั้นใครที่ติดดาวเทียมและต้องเสียค่าแพคเกจดาวเทียมเดือนละหลายร้อยบาท น่าจะเปลี่ยนแพคเกจให้ต่ำลงได้แล้ว เพราะเอาเข้าจริง ๆ คุณก็ดูทีวีอยู่แค่ไม่กี่ช่องหรอก
27. ทำอาหารกินเอง
ต้องยอมรับว่าเงื่อนไขเรื่องเวลาที่เร่งรีบในแต่ละวันทำให้เราเลือกใช้ชีวิตอย่างประหยัดเวลามากขึ้น แต่อาหารสำเร็จรูปบางอย่างก็ต้องบอกว่ารสชาติกับราคาไม่ได้คู่ควรกันซะเลยจริง ๆ อีกทั้งคุณค่าทางสารอาหารที่ได้ก็แทบจะไม่มีให้เห็น ฉะนั้นคงดีกว่าหากเราจะปรุงอาหารกินเองที่บ้าน แล้วทำเผื่อไปกินที่ทำงานด้วยก็ยิ่งดี จะได้ประหยัดค่าอาหารในแต่ละวันได้อีก
28. ทำธุรกรรมที่ช่วยลดภาษี
ถ้าตอนนี้คุณต้องเสียภาษีให้รัฐแล้ว ก็ควรหาวิธีช่วยลดภาระภาษีให้น้อยลง โดยอาจจะเลือกทำประกันชีวิต เลี้ยงดูพ่อแม่ หรือลงทุนกับสถาบันการเงินที่มีเงื่อนไขช่วยลดภาษีได้ด้วย เป็นต้น
29. ซื้อของให้ถูกแหล่ง
เคยไหมคะที่เพิ่งซื้อของชิ้นนี้มาไม่กี่สัปดาห์ก่อน ซึ่งเราก็ว่าซื้อมาได้ในราคาถูกแล้วเชียวนะ แต่เจ้าเพื่อนตัวดีก็เอาสินค้าแบบเดียวกันเป๊ะมาอวด แถมซื้อมาในราคาที่ถูกกว่าเราเกือบครึ่ง ! ทว่าพอสอบถามไปถึงได้รู้ว่าเพื่อนไปหาซื้อจากแหล่งที่ขายสินค้าชนิดนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็แปลได้ว่าถ้าเราซื้อของจากแหล่งที่ถูกต้องได้ ก็จะได้ของราคาที่ถูกกว่าครึ่งต่อครึ่งนั่นเอง
แค่รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ดูแลตัวเองอย่างดีด้วยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ร่วมกับออกกำลังกายเป็นประจำ คุณไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยบ่อย ๆ ลดค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพไปได้มากโข อีกทั้งยังได้กำไรเป็นสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ด้วยนะ
อย่างไรก็แล้วแต่ หลากหลายเคล็ดลับลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์ใด ๆ กับคุณเลยหากคุณเองไม่ได้มีใจอยากเก็บออมเงินจริง ๆ ฉะนั้นจะเก็บเงินได้ไหม จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนลงมากแค่ไหน ก็อยู่ที่ตัวคุณเองเป็นสำคัญด้วยนะคะ