x close

เทียม โชควัฒนา ประวัติผู้วางรากฐานบริษัท สหพัฒน์พิบูลย์

   เทียม โชควัฒนา

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา
    
          เทียม โชควัฒนา ประวัติผู้ก่อตั้งบริษัทสหพัฒน์พิบูลย์ ผู้เป็นแรงบันดาลใจของผู้อยากมีธุรกิจ พร้อมปรัชญาการดำเนินชีวิต
  
          หากให้นึกถึงบริษัทใหญ่ ๆ ของไทยที่มีอายุมาอย่างยาวนานมาสักหนึ่งบริษัท เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงชื่อ "สหพัฒน์" เป็นลำดับต้น ๆ อย่างแน่นอน เพราะเป็นบริษัทที่เกิดมานานกว่า 70 ปี แถมมีสินค้าที่คุ้นหูคุ้นตาคนไทยจำนวนมาก หนึ่งในสินค้าชนิดดังกล่าวคือ "มาม่า"

          อย่างไรก็ตาม หลายคนก็อาจจะไม่รู้ว่า บริษัทในเครือสหพัฒน์ ใครเป็นผู้ก่อตั้ง ขายสินค้าอะไรบ้าง แล้วทำไมถึงสามารถยืนหยัดต่อสู้กับบริษัทต่างชาติที่มีธุรกิจไลน์เดียวกันอย่างยูนิลิเวอร์กับพีแอนด์จีได้อย่างยาวนาน Kapook Money มีคำตอบค่ะ

          จุดเริ่มต้นของสหพัฒน์ หรือชื่อเต็ม ๆ ก็คือ บริษัทสหพัฒน์พิบูล จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นการดำเนินบริหารมาจาก ดร.เทียม โชควัฒนา ซึ่งประวัติของ ดร.เทียม โชควัฒนา เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2459 มีบิดาชื่อนายฮกเปี้ยว มารดาชื่อนางสอน มีพี่น้องร่วมท้องทั้งหมด 7 คน

          ชีวิตในวัยเด็กของ ดร.เทียม โชควัฒนา ก่อนที่จะมีกิจการเป็นของตัวเอง เขาอยู่ในครอบครัวที่ทำธุรกิจค้าขายอยู่แล้ว ชื่อว่าร้านเปียวฮะ เป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่ค้าขายสินค้าประเภทน้ำตาล แป้ง นม โดยไปรับสินค้ามาจากตลาดทรงวาดมาขายต่ออีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2470 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มประสบปัญหา ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบมาถึงครอบครัวของ ดร.เทียม ด้วย เพราะรายได้ในครอบครัวไม่พอกับรายจ่าย ด้วยเหตุนี้ ดร.เทียม จึงต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยทางบ้านค้าขายตั้งแต่อายุ 15 ปี

          การมาช่วยครอบครัวทำงานของ ดร.เทียม ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะ ดร.เทียม ประเมินตนเองว่าเป็นคนที่มีความรู้น้อย จึงต้องทำงานอย่างไม่ย่อท้อ และไม่สามารถเกี่ยงงานได้ทุกหน้าที่ ฉะนั้น ดร.เทียม จึงทำงานทุกอย่างตั้งแต่พนักงานขายไปจนถึงจับกัง ส่วนทางนายเปียวฮะ ก็ได้ให้เงินเดือนแก่เขาเดือนละ 6 บาท เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมาเป็น 16 บาท ทว่าวันหนึ่งนายเปียวฮะ ก็ได้ประกาศว่า หากใครแบกน้ำตาลหนัก 100 กิโลกรัมได้ จะได้รับเงินเดือนละ 22 บาท ซึ่ง ดร.เทียม ก็เป็นลูกเพียงคนเดียวที่ทำได้

เทียม โชควัฒนา

          อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการเป็นลูกเจ้าของกิจการจะทำให้การทำงานทุกอย่างราบรื่นเสมอไป เนื่องจากด้วยนิสัยของนายเปียวฮะที่เป็นคนรักพี่รักน้อง อำนาจการตัดสินใจของร้านจึงกลับไปตกที่อาของ ดร.เทียม ทำให้ ดร.เทียม ถูกบรรดาญาติพี่น้องกลั่นแกล้งอยู่เนือง ๆ บ้างก็ถูกสบประมาทว่าเป็นคนไม่ได้ความ ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรและภรรยาได้ อีกทั้งบรรดาญาติเขาล้วนได้รับโอกาสในการเรียนหนังสือที่ดี เรียนต่อต่างประเทศ ตรงจุดนี้ทำให้ ดร.เทียม พยายามหาวิธีแก้แค้นตลอดเวลา แต่สุดท้ายก็คิดได้ว่า หากทำอะไรลงไปในทางที่ไม่ดี ก็จะถูกแก้แค้นกลับแน่นอน ดังนั้น แปลงความแค้นเป็นพลังในการทำงานหนัก เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

          จากเรื่องเหล่านี้ ทำให้ ดร.เทียม ได้ขอพ่อกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นการเรียนในภาคค่ำก็ตาม แล้วก็ได้พยายามศึกษาการทำงานที่ร้านของคนอื่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับตัวเอง ก่อนที่ ดร.เทียม จะผุดแนวคิดใหม่ให้กับทางร้านว่า ควรลองไปหาลูกค้าจากข้างนอกบ้าง เพราะถ้าหากตั้งรับอยู่แต่ในร้านก็จะได้แต่ลูกค้าหน้าเดิม ขายได้เท่าเดิม และดร.เทียม จะเป็นคนที่ปั่นจักรยานไปหาลูกค้าเอง ผลปรากฏว่า กลยุทธ์นี้ได้ผลดีมาก

          ทว่าปัญหาระหว่างพ่อและอาของเขา ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป แล้วดูเหมือนว่าจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้าย พ่อได้ยกร้านเปียวฮะให้แก่อา พร้อมกับตั้งร้านใหม่ชื่อว่า ร้านเฮียบฮะ ขายสินค้าชนิดเดียวกันกับร้านเปียวฮะ

          ในช่วงนั้นเอง เป็นช่วงเวลาในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นบุกไทย ซึ่ง ดร.เทียม มองว่า สงครามอาจจะทำให้สินค้าขาดตลาดได้ อีกทั้งยังทราบว่าบริษัทขายกาแฟบริษัทหนึ่งมีสินค้าในสต๊อก 3,000 กระสอบ จึงได้ขอซื้อกาแฟทั้ง 3,000 กระสอบทันทีในราคากระสอบละ 100 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาเดิมที่ตั้งไว้คือ 85 บาท ความคิดนี้ทำให้หลายคนมองว่า ดร.เทียม บ้าบิ่นมาก แต่เขาเองกลับมองว่า สงครามทำให้ท่าเรือถูกปิด และกาแฟจะขาดตลาดอีกนาน ซึ่ง ดร.เทียม ก็สามารถมองสถานการณ์ได้อย่างเฉียบขาด เพราะเขาสามารถขายกาแฟได้สูงที่สุดถึงกระสอบละ 300 บาท ได้กำไรอย่างมหาศาล

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ดร.เทียม ก็เสนอว่า ร้านเฮียบฮะควรเปลี่ยนแนวธุรกิจ จากเดิมที่ขายของหนัก ๆ กำไรน้อย เช่น น้ำตาลแบกกระสอบ มาเป็นขายเสื้อกล้าม ใช้มือหิ้วแค่สองข้าง ก็ได้กำไรมากกว่าแล้ว อย่างไรก็ตาม นายเปียวฮะไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุนี้ ดร.เทียม จึงออกมาตั้งบริษัทเอง ชื่อว่า เฮียบ เซ่ง เชียง หรือ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด

          อย่างไรก็ตาม ดร.เทียม ก็รู้ตัวเองดีว่า ไม่มีประสบการณ์การขายสินค้า จึงได้จ้างหลงจู๊เข้ามาช่วยงาน แล้วเรียนรู้จากหลงจู๊ โดยใช้เวลา 3 ปี ก่อนที่จะแยกทางกันในที่สุด ทว่าอุปสรรคการทำธุรกิจของ ดร.เทียม ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป เมื่อสินค้าที่นำมาขายนั้น ซื้อมาจากห้างโอเรียนเต็ลสโตร์ แต่กลับขายไม่ได้กำไร เนื่องจากต้นทุนของทางห้างนั้นสูง ดังนั้น ดร.เทียม จึงตัดสินใจติดต่อกับต่างประเทศเพื่อนำสินค้ามาขายเอง ซึ่งบางครั้ง ดร.เทียม ก็ต้องเดินทางไปติดต่อด้วยตัวเอง จึงฉวยโอกาสสังเกตสินค้าประเทศนั้น ๆ ไปในตัวด้วย ว่าสินค้าอะไรเหมาะสมกับประเทศไทย อาทิ แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น

          สำหรับสินค้าต่าง ๆ ที่สั่งเข้ามาขายนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีใครใช้สินค้าแบบนี้ จึงมีคนแนะนำให้ ดร.เทียม ทำโฆษณาสินค้าเหล่านี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค กลายเป็นว่า สินค้าหลายชนิดขายดีอย่างประจวบเหมาะ

          กระทั่งธุรกิจดำเนินไปได้ 10 ปี ใน พ.ศ. 2495 ทางบริษัทได้แต่งตั้งให้ ดำหริ ดารกานนท์ ขึ้นเป็นหลงจู๊ของบริษัท นับเป็นหลงจู๊ที่อายุน้อยมาก ทำให้หลายคนมองว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของ ดร.เทียม เนื่องจากหลงจู๊คนนี้ประสบการณ์น้อย ไม่มีความน่าเชื่อถือ ขณะที่ ดร.เทียม กลับมองต่างมุมออกไป คือ คนรุ่นใหม่มีหัวทันสมัย กล้าตัดสินใจ หากมีแฟชั่นใหม่ ๆ ก็กล้าลงทุน คนหนุ่มเป็นวัยเริ่มต้นของชีวิต ย่อมมีแรงกระหายมากกว่าคนแก่ คนหนุ่มเป็นวัยที่พร้อมที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม การถูกแนะนำสั่งสอน

          เข้าสู่ปี พ.ศ. 2500 ธุรกิจก็พุ่งพรวดแบบก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม ก็พบจุดอ่อนที่สำคัญคือ เมื่อสหพัฒน์ นำเข้าสินค้าอะไร บริษัทอื่นก็มักทำตามในภายหลัง จนทำให้สินค้าล้นตลาด ขายได้ยาก จึงต้องพยายามนำสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาขายอย่างไม่สิ้นสุด วิธีแก้ไขคือ การสร้างตราสินค้าเป็นของตัวเอง ที่คนอื่นจะเลียนแบบไม่ได้ พร้อมกับการโปรโมทโฆษณา สวนทางความเชื่อในสมัยนั้นที่ว่า หากใครก็ตามที่โฆษณา บริษัทนั้นกำลังจะเจ๊ง แต่ทางสหพัฒน์ฯ มองว่า เราต้องแนะนำตัวเองให้ผู้บริโภครับรู้เกี่ยวกับตัวเรา ซึ่งการทำเช่นนี้ ทำให้บริษัท สหพัฒน์ฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว จวบจนปัจจุบัน

เทียม โชควัฒนา

          สำหรับแนวคิดของ ดร.เทียม ในการใช้ชีวิตและการทำงาน มีมากมายหลายอย่าง ทาง Kapook Money ก็ขอคัดข้อคิดเด่น ๆ มานะคะ

      1. รู้น้อยไม่เกี่ยงงาน หากเราไม่เลือกงาน ก็จะมีประสบการณ์มากขึ้น เพราะการทำงานคือการเพิ่มความรู้และประสบการณ์

      2. เที่ยงธรรมและเยือกเย็น ผู้บริหารต้องปกครองคนด้วยความเที่ยงธรรมและเยือกเย็นเป็นสำคัญ

      3. รักตนเอง รักครอบครัว รักบริษัทฯ หากดำเนินชีวิตพื้นฐานจากพลังแห่งรัก บุคคลนั้นย่อมประสบความสำเร็จ
    
      4. ความรู้เหมือนดาบ ยิ่งใช้ยิ่งคม ผู้ใดนำความรู้มาใช้ และถ่ายทอดให้ผู้อื่น จะยิ่งเกิดความชำนาญมากขึ้น
    
      5. การใช้โทสะ มีแต่สร้างความรุนแรง การใช้ความโกรธตัดสินปัญหา ไม่สร้างผลดีกับใคร
    
      6. อย่าปล่อยให้ชีวิตให้หมดไปอย่างไร้ค้า เพราะเวลาไม่สามารถย้อนกลับไปได้
    
      7. เร็ว ช้า หนัก เบา ในการทำงาน ควรพิจารณาอยู่เสมอว่า งานใดทำก่อน งานใดทำหลัง และงานใดต้องจริงจัง งานใดต้องพอควร
    
      8. แค่หยุดอยู่กับที่ ก็กลายเป็นผู้ล้าหลัง เพราะคนเป็นนักธุรกิจ ห้ามทำตัวหยุดนิ่ง

      9. ชมเกินจริงเป็นโทษ ติเกินเหตุเสียน้ำใจ หมายถึง การชมเชย อาจจะทำให้เกิดความหลงระเริงได้ ส่วนการติเตียนต้องทำด้วยจิตใจหวังดีและคำพูดสร้างสรรค์
    
      10. มนุษยสัมพันธ์ คือพื้นฐานของความสำเร็จ กล่าวคือ การที่จะประสบความสำเร็จ ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
    
      11. ศึกษาคนเพื่อมอบงาน ให้เหมาะแก่ความสามารถ โดยต้องมอบงานให้ตรงความสามารถของเขา เพื่อทำให้เป้าหมายบรรลุ
    
      12. เข็มเล่มหนึ่ง ไม่มีปลายแหลมสองด้าน คนเรามีทั้งจุดเด่นจุดด้อย ไม่มีใครเก่งทั้งหมด
    
      13. หนังฉายซ้ำไม่ตื่นเต้น ตลกมุกเก่าไม่มีคนฮา คนเราต้องพัฒนางานเสมอ เพื่อสอดคล้องต่อวันเวลาที่เปลี่ยนไป
    
      14. อย่าหลงเชื่อคำกล่าวผู้อื่น โดยขาดสติและความรอบคอบ ควรที่จะไตร่ตรองด้วยเหตุผลเสียก่อน
    
      15. หากอยากมีอนาคตที่มั่นคง จงอย่าเห็นแก่ตัว เพราะคนดีย่อมไม่เห็นแก่ตัว
    
      16. เมื่อจะแหงนมองฟ้า ก็อย่าลืมว่าเท้าตัวเองสัมผัสดินอยู่ อย่าลืมตัว อย่าทะนงตนว่าเลิศเลอไปกว่าคนอื่น เพราะยังมีคนที่เก่งกว่าเราอีกมาก

      17. ให้ลูกน้องกล้าตัดสินใจ ผู้ใหญ่ต้องรับความเสี่ยง คือถ้าเขาทำผิดพลาด ก็ต้องช่วยรับผิดชอบด้วย
    
      18. การล่าช้ามิได้หมายความว่าเป็นผู้ล้าหลัง และอย่ารีบร้อนเพราะกลัวล้าหลังคู่แข่ง    

      19. ชนะใจมิตรและศัตรูได้ คือผู้ชนะที่แท้จริง เพราะเป็นชัยชนะที่สำคัญที่สุด
    
      20. ทำงานมาก ก็ผิดพลาดมาก ทำงานน้อยก็ผิดพลาดน้อย คนที่ไม่มีความผิด คือคนที่ไม่ทำอะไรเลย

      21. หากดีแต่พูด ไม่ลงมือทำ ความคิดก็ไม่อาจเป็นจริงได้ เพราะงานบางอย่างพูดง่าย แต่ทำยาก

      22. การทำงาน ต้องมีเป้าหมาย หากไม่มีเป้าหมาย ก็เหมือนจุดมุ่งหมายในชีวิต

      23. ผิดครั้งแรกนั้นเป็นครู ผิดครั้งสองคือโง่ เพราะคนเราก็ต้องผิดพลาด แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องจดจำความผิดนั้น
   
      24. มีคู่แข่งได้ แต่ต้องไม่มีคู่แค้น เพราะถ้ามีคู่แค้น จะทำให้ธุรกิจมัวหมอง ไม่มีอนาคต

      25. คบคนดี ไม่สร้างศัตรู เพราะคบคนดี เหมือนการคบบัณฑิตที่พาไปหาผล

    
          และนี่คือชีวิตการทำงานและปรัชญาการทำธุรกิจของ ดร.เทียม โชควัฒนา เพียงบางส่วน หวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ต้องการทำธุรกิจหรือคนที่หมดกำลังใจในการทำงานนะคะ


เทียม โชควัฒนา

เทียม โชควัฒนา

เทียม โชควัฒนา



    

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
cyberblue.exteen.com, archive.wunjun.com



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทียม โชควัฒนา ประวัติผู้วางรากฐานบริษัท สหพัฒน์พิบูลย์ อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2557 เวลา 14:24:20 15,168 อ่าน
TOP