x close

สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ใบกำกับภาษี

ใบกำกับภาษี

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
บทความโดย นายเทียนชัย เกษดา นิติกร

          ใบกำกับภาษี อาจจะเป็นชื่อคุ้นหู ที่หลาย ๆ คนไม่ค่อยเข้าใจความหมาย เพราะบางส่วนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่จำเป็นต้องศึกษา แต่ทว่าใบกำกับภาษีก็จัดเป็นเนื้อหาสำคัญที่ควรรับรู้รับทราบเอาไว้ ว่าใบกำกับภาษีคืออะไร และสามารถทำอะไรได้บ้าง วันนี้กระปุกนำบทความน่ารู้เกี่ยวกับใบกำกับภาษี จาก สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มาฝากให้ได้ทำความเข้าใจกันค่ะ

          สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า...ใบกำกับภาษี (Tax invoice)

          สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบกำกับภาษีก็คงไม่สำคัญมากนัก บางครั้งก็รับไว้ หรือบ่อยครั้งก็ไม่สนใจว่าผู้ประกอบการจะออกใบกำกับภาษีให้หรือไม่ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ไปซื้อสินค้าหรือรับบริการแล้วใบกำกับภาษีนั้นสำคัญ เพราะใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการได้รับมาจากผู้ประกอบการอื่นถือเป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีซื้อ ส่วนผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีไป ใบกำกับภาษีก็เป็นหลักฐานในการคำนวณเป็นภาษีขาย โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ ในการส่งภาษีมูลค่าเพิ่มโดยการนำภาษีขาย (Output Tax) ไปหักด้วยภาษีซื้อ (Input Tax) ซึ่งใบกำกับภาษีถือเป็นหลักฐานสำคัญ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้ประกอบการจะต้องชำระภาษีหรือขอคืนภาษีหรือยกไปใช้เป็นเครดิตภาษีในครั้งถัดไป

          ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86 ใบกำกับภาษี คือ เอกสารที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องออกให้แก่ ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ในการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง เมื่อจัดทำแล้วต้องส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยหากเป็นการขายสินค้า ผู้ประกอบการต้องออกใบกำกับภาษีให้ทุกครั้งที่มีการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ แม้ยังไม่ได้มี การชำระเงินค่าสินค้าก็ตาม กรณีที่เป็นการให้บริการผู้ประกอบการต้องออกใบกำกับภาษีให้ทุกครั้งเมื่อมีการชำระค่าบริการ ส่วนสำเนาใบกำกับภาษีนั้น ผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีต้องเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการลงรายงานภาษีขาย
 

          สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการต้องเก็บใบกำกับภาษีไว้ใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณหาภาษีซื้อ หากผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่จัดทำใบกำกับภาษีหรือสำเนาใบกำกับภาษี หรือจัดทำแล้วไม่ส่งมอบให้ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ หรือไม่จัดทำใบกำกับภาษี หรือสำเนาใบกำกับภาษีและไม่ส่งมอบให้ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ตามที่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเรียกร้อง จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องเสียค่าปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี (มาตรา 90/2(3), 89(5) แห่งประมวลรัษฎากร)

          เพื่อให้การปฏิบัติสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง มีกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรให้สิทธิผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าหรือให้บริการเลือกไม่จำต้องออกใบกำกับภาษีก็ได้ ได้แก่

          การขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะเรียกร้องให้ออกใบกำกับภาษี เช่น การขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งผู้ประกอบการ จดทะเบียนมีสถานประกอบการแต่ละแห่งเป็นรถเข็น แผงลอย หรือหน่วยขายที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน การประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ เป็นต้น

          การขายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานบริการน้ำมัน

          กรณีไม่จำต้องออกใบกำกับภาษีตามแนวทางปฏิบัติ ของกรมสรรพากร (โดยกำหนดไว้ในข้อ 2 ของคำสั่งของกรมสรรพากร ที่ ป. 86/2542) เช่น ผู้ประกอบการจดทะเบียนน าบริการและหรือนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เป็นบริการที่นำไปใช้เพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

          ตัวอย่าง บริษัท ก. จำกัด ประกอบกิจการขายผลิตภัณฑ์อาหาร ได้นำผลิตภัณฑ์อาหารไปใช้เลี้ยงรับรองให้แก่ลูกค้าซึ่งมาดูงานของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของผลิตภัณฑ์อาหารที่นำไปเลี้ยงรับรอง โดยไม่จำต้องจัดทำใบกำกับภาษี

          สรุปแล้วใบกำกับภาษีนั้นคือ เอกสารสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องออกและลงรายละเอียดให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับบุคคลธรรมดาแม้ว่าใบกำกับภาษีจะไม่สำคัญเท่ากับผู้ประกอบการ แต่ในฐานะบุคคลธรรมดาที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการซึ่งเป็นผู้รับชำระภาษีแทนผู้ขาย ก็ควรที่จะต้องช่วยตรวจสอบการชำระภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บรายได้ของประเทศ ด้วยการขอใบกำกับภาษีพร้อมกับตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้งเมื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ใบกำกับภาษี อัปเดตล่าสุด 27 พฤษภาคม 2557 เวลา 12:03:46 8,649 อ่าน
TOP