
LTF กับ RMF กองทุนรวมที่ช่วยลดหย่อนภาษีทั้งคู่ แต่ทั้งสองประเภทนี้แตกต่างกันตรงไหน มาไขข้อข้องใจด้วยการเปรียบเทียบให้เห็นแบบชัด ๆ ไปเลย
ใครมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี เห็นทีจะไม่รู้จักกองทุน LTF และ RMF ไม่ได้เสียแล้วล่ะค่ะ เพราะกองทุนทั้งสองประเภทนี้ช่วยประหยัดภาษีให้เราได้มากเลย อย่างที่หลายคนพากันเรียกว่า "แฝดคู่สวยช่วยประหยัดภาษี" ฟังดูแล้วชักสนใจขึ้นมาแล้วสิ ว่ากองทุนทั้งสองประเภทนี้จะช่วยประหยัดภาษีได้อย่างไร แล้ว LTF และ RMF ต่างกันตรงไหนล่ะ ถ้าอยากรู้ คำตอบอยู่ข้างล่างนี่แล้ว...
LTF คืออะไร
มารู้จักตัวแรกกันก่อนนะคะ "LTF" หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund) เป็นกองทุนรวมชนิดหนึ่งที่เน้นลงทุนในหุ้น กองทุนนี้ภาครัฐสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 เพื่อให้คนนำเงินมาลงทุนในสถาบัน (กองทุนรวม) ที่จะต้องเป็นการลงทุนระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อช่วยให้ตลาดทุนไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น และแน่นอนว่าสิ่งที่จูงใจให้คนนำเงินมาลงทุนก็คือ ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์การขอคืนภาษีเงินได้นั่นเอง
ทั้งนี้ นโยบายของกองทุน LTF จะเน้นลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งแต่ละกองทุนของแต่ละธนาคารก็จะเลือกลงทุนในหุ้นที่แตกต่างกันออกไป และบางกองทุนอาจมีเงินปันผลให้ด้วย
LTF เหมาะกับใคร
กองทุน LTF นี้ เหมาะกับผู้ที่มีเงินได้ต้องการลดหย่อนภาษี และไม่มีความชำนาญหรือไม่มีเวลาติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด และต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงสูงได้ เนื่องจากกองทุน LTF เน้นลงทุนในหุ้น แต่ถ้าใครรับความเสี่ยงได้ไม่มากนักอาจเลือกกองทุน LTF ที่มีจำกัดการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 70% ส่วนอีก 30% ลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากหุ้นก็ได้เช่นกัน
เงื่อนไขการลงทุน LTF
ก่อนจะกระโจนเข้าไปร่วมลงทุนในกองทุน LTF จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ถึงเงื่อนไขของการลงทุนเสียก่อน ไม่เช่นนั้นเกิดทำผิดเงื่อนไขขึ้นมา นอกจากจะไม่ได้ภาษีคืนแล้ว ยังต้องเสียค่าปรับเพิ่มด้วยนะ โดยสิ่งที่ต้องรู้ก็คือ
1. กองทุน LTF ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี แต่หากซื้อปีไหนก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เฉพาะในปีนั้น
2. จำนวนเงินที่จะซื้อกองทุน LTF ได้นั้น ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำไว้ แต่กำหนดเพดานสูงสุดคือ ต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ตลอดปี โดยเงินที่นำไปลงทุนสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามที่ลงทุนจริง และตามฐานภาษีของตนเอง
เช่น นายเอ มีรายได้ทั้งปี 500,000 บาท เสียภาษีอัตรา 10% นายเอ สามารถซื้อ LTF ได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ คือซื้อได้ไม่เกิน 75,000 บาท หากนายเอซื้อ LTF ไปทั้งหมด 75,000 บาท เงินจำนวนนี้สามารถลดหย่อนภาษีได้เป็นเงิน 7,500 บาท
3.หากซื้อกองทุน LTF ภายในปี 2559 ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีปฏิทิน จึงจะได้สิทธิลดหย่อนภาษี วิธีการนับให้นับตามปีปฏิทิน (ไม่ต้องให้วันชนวัน) เช่น ซื้อ LTF ในวันที่ 27 ธันวาคม 2556 จะครบกำหนดขายคืนได้ในอีก 5 ปีปฏิทิน คือ วันที่ 2 มกราคม 2561 ซึ่งนับ ๆ ดูแล้วเท่ากับลงทุนเพียง 3 ปีเศษ ๆ เท่านั้นเอง
4. หากลงทุนครบเงื่อนไข 5 ปีปฏิทินแล้ว เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนแล้วได้กำไร ไม่จำเป็นต้องนำกำไรนั้นไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้
5. หากกองทุน LTF ที่เราลงทุนอยู่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ต้องรู้ด้วยว่า เงินปันผลนี้ต้องเสียภาษี 10% ซึ่งสามารถเลือกแบบหัก ณ ที่จ่าย หรือไม่หัก ณ ที่จ่าย แล้วนำเงินมารวมคำนวณกับรายได้ทั้งปีก็ได้ แต่มีข้อแนะนำว่า หากใครฐานภาษีมากกว่า 10% ควรเลือกแบบหัก ณ ที่จ่ายจะดีกว่า เพราะการนำมารวมคำนวณกับเงินได้ทั้งปี จะทำให้เสียภาษีมากขึ้น
6. สามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนที่ถือครองอยู่ไปยังกองทุน LTF อื่นได้
7. การขายหน่วยลงทุนคืนใช้หลักหน่วยลงทุนที่ซื้อก่อนจะถูกนำไปขายก่อน (First-In First-Out: FIFO) เช่น ซื้อ LTF ในปี 2551 2552 2553 2554 เมื่อถึงปี 2555 เราสามารถขายหน่วยที่ซื้อไว้ในปี 2551 ได้ แต่ยังไม่สามารถขายหน่วยที่ซื้อในปี 2552-2554 ได้ ต้องรอให้ครบ 5 ปีปฏิทินก่อนจึงสามารถขายได้ ดังนั้น หน่วยที่เราซื้อในปี 2554 จะสามารถขายได้เมื่อปี 2558
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขการลงทุน LTF ใหม่ โดยต่ออายุสิทธิการลดหย่อนภาษี LTF ไปจนถึงปี 2562 แต่ผู้ที่ลงทุนตั้งแต่ปี 2559-2562 ต้องลงทุนอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน (หรือ 5 ปี 2 วัน) โดยสามารถซื้อในวันที่ 31 ธันวาคมของปีแรกในการซื้อ และขายได้ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่ 7 ให้สามารถนับเป็น 7 ปีได้
ถ้าผิดเงื่อนไขการลงทุนจะเป็นอย่างไร
หากใครซื้อ LTF ไปแล้วตัดสินใจขาย LTF ก่อนครบกำหนดจะไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี โดยจะต้องนำภาษีที่ขอคืนไปส่งคืนกรมสรรพากรพร้อมดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ยื่นขอยกเว้นภาษี จนถึงเดือนที่ยื่นคืนเงินภาษี และยังต้องจ่ายภาษีในส่วนของกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน LTF คืนด้วย
RMF คืออะไร
มารู้จัก RMF กันบ้าง RMF คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีจุดประสงค์ให้เราได้ออมเงินระยะยาวไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ ซึ่งคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ของข้าราชการ
ทั้งนี้ นโยบายกองทุนมีหลากหลาย ไม่ได้มีแต่เน้นลงทุนในหุ้นอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีให้เลือกตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ความเสี่ยงปานกลาง ไปจนถึงความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนหุ้น กองทุนทองคำ เป็นต้น
RMF เหมาะกับใคร
ผู้ที่เหมาะจะลงทุนกองทุน RMF นั้น คือผู้ที่ต้องการออมเงินระยะยาวสำหรับใช้ในยามเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
- ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณมารองรับ
- ลูกจ้างที่นายจ้างยังไม่พร้อมที่จะจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถสะสมเงินลงทุนเพื่อวัยเกษียณได้
- ลูกจ้างหรือข้าราชการที่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณอยู่แล้ว แต่ต้องการจะออมเพิ่มเติมให้มากขึ้น เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มวงเงิน 500,000 บาท ตามที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริม
เงื่อนไขการลงทุน RMF
เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับผู้ที่คิดจะลงทุน RMF เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อย และข้อแตกต่างกับ LTF อยู่พอสมควร
1. เมื่อลงทุนแล้ว ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน (ยกเว้นปีที่ไม่มีเงินได้ ก็ไม่ต้องลงทุน) อธิบายง่าย ๆ เลยก็คือ ถ้ามีรายได้ทุกปี อย่างน้อยต้องซื้อ RMF ปีเว้นปี หรือจะซื้อติดต่อกันทุกปีก็ได้ เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขของการลงทุน และสามารถซื้อกองทุน RMF ได้หลายกองทุน ไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุนเดิมที่เคยซื้อเมื่อปีก่อน
2. ต้องลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่า เช่น มีเงินได้ทั้งปี 300,000 บาท ถ้าคิดเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 3% จะเท่ากับ 9,000 บาท แต่เราไม่จำเป็นต้องลงทุน 9,000 บาท สามารถลงทุนเพียง 5,000 บาทซึ่งเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำได้
3. จะสามารถขายคืนหน่วยได้ก็ต่อเมื่อเราอายุ 55 ปีขึ้นไป และต้องลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (การนับ 5 ปี ให้นับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุนเท่านั้น ถ้าปีใดไม่ลงทุน จะไม่นับว่ามีอายุการลงทุนในปีนั้น ๆ)
เช่น ปี 2557 นายบี อายุ 54 ปี ตัดสินใจซื้อ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีในปี 2557 เมื่อถึงปี 2558 นายบีจะมีอายุครบ 55 ปี แต่ยังไม่สามารถขายคืนได้ เพราะนายบียังลงทุนไม่ถึง 5 ปี ดังนั้น นายบีต้องซื้อ RMF ไปอีก 4 ปี จึงสามารถขายคืนได้
4. การนับปีของ RMF ต้องนับแบบวันชนวัน เช่น ซื้อ RMF เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ก็จะสามารถขายคืนได้ในวันที่ 26 ธันวาคม 2561 (กรณีอายุครบ 55 ปี และลงทุนมานานเกิน 5 ปีแล้ว)
5. เงินลงทุนในกองทุน RMF สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมเข้ากับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ผู้ลงทุนมีอยู่ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
6. กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ แต่หากใครลงทุนเกิน 15% ของเงินได้ หรือเกิน 500,000 บาท เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนแล้วมีกำไร จะต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) นับเฉพาะเงินลงทุนส่วนที่เกิน ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
7. สามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้ให้เหมาะสมกับสภาพตลาด และความต้องการในแต่ละช่วงเวลา เช่น เลือกลงทุนในพันธบัตรเพราะมีความเสี่ยงน้อย แต่ผลตอบแทนก็น้อยตามไปด้วย ปีถัดมาจึงเลือกกองทุน RMF ที่เน้นลงทุนในหุ้น ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่า แต่ผลตอบแทนก็มากกว่าเช่นกัน
ถ้าผิดเงื่อนไขการลงทุนจะเป็นอย่างไร
กรณีการผิดเงื่อนไขการลงทุนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ...
- ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน ทั้งที่ยังคงมีรายได้
- ลงทุนขั้นต่ำไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
- ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนที่ผู้ลงทุนจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนที่จะมีการลงทุนครบ 5 ปี
ทั้งนี้ ผู้ทำผิดเงื่อนไขจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป และต้องดำเนินการดังนี้
- กรณีลงทุนไม่ถึง 5 ปี ผู้ลงทุนต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไปในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (นับตามปีปฏิทิน) และกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน จะต้องนำไปรวมเป็นเงินได้ในปีที่ขายคืนเพื่อเสียภาษีด้วย
- กรณีลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ผู้ลงทุนต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไปในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (นับตามปีปฏิทิน)
ทั้งนี้ การจ่ายภาษีเงินต้องชำระภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข หากจ่ายคืนช้าต้องจ่ายเบี้ยปรับเงินเพิ่มอีก
ข้อแตกต่างของ LTF และ RMF
ได้รู้จักกองทุนช่วยประหยัดภาษีไปแล้ว แล้วรู้หรือยังว่ากองทุนรวมสองประเภทนี้มีข้อแตกต่างกันตรงไหนบ้าง ถ้ายังไม่ค่อยแน่ใจ เรารวบรวมเป็นตารางมาให้ดูแบบง่าย ๆ ค่ะ
กองทุน LTF | กองทุน RMF | |
วัตถุประสงค์การจัดตั้ง | สนับสนุนการลงทุนระยะยาวในตลาดทุนผ่านกองทุนรวม เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพให้ตลาดทุนไทย | สนับสนุนให้ประชาชนออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ |
นโยบายกองทุน | เน้นลงทุนให้ตราสารทุน (หุ้น)ของบริษัทจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% | ลงทุนหลากหลาย เช่น ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล หุ้น ทองคำ ฯลฯ |
ระดับความเสี่ยง | มีความเสี่ยงสูง เพราะเน้นลงทุนในหุ้น | ความเสี่ยงตั้งแต่ต่ำไปจนถึงสูง ตามแต่นโยบายแต่ละกองทุน |
ใครเหมาะลงทุน | ผู้ต้องการลดหย่อนภาษี และประสงค์ลงทุนในหุ้นระยะยาว แต่ไม่มีความชำนาญ และสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ | ผู้ต้องการลดหย่อนภาษี ประสงค์ลงทุนในหุ้นระยะยาว แต่ไม่มีความชำนาญ และสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ รวมทั้งต้องการออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ |
เงินลงทุนขั้นต่ำ | ไม่กำหนด | ไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ขึ้นอยู่ว่าจำนวนใดต่ำกว่า |
เงินลงทุนขั้นสูงสุด | ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี | ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี และหากรวมกับ กบข. แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี |
ระยะเวลาการลงทุน | ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน | ไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) และต้องอายุครบ 55 ปี ถึงขายคืนได้ |
ความต่อเนื่องของการลงทุน | ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี แต่ละปีสามารถซื้อ LTF ได้หลายกองทุน | ต้องซื้ออย่างน้อยปีเว้นปี แต่ละปีสามารถซื้อ RMF ได้หลายกองทุน |
การขายหน่วยลงทุนคืน | หน่วยลงทุนที่ถูกซื้อก่อนจะถูกนำออกไปขายก่อน (FIFO) | ขายได้เมื่อถือมาแล้ว 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) และต้องอายุ 55 ปีขึ้นไป |
การจ่ายเงินปันผล | ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุน | ไม่มีการจ่ายเงินปันผล |
สิทธิประโยชน์ทางภาษี | เงินซื้อหน่วยลงทุนใน LTF จะได้รับยกเว้นภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15 % ของเงินได้ในแต่ละปี ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 | เงินซื้อหน่วยลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15 % ของเงินได้ในแต่ละปี โดยเมื่อนับรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท |
กำไรจากการขายคืน หน่วยลงทุน | ไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นลงทุนเกินจำนวนสูงสุด ส่วนที่เกินต้องเสียภาษี | ไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นลงทุนเกินจำนวนสูงสุด ส่วนที่เกินต้องเสียภาษี |
จะเห็นได้ว่า การลงทุนให้กองทุน LTF และ RMF นั้น มีข้อแตกต่างกันพอสมควร หากใครต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี และยังได้ออมเงินระยะยาวไปในตัว กองทุน LTF หรือ RMF ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกันค่ะ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์