x close

เลี้ยงลูก 1 คน ใช้เงินอะไรบ้าง ?

เลี้ยงลูก 1 คน ใช้เงินอะไรบ้าง

เลี้ยงลูก 1 คน ใช้เงินอะไรบ้าง ? (Mother & Care)

          การเลี้ยงลูกจะต้องมีค่าใช้จ่ายมากมายจิปาถะที่คุณพ่อ คุณแม่ อาจคาดไม่ถึง ดังนั้นเพื่อให้วางแผนการใช้เงินของคุณได้อย่างเหมาะสม วันนี้กระปุกดอทคอทมีข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการใช้เงินในการเลี้ยงลูก จากนิตสาย Mother & Care มาฝาก จะมีอะไรบ้างลองไปอ่านกันค่ะ


 ตั้งครรภ์

          ตั้งครรภ์

          ค่าตรวจครรภ์ ฝากครรภ์ การตรวจอัลตร้าซาวนด์ เจาะน้ำคร่ำ (เฉพาะบุคคล) ค่าวิตามิน

         การคลอด

          - โรงพยาบาลรัฐบาล หรือโรงพยาบาลเอกชน
          - คลอดธรรมชาติ
          - ผ่าตัดคลอด
          - แม่และลูกมีปัญหาสุขภาพหรือไม่ ถ้ามีค่าใช้จ่ายก็เพิ่มสูงขึ้น
          - มีลดหย่อนจากประกันสังคมหรือไม่

         เพื่อลูกน้อย

          - ค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ เช่น ฉีดวัคซีน หาหมอ
          - ค่าข้าวของเครื่องใช้สิ้นเปลือง เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เสื้อผ้า เครื่องใช้ประจำวัน
          - ค่านม (เด็กคนไหนกินนมแม่ ก็ตัดรายจ่ายข้อนี้ได้เลย)

         ลูกวัยเรียน

          - ค่าเล่าเรียน แบ่งเป็น โรงเรียนสังกัดรัฐบาล โรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ

          ระดับชั้นอนุบาล 3 ปี
          ระดับชั้นประถมศึกษา 6 ปี
          ระดับชั้นมัธยมศึกษา 6 ปี
          ระดับชั้นมหาวิทยาลัย 4 ปี
          รวม 19 ปี

          - ค่าขนม เพิ่มขึ้นตามวัยและความจำเป็นในการใช้จ่าย เช่น เด็กบางคนกินข้าวกลางวันที่โรงเรียน บางคนซื้อกินเอง เป็นต้น
          - ภาษีสังคมภายในโรงเรียนลูก (มากน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายของโรงเรียน) เช่น ค่าบำรุงกิจกรรมพิเศษ
          - ค่าเดินทาง
          - ค่าเรียนพิเศษเสริม เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ ค่าเรียนพิเศษ
          - ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป

          ที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเลี้ยงลูก แต่จะมากน้อยต้องขึ้นอยู่กับการ "เลือก" ของแต่ละครอบครัว เช่น ถ้าส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ ย่อมต้องจ่ายค่าเทอมมากกว่าโรงเรียนเอกชนปกติอย่างน้อย 3-4 เท่า หรือถ้าส่งลูกเรียนกิจกรรมพิเศษมากขึ้น ก็มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เข้ามาเพิ่ม ไม่เท่ากันในแต่ละครอบครัว

วางแผนทางการเงิน

         วางแผนทางการเงิน

          "เคยได้ยินไหมคะ ว่ามีการจองโรงเรียนอนุบาลให้ลูกตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง เมื่อคลอดลูกแล้วก็ไปจ่ายค่าเทอมไว้เลย แต่กว่าจะเรียนก็อีก 3 ปีข้างหน้านะ เรียกว่าเป็นการจองที่เรียน และได้ราคาค่าเทอม ณ ปัจจุบัน เพราะอีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่าค่าเทอมต้องขึ้นแน่นอน"

          นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของการใช้จ่ายเงินในการเลี้ยงลูก อาจจะเป็นส่วนน้อยที่เป็นแบบนี้ แต่การวางแผนการเงินในการเลี้ยงลูก ไม่ใช่เรื่องที่ไปหาเอาดาบหน้าอีกต่อไป จะด้วยภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันที่นับวันจะมีมากขึ้น การแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาดำรงชีวิตในภายภาคหน้านับวันจะรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นการวางแผนการเงินในการเลี้ยงลูก พ่อแม่ต้องไม่มองข้ามนะคะ

         มองหารายได้ สำรวจรายจ่าย

          ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่าปัจจุบันครอบครัวมีรายได้เท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ การจดบันทึกรายรับรายจ่าย บางคนจดแต่รายจ่ายสำคัญ เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ แต่ไม่ได้จดรายจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ค่าอาหารในแต่ละวัน ค่าซื้อของจิปาถะ ซึ่งรายจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่แหละค่ะ ที่ทำให้เราทราบว่าเราใช้จ่ายสิ่งใดที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง เพื่อการใช้จ่ายครั้งต่อไปจะได้มีความระมัดระวังมากขึ้น

         เพิ่มรายได้ ไม่เสียงานประจำ

          ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีฐานรายได้จากเงินเดือนปกติ ก็ต้องมาดูแล้วว่ารายได้ที่มีนั้นเพียงพอกับรายจ่ายไหม ถ้าไม่เพียงพอก็ต้องหาวิธีเพิ่มรายได้ ส่วนใหญ่ก็มักนึกถึงการขายของนอกเวลาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการขายตามตลาดนัด เสาร์-อาทิตย์ การขายของออนไลน์ การขายประกันชีวิต บางท่านมีทุนมากสักนิดก็อาจเปิดร้านขายกาแฟ แล้วจ้างคนทำงาน เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ยังมีการลงทุนอื่น ๆ อีก แต่ต้องอาศัยทักษะพอสมควร เช่น การลงทุนในตลาดหุ้น ในส่วนของการเพิ่มรายได้นี้ มีข้อต้องระวังเช่นกัน

          - ไม่ลงทุนจนต้องเป็นหนี้ หรือบัญชีติดลบ
          - เลือกสินค้าที่ตัวเองมีความสนใจ รู้จักแหล่งในการนำสินค้ามาขาย
          - จัดการกับช่องทางการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          - ไม่เบียดเบียนเวลางานประจำ และควรมีเวลาคุณภาพให้กับครอบครัวหรือถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นเจ้าของธุรกิจกันอยู่แล้ว ก็อาจจะมองหาธุรกิจอื่นควบคู่กันไปด้วย เป็นหลักประกันรายได้เพิ่มเติม เป็นต้น

เก็บก่อนจ่าย

         เก็บก่อนจ่าย

          หลายครอบครัวประสบปัญหาการเงิน ทั้ง ๆ ที่รายได้ก็ไม่ได้น้อยอะไร นั่นเป็นเพราะการจัดสรรปันส่วนเงินไม่ถูกสัดส่วน "เงินออม" เป็นเงินสำคัญที่ถือเป็นหลักประกันสำหรับการใช้จ่ายในอนาคต ทั้งกับตัวเองและลูก ๆ หลักของการออมเงินที่ถูก ที่เราได้ยินกันทุกครั้งคือ เมื่อมีรายได้ ต้องเก็บก่อนส่วนหนึ่ง แล้วจึงนำเงินที่เหลือไปใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ออม 10% ของรายได้ ถ้าเก็บมากกว่านี้

         ได้เป็นดี

          แต่ที่มักไม่เหลือออมเพราะ การมี "หนี้" เมื่อมีรายได้เข้ามา จึงต้องจ่ายหนี้ก่อน ส่วนรายจ่ายประจำก็ยังอยู่คงเดิม ฉะนั้นเงินออมเลยหดหาย มาถึงบรรทัดนี้แล้ว ก็ต้องบอกว่า “ต้องหลีกเลี่ยงการเกิดหนี้สินที่ไม่จำเป็น” หรือ พยายามชำระหนี้ให้หมด เงินออมคุณก็จะงอกเงยให้เห็นเร็ววัน

         เก็บเงินระยะยาว

          การออมเงินมีหลายรูปแบบ เช่น การฝากเข้าบัญชีธนาคาร เลือกรูปแบบการฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูง การซื้อหน่วยลงทุนต่าง ๆ การซื้อทอง สลากออมสิน ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

         เลือกเป็นหนี้

          การเป็นหนี้ไม่ได้มีข้อเสียเพียงอย่างเดียว ถ้าคุณมีวินัยในการจ่ายหนี้ ขยันหาเงิน และหนี้นั้นก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต

          - หนี้ซื้อบ้าน ที่ดิน หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่คุณสามารถจัดการดูแลได้ หนี้ชนิดนี้สามารถงอกเงยเป็นรายได้ต่อในอนาคต แต่ต้องมั่นใจในการจัดการจ่ายหนี้ให้เหมาะสม
          - เป็นหนี้เมื่อจำเป็น เช่น การทำการค้า การเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุฉุกเฉิน
          - หนี้จากการขยายกิจการ

หนี้ที่ต้องหลีกเลี่ยง

         หนี้ที่ต้องหลีกเลี่ยง

          การใช้จ่ายเงินบางครั้ง อาจจะเกิดความเพลิดเพลินในการใช้จ่าย หรือคิดว่าซื้อไปก่อน ผ่อนทีหลัง แบบนี้มักจะทำให้เรากลุ้มใจในระยะยาว

          - หนี้บัตรเครดิตจากการใช้จ่ายสิ่งของที่ไม่จำเป็น
          - หนี้จากการกิน ดื่ม เที่ยว ที่มากเกินพอดี

         เลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง

          พ่อแม่ย่อมอยากให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่ดีที่สุด คือ สิ่งที่เหมาะสม เกิดประโยชน์ และคุ้มค่า ดังนั้นการใช้จ่ายจะเพื่อลูกหรือตนเองต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย

          หลายครอบครัวอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ แต่ถ้าส่งลูกเข้าเรียน แล้วต้องทำงานหนักขึ้นหลายเท่าตัว สุดท้ายก็เกิดความเครียด ครอบครัวก็ไม่ได้รับความสุขอย่างที่ควรจะเป็น แบบนี้คือ เส้นทางที่สุดโต่งเกินไป ฉะนั้นเราควรหันกลับมาทำความเข้าใจตนเอง และหาวิธีที่เหมาะสมกับรูปแบบการดำรงชีวิต เช่น ถ้าลูกเราไม่ได้เรียนโรงเรียนนานาชาติ แต่คุณพ่อคุณแม่ทำการบ้านกับลูก มีเวลาติวภาษาให้กับลูกเอง ใช้เวลาในการฝึกภาษาไปพร้อม ๆ กับลูก ครอบครัวเกิดความสุข ลูกเติบโตอย่างมีสุขภาพจิตใจที่ดี พร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไป แบบนี้ดีกว่าค่ะ

          ของแพง ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป เช่น เสื้อผ้าลูกก็ไม่จำเป็นต้องมีแบรนเท่านั้น แต่เลือกให้เหมาะกับสภาพอากาศ กาลเทศะ คำนึงถึงการใช้งาน รวมถึงของใช้ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ก็จะทำให้เรารู้จักระมัดระวังในการใช้จ่าย เป็นตัวอย่างที่ถูกต้องให้กับลูก เรียกว่า ลูกเรียนรู้เรื่องการเงินไปพร้อม ๆ กับพ่อแม่ได้เลย แต่ถ้าเรายังซื้อแต่ของแพงเท่านั้น ไม่เคยบอกให้ลูกรู้จักเลือกของที่จำเป็น ใช้ให้คุ้มค่า เมื่อลูกอยู่ในวัยที่ต้องใช้จ่ายเงินเอง เมื่อนั้นคุณจะเปลี่ยนมาสอนลูกยากมาก ๆ

เก็บเพื่อลูก และตัวเอง

         เก็บเพื่อลูก และตัวเอง

          การวางแผนการใช้จ่ายเงิน การเก็บเงิน ไม่ใช่แค่การเลี้ยงลูกในระยะยาวเท่านั้น แต่หมายถึงบั้นปลายชีวิตของตัวเองด้วย ถึงแม้เมื่อเราแก่ตัวไป หลายคนฝากความหวังไว้ที่ลูก ว่าลูกจะมาเลี้ยงพ่อแม่ สมัยก่อนอาจคิดแบบนี้ แต่ปัจจุบันที่เรามีลูกกันช้าลง และมีจำนวนลูกน้อยลง ถ้าลูก 1 คน ต้องรับภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ 2 คน ย่อมเป็นภาระหนักหนาไม่น้อย หรือลูกอายุยังน้อยเพิ่งเริ่มการทำงาน แต่พ่อแม่ถึงวัยเกษียณจากการทำงานแล้ว ฉะนั้นการจัดการเงินต้องนึกถึงยามบั้นปลายชีวิตที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะสามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้ ซึ่งแต่ละคนย่อมมีรูปแบบไม่เหมือนกัน แต่ก็ควรฉุกคิด และวางแผนก่อนที่จะสายเกินไป

         สิ่งที่สำคัญกว่าการวางแผนการเงิน

          ที่ผ่านมาเรากล่าวถึงเรื่องการจัดการด้านการเงิน แต่เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การสอนให้ลูกรู้จักการใช้จ่าย แน่นอนเด็ก ๆ เมื่อถึงวัยหนึ่งเขาก็จะจับจ่ายใช้สอยได้ แต่เราจะปลูกฝังให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงินได้อย่างไร

          เป็นแบบอย่าง

          เรื่องนี้สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก ๆ เพราะลูกอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ พฤติกรรมที่พ่อแม่แสดงออก ลูกจะซึมซับถึงแม้จะบอกว่าไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่ด้วยความใกล้ชิดย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น

          - ใช้ของที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าก่อนการซื้อชิ้นใหม่ทุกครั้ง
          - มีการจดรายรับรายจ่าย และพูดคุยกันภายในครอบครัว
          - ไม่ปิดบังฐานะ หรือค่าใช้จ่ายของครอบครัว เป็นการพูดคุยให้ลูกรับรู้เรื่องราว และสอนลูกไปด้วย
          - สอนให้ลูกจดรายรับรายจ่ายของตนเองพร้อมทั้งมีบัญชีออมให้ลูก ถ้าเป็นเด็กเล็กก็ให้มีกระปุกออมสิน
          - รู้จักเก็บเงินเองถ้าลูกต้องการสิ่งของที่เกินความจำเป็น แต่พ่อแม่ก็ต้องรู้จักให้เหตุผลกับลูกก่อนการซื้อ
          - สอนเรื่องความถูกต้องของการได้เงินมา และการใช้เงินในการบริจาคการกุศลในเหตุผลที่สมควร

          เรื่องเงิน คือเรื่องใหญ่ในการดำรงชีวิตให้ราบรื่น แต่เงินไม่ใช่ตัวตัดสินชีวิต ถ้าเรารู้จักใช้เงินให้เป็น รู้จักบริหารเงิน ไม่ว่าจะเลี้ยงลูกกี่คนถ้าคุณมีแรงในการหา มีวิธีจัดการและรู้จักสอนให้ลูกใช้เงินเป็น ชีวิตครอบครัวก็จะมีสุข อย่างที่เงินซื้อไม่ได้นะคะ
 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 Vol.10 No.110 กุมภาพันธ์ 2557





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลี้ยงลูก 1 คน ใช้เงินอะไรบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 14 พฤษภาคม 2557 เวลา 10:50:48 5,311 อ่าน
TOP