x close

ไขข้อสงสัย สรรพากรขึ้น VAT 10% จริงหรือ ?

ไขข้อสงสัย สรรพากรขึ้น VAT 10% จริงหรือ ?

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงอย่างมาก สำหรับกรณีที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 10% ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้เหลืออยู่ที่ 7% โดยที่จะครบกำหนดสิ้นสุดการลดภาษีในจำนวนดังกล่าวช่วง เดือนกันยายน 2557 และด้วยประเด็นร้อนแรงขนาดนี้อาจสร้างความกังวลใจให้ใครหลายต่อหลายคน กระปุกดอทคอมจะมาอธิบายให้กระจ่างชัดเพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวกันครับ

         VAT คืออะไร ?

          ใครหลายต่อคนคงสงสัยกันบ้างใช่ไหมว่า "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" หรือ VAT คืออะไร ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีทางอ้อมที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ หมายความว่าทุกครั้งที่เราจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการตามร้านที่จดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เป็นต้น ก็จะต้องถูกบวกภาษี 7% เพื่อนำส่งให้กับกรมสรรพากร สำหรับประเทศไทยนั้นเริ่มมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นครั้งแรกในปี 2535 และจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่อัตรา 7% เพื่อนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาบริหารโครงสร้างทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของประเทศ โดยกระทรวงการคลังได้นำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้จัดเก็บ เนื่องจากเชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการจัดเก็บมากกว่าภาษีการค้านั่นเอง

         ใครมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

          ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ยังรวมไปถึงผู้ผลิตและผู้ให้บริการขายส่ง ผู้ขายปลีก ส่งออก ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคล หรือนิติบุคคลใด ๆ โดยหากรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ต้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ

         จาก VAT 7% แล้วเหตุใดกลับไปเก็บ VAT 10% ?

          หากรัฐบาลจะเก็บภาษีเป็น 10% จะกระทำได้ไหม ? เดิมทีว่าด้วยเรื่องข้อกฎหมายกันก่อน เนื่องจากพระราชกฤษฎีกามีการกำหนดอัตราการเก็บภาษีสูงสุดที่ 10% อยู่แล้ว และเป็นอัตรา 6.3% บวกกับภาษีที่ต้องจัดสรรให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นอีกในอัตรา 1 ใน 9 ของอัตราภาษีที่จัดเก็บ รวมเป็นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 7% อย่างที่กล่าวมาข้างต้น อัตราดังกล่าวเป็นอัตราคงที่ในการจัดเก็บมาอย่างยาวนานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และตอนนี้รัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจ ซึ่งอำนาจในการพิจารณาขึ้นเป็น 10% อยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้อนุมัติ

VAT 10%

         ปี พ.ศ. 2540 ยุควิกฤตต้มยำกุ้ง VAT ทะยานแตะ 10%

          หากย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2540 ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เข้ามาเสนอให้มีมาตรการให้ประเทศไทยรัดเข็มขัด และปฏิบัติวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัดในการขึ้น VAT 10% ซึ่งถือได้ว่า การขึ้น VAT เป็นอาวุธทางการเงินที่รัฐบาลมักนำมาใช้เมื่อประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ เพื่อเก็บสำรองเงินคงคลังที่ไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้

          แต่ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ในปี 2540 เท่านั้น การหนุนให้ประเทศไทยขึ้น VAT 10% มีมาอย่างต่อเนื่องทั้งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสมัยพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ท้ายสุดแล้วก็ต้องพับโครงการไป

         1 ตุลาคม 2557 เริ่มเก็บภาษีใหม่ 10% จริงหรือ ?

          เดิมทีกฎหมายได้กำหนดอัตราภาษีไว้สูงสุดที่ 10% อยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาใช้จริงก็เรียกเก็บที่ 7% และจะมีการพิจารณาการต่ออายุอัตราการจัดเก็บภาษีทุก 2 ปี ของแต่ละรัฐบาลที่เข้ามาบริหารในขณะนั้น โดยจะสิ้นสุดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในเดือนกันยายน 2557 และจะเริ่มเข้าสู่การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โดยเตรียมจัดเก็บภาษี (VAT) ที่ 10% ตามกฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางด้านการเมือง เนื่องจากรัฐบาลรักษาการทำได้เพียงพิจารณาที่จะปรับ ลด หรือต่ออายุอัตราภาษี ที่ 7% เท่านั้น และสิ่งสำคัญคือจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการจัดสรรงบ เป็นผู้อนุมัติในขณะนี้

          แม้รัฐบาลรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะออกมาชี้แจง แต่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ในอัตรา 10% อาจกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลรักษาการ ซึ่งคงต้องจับตามองว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้มีอำนาจ จะอนุมัติให้เรียกเก็บภาษีคงที่ 7% หรือไม่ และหาก กกต. ตัดสินใจอนุมัติขึ้นภาษีเป็น 10% คงต้องทำความเข้าใจและอาจจะต้องแจงเหตุจำเป็นที่ต้องการเก็บภาษีกับประชาชนเพิ่มเติม

          อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแท้จริงนั้น คือ 10% แต่ที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่า 7% มาตลอด มาจากการพิจารณาลดภาษี ดังนั้นหากกลับไปที่อัตราสูงสุด 10% ก็ยังอยู่ในกรอบที่สามารถทำได้ แต่ประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบมากขึ้น

          ลำดับที่มาการลดภาษี 7%


ปี 2535 - VAT 7%

          - ตามพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร จากอัตรา 10% ให้ลดลงเหลือ 6.3% และจ่ายให้ท้องถิ่นคำนวณ 6.3+0.7 = 7%
          - บังคับใช้การจับเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535
          - กระทรวงการคลังมอบให้กรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บ

ปี 2540 - VAT 10% (วิกฤตต้มยำกุ้ง)

          - ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
          - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เสนอให้มีมาตรการให้ประเทศไทยรัดเข็มขัด และปฏิบัติวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัดในการขึ้น VAT 10%

ปลายปี 2540 - VAT 7%

          - พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก จนต้องลอยตัวค่าเงินบาท
          - รัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีการปรับลดภาษีฯ จาก 10% เป็น 7%

ปี 2557 (ปัจจุบัน) - VAT 7%

          - หมดอายุต่อเวลาลดภาษี 7% สิ้นสุดเดือนกันยายน 2557
          - ครม. รักษาการ ยื่นขอต่อมาตรการลดภาษีคงที่ 7%
          - รอ กกต. พิจารณาว่าจะอนุมัติต่อภาษีฯ ที่ 7% หรือไม่ ก่อนบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 หากไม่ต่ออายุภาษีฯ 7% จะปรับเป็น 10%



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


rd.go.th







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อสงสัย สรรพากรขึ้น VAT 10% จริงหรือ ? อัปเดตล่าสุด 30 เมษายน 2557 เวลา 13:57:04 15,428 อ่าน
TOP