x close

“หย่าร้าง” แต่กู้บ้านร่วมกันจะทำอย่างไรดี

หย่าร้าง แต่กู้บ้านร่วมกันจะทำอย่างไรดี

“หย่าร้าง” แต่กู้บ้านร่วมกันจะทำอย่างไรดี

          แต่งงานแล้วเลิกกันก็ทุกข์ใจมากพอ แล้วภาระผ่อนบ้านที่มีอยู่ จะทำอย่างไรดี อันดับแรกต้องตั้งสติก่อนค่ะ ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ สามีภรรยาก็เหมือนลิ้นกับฟันที่อาจจะกระทบกันบ้างแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ใจเย็นๆ ค่อยพูดคุยกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน บางครั้งคุณก็อาจจะกลับมาเป็นคู่รักที่หลายๆ คนอิจฉา แต่หากต้องแยกกันอยู่จริง ใครเป็นเจ้าของบ้านอยู่ หรือใครจะเป็นผู้รับภาระในการผ่อนต่อ อันนี้ต้องพูดคุยกันให้ชัดเจนนะคะ และที่สำคัญอย่าหยุดผ่อนบ้าน เพราะดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นจนอาจกลายเป็นภาระจำนวนมาก กรณีที่ตกลงกันไม่ได้หากฝ่ายหนึ่งอยากผ่อนต่อ แต่อีกฝ่ายไม่อยากผ่อนก็จะเป็นปัญหายุ่งยากให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความให้เสียประวัติกันอีก เพราะฉะนั้นแล้วตกลงร่วมหาทางออกด้วยกันให้สบายใจทั้ง 2 ฝ่าย จะดีกว่าค่ะ

          ในทางกฎหมายนั้นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในตัวบ้านจะเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ที่ด้านหลังโฉนดค่ะหากคุณเป็นคู่แต่งงานที่ทำสัญญากู้ซื้อบ้านร่วมกัน แต่หลังโฉนดเป็นชื่อของภรรยาฝ่ายเดียว แบบนี้แสดงว่าสามีต้องรักและเชื่อใจภรรยามาก คู่แต่งงานที่รักกันขนาดนี้หากต้องเลิกกันไปคงเสียใจน่าดูลองปรับความเข้าใจกันดูก่อนดีกว่าค่ะ แต่หากต้องแยกกันอยู่จริง แล้วภรรยาเป็นผู้ผ่อนชำระบ้านต่อ แบบนี้ไม่ยุ่งยากค่ะ เนื่องจากกรรมสิทธิ์เป็นของภรรยาอยู่แล้ว เพียงแต่คู่สามีภรรยาจะต้องมาทำเรื่องเปลี่ยนแปลงสัญญาเงินกู้ให้เป็นชื่อของภรรยาคนเดียวที่ธนาคาร ทางธนาคารก็จะทำการพิจารณาเอกสารการหย่าร้าง แหล่งที่มาของรายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ ประวัติการชำระหนี้สินที่ผ่านมา โดยจะมีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับตอนทำสัญญาเงินกู้ในครั้งแรก เพราะเปรียบเสมือนว่าต่อไปนี้ผู้ผ่อนชำระจะเหลือเพียงภรรยาผู้เดียว


          ตรงกันข้าม หากต้องการแก้ชื่อผู้ทำสัญญาและผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น สามีภรรยากู้ร่วมและด้านหลังโฉนดก็เป็นชื่อของทั้งคู่หากต้องการเปลี่ยนแปลงให้เหลือเพียงคนใดคนหนึ่ง แบบนี้ค่อนข้างลำบากทีเดียวค่ะ เพราะจะต้องทำเรื่องเปลี่ยนแปลงสัญญากับทางธนาคาร และทำการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินด้วย เริ่มต้นให้ติดต่อกับธนาคารเพื่อแจ้งความประสงค์ดังกล่าว การทำสัญญาเงินกู้ใหม่จะได้รับวงเงินเท่ากับจำนวนหนี้ผ่อนบ้านที่เหลืออยู่นะคะ และทางธนาคารก็จะพิจารณาเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบเหมือนตอนมาขอกู้ครั้งแรก เช่น ความสามารถในการผ่อนและภาระหนี้ในปัจจุบัน

          นอกจากนี้ แนะนำให้ระบุวันที่ต้องการทำการเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมสิทธิ์ หรือที่เรียกว่า การจดจำนองใหม่ ซึ่งจะเป็นการนัดวันที่ทำสัญญาที่กรมที่ดินในเขตพื้นที่นั้นๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินนั้นจะต้องมีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย เช่น หากชื่อหลังโฉนดเป็นชื่อสามีและภรรยาทั้งคู่ แต่ต้องการเปลี่ยนให้สามีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้เดียว ภรรยาก็จะต้องเป็นผู้ขายบ้านหลังนี้ให้สามีแน่นอนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าจดจำนองภาษีใหม่ ค่าโอน ค่าธรรมเนียมเป็นต้น


          แต่หากคู่สามีภรรยาตกลงขายบ้าน โดยไม่มีผู้ใดประสงค์จะผ่อนต่อ ส่วนแบ่งของกำไรหรือหนี้ที่เหลือหลังจากการขายจะขึ้นอยู่กับการจดทะเบียนสมรสค่ะ ถ้าบ้านหลังนี้ได้มาภายหลังการจดทะเบียนกำไรหรือหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสจะแบ่งคนละครึ่งเพราะถือว่าเป็นสินสมรสค่ะ แต่หากบ้านนี้มีมาก่อนจดทะเบียนสมรสให้ต่างฝ่ายต่างรับผิดชอบของตนเอง

          เห็นไหมคะว่าการหย่าร้างแบ่งสินสมรสเป็นเรื่องวุ่นวายและมีค่าใช้จ่ายทางที่ดีปรับความเข้าใจกัน นึกถึงวันวานที่หวานอยู่ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไขชีวิตให้ผ่านพ้นปัญหานี้และขอเป็นกำลังใจให้กับคู่รักทุกคู่ค่ะ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกออบจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
“หย่าร้าง” แต่กู้บ้านร่วมกันจะทำอย่างไรดี อัปเดตล่าสุด 5 มีนาคม 2557 เวลา 10:52:55 7,937 อ่าน
TOP