ข้อมูลพื้นฐานที่ควรรู้ ก่อนตัดสินใจลงทุนทองคำ

          เห็นราคาทองปรับตัวขึ้น ๆ ลง ๆ ในรอบหลายปีอยู่หลายครั้ง ชวนให้คนมีเงินเย็นก้อนใหญ่ ๆ นึกอยากลงทุนทองคำดูสักตั้ง เพราะเห็นว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง จึงน่าสนใจไม่น้อย แต่ก่อนจะตัดสินใจลงทุนทองคำ ลองมาศึกษาข้อมูลกันก่อนดีกว่า เริ่มจากข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับทองคำที่กระปุกดอทคอมนำมาฝากกันในวันนี้

ลงทุนทองคำ

มารู้จักทองคำกันก่อน

          ทองคำ (Gold) มีสัญลักษณ์ทางเคมีคือ Au เป็นธาตุโลหะสีเหลืองทองมันวาว ถูกยกให้เป็นโลหะมีค่าชนิดเดียวที่ มีคุณสมบัติพื้นฐาน 4 ประการ นั่นคือ งดงามมันวาว (Lustre) คงทน (Durable) หายาก (Rarity) และนำกลับไปใช้ได้ (Reuseable) ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้นี่เอง ทำให้ "ทองคำ" เป็นที่หมายปองของคนทั่วโลก และถูกนำมาตีมูลค่าเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ

          หน่วยน้ำหนักของทองคำที่ถือว่าเป็นหน่วยสากล คือ "กรัม" แต่ในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา จะนิยมใช้ "ทรอยออนซ์" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "ออนซ์" ส่วนที่ประเทศไทยจะใช้ "บาท" โดยสามารถแปลงหน่วยได้ดังนี้

ทองคำความบริสุทธิ์ 96.5% (มาตรฐานในประเทศไทย)

          - ทองรูปพรรณ น้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.16 กรัม

          - ทองคำแท่ง น้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.244 กรัม

          ทองคำความบริสุทธิ์ 99.99%

          - ทองคำ 1 กิโลกรัม เท่ากับ 32.1508 (ทรอย) ออนซ์

          - ทองคำ 1 (ทรอย) ออนซ์ เท่ากับ 31.1040 กรัม

ใครเป็นคนกำหนดราคาทองคำในประเทศไทย ?


          ผู้ กำหนดราคาทองคำในประเทศไทย คือ คณะกรรมการของสมาคมค้าทองคำ ซึ่งมีหลายคน และมีที่มาจาก 3 กลุ่มคือ ผู้นำเข้าและส่งออกทองคำ, ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกรายใหญ่ โดยจะเข้ามาร่วมพิจารณาราคาเพื่อให้สอดคล้องสมดุลกับตลาดในประเทศและต่างประเทศ

วิธีตั้งราคาทองในประเทศไทย

          การกำหนดราคาทองคำในประเทศไทยจะขึ้นอยู่กับ 4 ตัวแปรหลัก คือ

          1. Gold Spot คือ ราคาทองคำในต่างประเทศ ซึ่งที่เราเห็นในเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะเป็นราคาโดยประมาณ (Indicative Price) ไม่ใช่ราคาที่ใช้ซื้อขายกันจริง ซึ่งราคาดังกล่าวมักจะมีความคลาดเคลื่อน จากราคา Real Time ของโบรกเกอร์ ประมาณ 1-5 เหรียญต่อออนซ์ ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดทองคำในขณะนั้น

          2. อัตราเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งที่เห็นประกาศในเว็บไซต์ก็มีความคลาดเคลื่อน 0.04 - 0.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับราคาทองคำ

          3. อัตราค่า Premium หรือ ค่าใช้จ่ายขนส่งต่าง ๆ ในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ ซึ่งก็มีทั้งบวกและลบ โดยหากเรานำทองเข้า ค่า Premium ก็จะเป็นบวก ตรงกันข้าม หากส่งออกไปขายต่างประเทศ ค่า Premium จะเป็นลบ เรียกว่า Discount

          4. ภาวะตลาดค้าทองคำในประเทศ คือ  Demand และ Supply ภายในประเทศ หมายถึงความต้องการซื้อจริง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าคนมีกำลังซื้อมาก แค่ไหน หากเศรษฐกิจดี คนก็ต้องการบริโภคทองคำมากขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดราคา จะพิจารณาจากปริมาณ และราคาจากการซื้อขาย ระหว่าง

          - ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกทองคำ

          - ร้านค้าทองเยาวราช

          - ร้านค้าส่งทองคำ

          - ร้านค้าปลีกทองคำ

          - ผู้ลงทุนทองคำรายใหญ่

          - ผู้ลงทุนทองคำรายย่อย

          ทั้งนี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คน อาจจะเคยลองเข้าไปดู Gold spot จากเว็บไซต์ต่างประเทศ แล้วมาลองคำนวณ แต่กลับพบว่าราคาไม่ตรงกับที่ขาย ในตลาดประเทศไทย นั่นเพราะผู้คำนวณไม่ได้คิดค่า Premium รวมถึงค่าความคลาดเคลื่อนอื่น ๆ รวมเข้าไปด้วย ซึ่งหากรวมแล้ว จะได้ราคาที่สะท้อนความเป็นจริงในการซื้อขายที่มีการส่งมอบทองจริง ดังนั้น จึงต้องใช้สูตร

          ราคาทองนอก 99.99% = (ราคาทองต่างประเทศ ที่ส่งมอบจริง ๆ + Premium) x ค่าเงินบาท ที่ส่งมอบจริงๆ x 0.49 (ค่าที่แปลงหน่วยออนซ์มาเป็นบาททองคำ)



ขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมทองคำ, wikipedia, taradthong, classicgold
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้อมูลพื้นฐานที่ควรรู้ ก่อนตัดสินใจลงทุนทองคำ อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14:25:31 7,573 อ่าน
TOP
x close