x close

อยากมีรถคันแรก จะเตรียมตัวและวางแผนการเงินอย่างไรดี

วางแผนการเงิน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          สมัยนี้แม้จะเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกสบายมากขึ้นด้วยบริการขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ รถไฟลอยฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ก็ยังปฏฺิเสธไม่ได้ว่า "รถยนต์ส่วนตัว"  ก็นับเป็นพาหนะที่สำคัญสำหรับชีวิตใครหลาย ๆ คนไม่น้อย ความใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของรถสักคัน จึงเป็นความฝันอันดับต้น ๆ ที่ผู้คนมี แต่รถหนึ่งคันราคาก็ไม่ใช่น้อย ๆ จึงต้องมีการเตรียมแผนทางการเงินไว้ให้ดีเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระที่เกินจะแบกรับไหวในภายหลัง งั้นลองมาดูกันว่าถ้าอยากมีรถใหม่สักคัน ต้องเตรียมตัวและวางแผนการเงินอย่างไรดี

ความต้องการของตัวเอง

          สำรวจความต้องการของตัวเอง "แค่อยากได้" หรือ "จำเป็นต้องมี" ?

          เริ่มต้นกันที่การสำรวจความต้องการของตัวคุณเองก่อน คุณรู้สึกว่า "ตัวเองอยากได้รถ" หรือว่า "จำเป็นต้องใช้รถ" กันแน่ ที่จริงแล้วคำถามนี้จะไม่ใช่ปัญหาเลย หากว่าคุณมีการเงินที่คล่องตัว มีเงินเก็บมีกินมีใช้สบาย ๆ คุณก็สามารถซื้อรถที่คุณ "อยากได้" ได้โดยไม่ลำบากนัก แต่หากว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนรายได้ไม่สูงนักแต่เกิดอยากจะมีรถขับ อันนี้สิเริ่มเป็นปัญหา เว้นเสียแต่ว่าคุณเล็งเห็นแล้วว่าการมีรถเป็นเรื่องจำเป็น และมันจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้นจริง ๆ แบบนี้จึงต้องเริ่มวางแผนการเงินกันแล้ว

รถใหญ่สำหรับครอบครัว

          รู้วัตถุประสงค์การใช้งานที่ชัดเจน

          การรู้จุดประสงค์ความต้องการใช้งานที่ชัดเจนจะทำให้คุณเลือกรถในดวงใจได้ง่ายขึ้น ต้องการรถที่ขับขี่คล่องตัว รถหรูโชว์ไลฟ์สไตล์ รถใหญ่สำหรับครอบครัว หรือทนถึกสำหรับงานแบกขน ก็จะได้โฟกัสไปให้ถูกทาง ไม่ต้องเผชิญปัญหาซื้อรถเล็กแต่ใช้งานหนัก ซึ่งทำให้รถเสื่อมสภาพไว หรือซื้อรถแรงรถใหญ่แต่ใช้ไม่เต็มสมรรถนะก็นับว่าเสียเงินไปเปล่าประโยชน์

          ซื้อสด VS. ซื้อผ่อน

          รถหนึ่งคันก็ราคาหลายแสน (ไปจนกระทั่งหลักล้าน) น้อยคนที่จะมีเงินก้อนขนาดนั้นอยู่ในมือ จึงเลือกที่จะผ่อนจ่ายเสียมากกว่า แต่หากว่าคุณมีเงินสดถึงราคาของรถ และเป็นเงินก้อนที่ไม่ใช่เงินที่กันไว้สำหรับเรื่องฉุกเฉินจำเป็นอื่น ๆ ให้นำเงินก้อนนี้มาซื้อรถเสียเถิด คุณจะได้ซื้อรถในราคาของรถจริง ๆ ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินเหมือนเช่นในกรณีขอกู้เงินซื้อรถ ซึ่งกว่าจะผ่อนจ่ายหมด ธนาคารก็ฟาดดอกเบี้ยคุณไปอื้อ จงจำไว้ว่าเป็นหนี้ก็เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และการไม่เป็นหนี้เป็นลาภอันประเสริฐที่สุด

ดาวน์ต่ำ ผ่อนน้อย

           จำเอาไว้ว่า ดาวน์ต่ำ ผ่อนน้อย ระยะนาน..มักดอกเบี้ยแพง

          ใครที่เบี้ยน้อยหอยน้อยอาจจะชอบใจการกู้เงินซื้อรถที่ดาวน์ต่ำ ให้ผ่อนได้เดือนละน้อย ๆ และระยะเวลาชำระเงินยาวนาน แต่ข้อเท็จจริงที่แฝงอยู่เบื้องหลังเงื่อนไขนี้ก็คือ ดอกเบี้ยมักถีบตัวสูงขึ้นไปพร้อม ๆ กันด้วย เมื่อลองมาคิดเสร็จสรรพดูอีกที ก็จะพบว่าเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารไปเป็นแสน หรือราคาเฉียดครึ่งหนึ่งของราคารถเข้าไปแล้ว จนรู้สึกเสียดายเงินซึ่งตอนนี้ก็ช้าเกินไปแล้ว เพราะฉะนั้นหากคุณกำลังพิจารณาหาสถาบันการเงินเพื่อกู้เงินมาซื้อรถแล้วล่ะก็ ดูระยะเวลา จำนวนเงินในการผ่อน และดอกเบี้ยให้ดี ดาวน์หนักผ่อนมากปลดหนี้เร็วดอกเบี้ยไม่โหดเท่าไหร่ แต่ดาวน์น้อยผ่อนน้อยระยะนานก็ต้องจำยอมเสียดอกเบี้ยให้เขากินไป คำนวณรายจ่ายตัวเองดี ๆ ว่าจะเลือกแบบไหนดีกว่ากันนะ

เรื่องต้องรู้ก่อนกู้

          เรื่องต้องรู้ก่อนกู้ เรื่องต้องรู้ก่อนกู้และค่างวดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน

          การเป็นหนี้เงินกู้เพื่อซื้อบ้านหรือรถนั้นเขาว่ากันว่าเป็นหนี้แห่งความสุข เพราะขณะผ่อนจ่ายไปก็ได้ใช้งานและเมื่อจ่ายหมดแล้วเราก็จะได้ครอบครองเป็นเจ้าของอย่างสมบูรณ์ แต่ความสุขอาจดับมอดไปได้ง่าย ๆ หากคุณคำนวณดอกเบี้ยและเงินค่างวดที่ต้องผ่อนจ่ายในทุก ๆ เดือนไม่เป็น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับซื้อรถนั้นเป็นอัตราคงที่ หรือ Flat rate คือรวมเงินต้นและดอกเบี้ยเข้าด้วยกัน แล้วจึงแบ่งเป็นรายงวด จึงเท่ากับว่ายิ่งระยะผ่อนนาน คุณก็ยิ่งจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นเท่านั้น

          ยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ หากคุณต้องการซื้อรถราคา 550,000 บาท ดาวน์ไปแล้ว 150,000 บาท ต้องกู้เพิ่มอีก 400,000 บาท เงื่อนไขจากสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี ระยะผ่อนชำระ 5 ปี (หรือ 5×12 = 60 เดือน) คุณจะคำนวณเงินผ่อนที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนได้ด้วยวิธีนี้

          จำนวนเงินผ่อนต่อเดือน = [วงเงินที่กู้ + (วงเงินที่กู้ × อัตราดอกเบี้ย% × จำนวนปีผ่อนชำระ)] ÷ จำนวนเดือนที่ต้องผ่อน

          อัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระทั้งสิ้น (5% × 5 ปี)    = 25%

          ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดคิดเป็น (400,000 บาท × 25%)    = 100,000 บาท

          รวมเงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องชำระ (400,000 + 100,000)    = 500,000 บาท

          เงินที่ต้องจ่ายแต่ละเดือน (5000,000 ÷ 60 เดือน)    = 8,333.33 บาท


          เพราะฉะนั้นคุณต้องผ่อนชำระเดือนละ 8,333 บาท โดยเสียดอกเบี้ยเปล่า ๆ ให้กับธนาคารไปทั้งหมด 100,000 บาทนั่นเอง แต่หากคุณต้องการผ่อนน้อยลงโดยเพิ่มจำนวนงวดในการผ่อนมากขึ้น เช่น ยืดเวลาออกไปเป็น 8 ปี โดยที่ดอกเบี้ยปีละ 5% เท่าเดิม เมื่อคำนวณด้วยสูตรเดียวกันแล้ว ก็จะพบว่าคุณต้องต้องผ่อนเดือนละ  5,833 บาท ถูกกว่าเดิม แต่ก็เสียดอกเปล่า ๆ ให้กับธนาคารไปถึง 160,000 บาทเลยทีเดียว

          เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ก็น่าจะทำให้คุณมองภาพการกู้เงินซื้อรถได้อย่างเข้าใจมากขึ้นว่ายิ่งจ่ายเงินดาวน์ได้มากก็จะลดจำนวนเงินกู้ลง (เดี๋ยวนี้มีตั้งแต่ดาวน์ 0% ไปจนถึงดาวน์หนัก ๆ 30-40% กันเลยทีเดียว) และยิ่งเลือกผ่อนแบบระยะสั้นปลดหนี้เร็ว ดอกเบี้ยก็มักจะถูกกว่าแบบผ่อนน้อยซึ่งจะกินเวลายาวนานกว่า และเมื่อคิดรวมแล้วผ่อนน้อย ๆ นาน ๆ คุณกลับเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารมากกว่าเสียอีก
ภาระผ่อนรถ
           ภาระผ่อนรถไม่ควรเกิน 20-30% ของรายได้

          หากคุณเงินเดือน 18,000 บาท ต้องผ่อนรถเดือนละ 8,000 บาท ซึ่งปาเข้าไป 44% ของเงินเดือนแล้ว แบบนี้ก็คงลำบากแน่ ๆ เพราะมีเงินเหลือกินเหลือใช้เพียง 10,000 บาท ไหนจะค่าใช้จ่ายรายเดือนอื่น ๆ ที่ยังต้องจ่ายอยู่เป็นประจำ ค่าน้ำมันที่พ่วงเข้ามา ค่าตรวจเช็กสภาพรถตามระยะ บวกค่าตกแต่งรถตามกิเลสที่มี ถ้าต้องใช้จ่ายทั้งหมดในวงเงินที่เหลือแค่ 10,000 บาทนี้ ก็นับว่าฝืดเคืองมากทีเดียว ถ้ามีรถขับแต่ไม่มีเงินเติมน้ำมัน กินมาม่าแทนข้าวทุกมื้อ แถมยังไม่มีเงินออมด้วยก็คงจะไม่ไหว เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรเป็นหนี้เงินผ่อนไม่เกิน 20-30% ของรายได้ดีกว่า จะได้ไม่ลำบากขัดสนเกินไปนะ

ตระเวนดูรถจากตัวแทนขายหลาย ๆ เจ้าก่อนตัดสินใจ

           ตระเวนดูรถจากตัวแทนขายหลาย ๆ เจ้าก่อนตัดสินใจ

          แม้จะเสียเวลาตระเวนหลายที่หน่อยแต่มันก็คุ้มค่า เพราะเซลล์ของแต่ละที่อาจให้ข้อเสนอที่แตกต่างกันไป บางเจ้าไม่ลดเลย บางเจ้าลดให้มากแต่ไม่มีของแถม บางเจ้าไม่ลดแต่ของแถมเพียบ หรือบางเจ้าลดด้วยให้ของแถมด้วย (แม้ว่าที่จริงราคาของแถมจะแอบบวกรวมไปกับตัวรถแล้วก็เถอะ) ยิ่งดูเยอะคุณก็ยิ่งมีตัวเลือกมาก และสามารถหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดให้กับตัวเองได้ง่ายขึ้น

หาข้อมูลรถ

          หาข้อมูลรถรุ่นที่ต้องการให้ปึ้กก่อนซื้อ

          อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าต้องเริ่มจากตัวคุณเองที่ต้องรู้ก่อนว่า อยากได้รถแบบไหน เพราะอะไร รถมีฟังก์ชั่นอย่างไรบ้าง สมรรถนะการขับขี่ดีไหม เรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างไรบ้าง การบริการของศูนย์เป็นอย่างไร ฯลฯ การเตรียมข้อมูลของรถที่ตัวเองอยากได้ให้แน่นปึ้ก จะทำให้คุณคุยกับเซลล์ได้ง่ายขึ้น และไม่ตกหลุมง่าย ๆ กับข้อเสนอหรือกลการค้าต่าง ๆ ที่ผู้ขายนำมาใช้ล่อใจด้วย

เจรจาต่อรองราคา

           เจรจาต่อรองราคาให้ได้ตรงหรือใกล้เคียงตามที่คุณต้องการมากที่สุด

          ผู้เป็นเซลล์ไม่ได้เสนอข้อเสนอที่ดีที่สุดหรือราคาที่ดีที่สุดให้กับคุณเสมอไปแน่นอน ก็มันเป็นธุรกิจนี่นา จะมีใครยื่นข้อเสนอที่ทำให้ตัวเองเสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์น้อยกันล่ะ ฉะนั้นคุณจึงต้องเซตราคาที่ตัวเองต้องการไว้ในใจ และต่อรองราคาให้ได้ตามที่คุณต้องการมากที่สุด (แต่อย่าลืมทำการสำรวจราคาตลาดก่อนเดินเข้าโชว์รูมด้วยล่ะ) อย่าเผลอรับข้อเสนอจากผู้ขายโดยทันทีในคราวแรก ไม่อย่างนั้นอาจต้องเสียใจเมื่อได้รู้ว่าเพื่อนของคุณถอยรถใหม่รุ่นเดียวกันได้ในราคาถูกกว่าหลายพัน หรือยิ่งเป็นหลักหมื่นก็ยิ่งเจ็บใจ

เทิร์นรถเก่า

           เทิร์นรถเก่าเพื่อเอารถใหม่

          ดีลเลอร์บางเจ้ารับเทิร์นรถด้วย ซึ่งก็จะดีกับคุณมากในแง่ที่ช่วยผ่อนค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อรถคันใหม่ แต่อย่างไรก็ดีอย่าเพิ่งรีบร้อนบอกว่าจะเทิร์นรถคันเก่าจนกว่าคุณและผู้ขายจะตกลงราคารถใหม่ที่กำลังจะซื้อได้ตรงใจแล้ว หากบอกไปแต่ทีแรกอาจเจอเซลล์กั๊กราคา และไม่ยอมลดราคาให้ตามที่คุณต้องการได้นะ และแน่นอนว่าคุณก็ต้องไปสำรวจข้อมูลมาก่อนว่ารถคันเก่าที่คุณมีตอนนี้้ราคาขายมือสองในตลาดอยู่ที่เท่าไรแล้ว จะได้ทำข้อตกลงได้อย่างรู้เท่าทันไม่โดนกดราคา

           รถใหม่ VS. รถมือสอง

          หากคุณไม่แคร์เรื่องรถที่ได้ว่าต้องเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด หรือต้องการเทคโนโลยีล่าสุดเกี่ยวกับยานยนต์ ลองมองรถมือสองดูบ้างก็เป็นตัวเลือกที่ดี การซื้อรถไม่เหมือนซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะในขณะที่บ้านและที่ดินยิ่งนานวันก็มีแต่ราคาจะยิ่งเพิ่ม แต่รถนั้นเมื่อซื้อมาแล้วราคากลับยิ่งลดลง คำนวณคร่าว ๆ ว่าราคารถรุ่นหนึ่ง ๆ จะตกลงได้มากถึง 25-40% ในเวลาเพียง 2 ปี เพราะฉะนั้นเพื่อประหยัดเงินให้มาก ก็มองหารถมือสองอายุสัก 1-2 ปี ซึ่งยังไม่นับว่าเก่ามากมาใช้อาจจะดีกว่า แต่เรื่องความน่าเชื่อถือของเจ้าของเก่าและสภาพรถที่ขายต่อก็ต้องตรวจสอบเสียให้ละเอียดแน่ชัดก่อนจะตัดสินใจ

ซื้อรถโมเดลของปีที่แล้ว

           ซื้อรถโมเดลของปีที่แล้ว.. ได้ราคาประหยัดกว่า

          อย่างที่บอกว่ารถราคาตกไว เพราะฉะนั้นหากอยากได้รถใหม่และไม่ใช่มือสอง ลองมองรถที่ไม่ใช่รุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งออกมาตีตลาดดูสิ อย่างรถโมเดลของปีที่แล้วราคาจะน่ารักย่อมเยาว์มากกว่ารถรุ่นใหม่ที่เพิ่งบุกตลาดแน่นอน เพราะเมื่อมีรุ่นใหม่ ๆ ออกมา ดีลเลอร์ย่อมตัดราคารถที่เก่ากว่าลง เป็นโอกาสดีให้คุณได้เป็นเจ้าของในราคาประหยัดกว่าเดิม

           ซื้อรถปลายเดือน อาจได้ราคาที่ดีกว่า

          เพราะเป็นช่วงที่เซลล์กำลังตัดยอดขายในแต่ละเดือน หากรถรุ่นไหนทำยอดขายได้ตามที่ดีลเลอร์ต้องการ เซลล์คนนั้นก็จะได้โบนัสหรือค่าคอมมิสชั่นเป็นพิเศษ และเพื่อทำยอดขายให้ได้ตามเป้า เซลล์อาจลดราคาให้คุณเป็นพิเศษก็ได้นะ

ค่าซ่อมบำรุง

          รถแพง ค่าซ่อมบำรุงก็แพงตาม

          สำหรับผู้นิยมรถหรูก็ต้องเตรียมใจและเตรียมเงินไว้ให้พร้อม เพราะเมื่อคุณมีรถในครอบครอง ค่าใช้จ่ายคุณจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ไม่เพียงเรื่องผ่อนแต่ละเดือนเท่านั้น ยังมีค่าน้ำมัน และที่สำคัญค่าซ่อมบำรุงตรวจเช็กสภาพ เปลี่ยนชิ้นส่วนบางอย่างตามอายุการใช้งาน หรือค่ากิเลสซื้ออุปกรณ์มาแต่งรถ เปลี่ยนเบาะ ล้อแม็กซ์ ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์สำหรับรถหรูก็ย่อมมีราคาแพงกว่ารถทั่ว ๆ ไปด้วย นับว่าหากมีรถหรูหนึ่งคันก็ต้องแบกรับภาระทางการเงินระยะยาวให้ไหว ไม่อย่างนั้นอ่วมแน่ ๆ

          ทั้งหมดนี้ก็เป็นไกด์ไลน์คร่าว ๆ สำหรับผู้ใฝ่ฝันอยากจะมีรถเป็นของตัวเองบ้าง หัวใจของการซื้อรถคือการวางแผนการเงินให้ดี คุณก็จะแฮปปี้กับการมีรถขับและเงินเดือนที่ยังคงมีเหลือใช้อย่างไม่ขัดสน นอกจากนี้รถดี ๆ มักไม่ค่อยได้มาในเวลากระชั้นชิด คุณรู้สึกอยากมีรถตอนนี้แต่เอาเข้าจริง ๆ กว่าจะเจอรถที่ถูกใจใช่เลยทั้งสเปคและราคาอาจจะเป็นอีก 5-6 เดือนข้างหน้าก็ได้ จงใจเย็น ๆ ตระเวนดูที่โชว์รูมหลาย ๆ แห่ง สำรวจรถหลายยี่ห้อ ลองถามเพื่อนที่ใช้รถรุ่นเดียวกัน ขอทดลองขับ สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้และปัญหาเกี่ยวกับรถจากเว็บบอร์ดและคลับคนรักรถต่าง ๆ ดู สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณเลือกรถคันแรกได้อย่างตรงใจมากขึ้น และหลังซื้อรถแล้วก็อย่าลืมดูแลรักษาสม่ำเสมอ รวมทั้งขับอย่างประหยัดน้ำมันด้วยนะ จะเยี่ยมที่สุดเลย ;)





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อยากมีรถคันแรก จะเตรียมตัวและวางแผนการเงินอย่างไรดี อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17:53:16
TOP