สวัสดิการพนักงานบางอย่างต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรม แต่บางอย่างก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ว่าแต่จะมีสวัสดิการอะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี และสวัสดิการใดบ้างที่ได้รับการยกเว้นเสียภาษี มาดูกันค่ะ
หลาย ๆ คนคงทราบดีอยู่แล้วว่า สวัสดิการพนักงาน นั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ทางบริษัท หรือนายจ้างมอบให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างทุก ๆ คน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของลูกจ้างและเพื่อให้ลูกจ้างมีสภาพความเป็นอยู่ในการทำงานที่ดีขึ้นก็ตาม แต่สิ่งที่ได้รับมาเหล่านั้นก็ต้องถูกนำไปคิดคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินของเราในการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในรอบปีบัญชีนั้น ๆ เว้นแต่สวัสดิการต่าง ๆ ที่เราได้รับ จะถูกจัดอยู่ในข้อบัญญัติตามกฎหมายให้มีการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่จะมีสวัสดิการตัวใดกันที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมาคำนวณภาษี ค่าคลอดบุตรถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีหรือไม่ ค่าเบี้ยเลี้ยงทางภาษี ถือเป็นสวัสดิการที่ได้รับการยกเว้นหรือเปล่า และค่าเดินทางเหมาจ่ายต้องเสียภาษีหรือไม่ วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบค่ะ
สำหรับสิ่งที่จะถือว่าเป็น สวัสดิการ (welfare) ได้นั้น จะต้องเป็นสิ่งที่ทางบริษัทมีระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ออกมาให้แก่ลูกจ้าง โดยไม่เลือกปฏิบัติ ลูกจ้างของบริษัทต้องได้รับทุกคนไม่ว่าจะเท่าเทียมหรือไม่ก็ตาม และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ ซึ่งหากสิ่งที่นายจ้างมอบให้ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายข้างต้นนี้ จะถือว่าเป็นประโยชน์เพิ่มเติมที่ลูกจ้างได้รับ โดยหมายถึง ประโยชน์, ทรัพย์, สิทธิ, หรือบริการใด ๆ ที่นายจ้างได้ให้แก่พนักงานอันเนื่องมากจากการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งประโยชน์เพิ่มนี้อาจถือเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานด้วย
ทั้งนี้ ต้องกลับมาดูกันก่อนว่า เหตุใด สวัสดิการ ที่เราได้รับจากบริษัท จึงถูกจัดให้เป็นรายได้พึงประเมินซึ่งจะต้องคำ มาคำนวณภาษี โดยตามประมวลกฎหมายรัษฎากร หรือกฎหมายภาษีอากร มาตราที่ 39 ได้ระบุไว้ว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษี ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน โดยเราสามารถพิจารณาได้จากประเภทของเงินได้พึงประเมินจากประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตราที่ 40 (1) แห่ง ซึ่งระบุว่า เงินได้พึงประเมิน คือ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้ อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานตามกฎหมายภาษีอากรดังกล่าว ไม่ว่าลูกจ้างจะได้รับเป็นตัวเงิน อาทิ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด หรือบำเหน็จบำนาญ หรือได้รับประโยชน์เพิ่มในรูปสวัสดิการจากนายจ้าง เช่น เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่จ่ายและชำระเงิน ทรัพย์ หรือประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน ลูกจ้างก็ต้องนำทั้งหมดที่ได้รับมาคิดเป็นรายได้พึงประเมิน
แต่ใช่ว่าสวัสดิการทุกอย่างที่เราได้รับจากนายจ้าง จะถือเป็นรายได้พึงประเมินที่ต้องนำมาคำนวณเสียภาษีทั้งหมด เพราะในบทบัญญัติของกฎหมายยังได้มีการกำหนดในส่วนของเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีไว้ด้วย และนั่นทำให้สวัสดิการและประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับจากทางบริษัทที่ไม่ต้องนำมาคำนวณเสียภาษี มีดังนี้
1. ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พัก ในการปฏิบัติงานนอกสำนักงานเป็นครั้งคราว ตามคำสั่งของนายจ้าง โดยไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ประจำ
2. ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ซึ่งหมายรวมถึงการช่วยค่าน้ำมัน ค่าพาหนะ และค่าทางด่วน เมื่อนำรถมาใช้ในกิจการของนายจ้าง
3. รถรับ-ส่งพนักงาน ที่ทางบริษัทมีการกำหนดเส้นทางและจุดรับ-ส่งไว้ไว้เฉพาะ โดยที่ลูกจ้างคนใดก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้
4. เงินค่าเดินทางซึ่งนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างเดินทางจากต่างถิ่นเพื่อมาเข้ารับงานเป็นครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ข้อยกเว้นนี้ มิให้รวมถึงเงินค่าเดินทางที่ลูกจ้างได้รับในการกลับถิ่นเดิม และในการเข้ารับงานของนายจ้างเดิมภายใน 365 วัน นับแต่วันที่การจ้างครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง
5. ค่ารักษาพยาบาล
6. ค่าเบี้ยประกันภัย ทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย
7. ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
8. เงินได้เท่าที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น
9. ค่าช่วยเหลืองานสมรส
10. ค่าคลอดบุตร
11. ค่าฌาปนกิจศพ ลูกจ้างที่เสียชีวิต
12. ทุนการศึกษาแก่พนักงาน
13. จัดฝึกอบรมพนักงาน เพื่อกิจการของนายจ้างโดยตรง
14. ค่าสมาชิกสโมสรกีฬา หรือสโมสรเพื่อการพักผ่อน
15. เครื่องแบบพนักงาน อันประกอบด้วย 2 ชุด เสื้อนอก 1 ตัว
16. การจัดงานเลี้ยงในวันปีใหม่ ตามโอกาสเพื่อขนบธรรมเนียมประเพณี
17. เงินเดือนหรือค่าจ้างที่คนประจำเรือได้รับเนื่องจากการปฏิบัติงานบนเรือไทย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวีที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
และนี่คือตัวอย่างสวัสดิการอื่น ๆ ที่ลูกจ้างต้องนำมาคำนวณรวมในการเสียภาษี
1. ให้พนักงานกู้ยืมเงิน
2. เบี้ยขยัน
3. อยู่บ้านนายจ้างโดยไม่เสียค่าเช่า หรือนายจ้างชำระค่าห้องให้
4. บริษัทออกภาษีแทนลูกจ้าง
5. บริการอาหาร เครื่องดื่ม น้ำดื่ม ชา กาแฟ ยารักษาโรค ที่ทางบริษัทจัดไว้ให้
6. พนักงานซื้อหุ้น/แลกหุ้น
7. ช่วยค่าเล่าเรียนบุตรพนักงาน
8. การจัดกีฬาสี รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานโดยตรง
กรมสรรพากร, kiatchai.com, lawsiam.com, freethailand.com, kiatchai.com