เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ก่อนจะลงทุนอะไรสักอย่างหนึ่งนั้น นอกจากเราจะต้องศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดว่าสิ่งที่เราจะลงทุนมีลักษณะอย่างไร รูปแบบเป็นอย่างไร ได้ผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องพิจารณาทุกครั้งก่อนตัดสินใจก็คือ "ความเสี่ยง" ในการลงทุนประเภทนั้น ซึ่งผู้ที่กำลังสนใจ "กองทุนรวม" ก็คงกำลังหาข้อมูลประกอบการพิจารณาอยู่เช่นกัน เพราะแม้การลงทุนรูปแบบนี้จะได้มืออาชีพมาช่วยจัดการให้ แต่เราก็ยังต้องทำความเข้าใจไว้เบื้องต้น เพื่อจะได้พิจารณาว่าเราจะรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้นแล้ว ตามมาดูไปด้วยกันเลย
ความเสี่ยงทั่ว ๆ ไปของกองทุนรวม
เมื่อมีปัจจัยบวกหรือลบมากระทบ ทำให้ราคาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุนมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะส่งผลให้มูลค่าหน่วยลงทุนสุทธิ (Net Asset Value : NAV) ของกองทุนรวมนั้นเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามไปด้วย โดยความเสี่ยงทั่ว ๆ ไป ที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนในกองทุนรวม ได้แก่
1. ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (interest rate risk)
อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้เสมอ ดังนั้น หากเราถือหลักทรัพย์อะไรสักอย่างอยู่ แล้วดอกเบี้ยมีการปรับตัว ย่อมต้องมีผลต่อหลักทรัพย์ของเราแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ลงทุนระยะยาวอาจได้เปรียบกว่าตรงที่ไม่ต้องห่วงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวนในระยะสั้นเท่าใดนัก
2. ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดโดยรวม (market risk)
เช่น ภาวะเศรษฐกิจในประเทศซบเซา อาจส่งผลให้ราคาของหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมไปลงทุนอยู่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงลดลง
3. ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (political risk)
หากในประเทศเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น เช่น เกิดการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจทำให้นโยบายการบริหารประเทศและการลงทุนถูกเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองขึ้น ช่วงนั้นภาวะตลาดอาจชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคาของหลักทรัพย์ในตลาดลดลงหรือชะลอตัวได้
4. ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่กองทุนรวมไปลงทุน (company risk)
บริษัทที่กองทุนรวมไปลงทุนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการลงทุนกองทุนรวมได้ เพราะหากบริษัทนั้นบริหารงานผิดพลาด จะมีกระทบทำให้ผลการดำเนินงานขาดทุนได้
5. ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (credit risk)
เช่น บริษัทที่ออกตราสารหนี้ซึ่งกองทุนรวมเข้าไปลงทุนมีผลการดำเนินงานย่ำแย่จนไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับกองทุนรวมตามเวลาที่กำหนดได้
6. ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (liquidity risk)
เช่น หลักทรัพย์ที่ลงทุนไว้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไม่มาก อาจทำให้ไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้ในราคาหรือจำนวนที่ต้องการภายในช่วงเวลาอันเหมาะสม
ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นเป็นความเสี่ยงที่ดูในภาพกว้าง ๆ เท่านั้น แต่ถ้าจะเจาะลึกกว่านี้ คงต้องไล่ดูแต่ละกองทุนรวม เพราะกองทุนรวมแต่ละประเภทก็จะมีความเสี่ยงแตกต่างกันไป ซึ่งในหนังสือชี้ชวนของแต่ละกองทุนจะระบุรายละเอียดไว้ให้แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจด้วยว่า ถ้ากองทุนนั้นมีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็ย่อมต่ำไปด้วย แต่ถ้ากองทุนไหนมีความเสี่ยงสูง ก็มีโอกาสจะได้ผลตอบแทนสูงกลับมา ลองมาดูต่อว่ากองทุนใดมีระดับความเสี่ยงแค่ไหน
ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม
กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำมาก
กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด จะลงทุนเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หรือตราสารทางการเงินในประเทศที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี เป็นกองทุนที่มีสภาพคล่องสูง แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็จะน้อย
กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น เน้นการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารภาครัฐไทยและต่างประเทศ เงินฝาก บัตรเงินฝาก จึงมีความเสี่ยงน้อย เพราะกองทุนนี้จะเน้นให้ความคุ้มครองเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน และพยายามทำให้ผู้ลงทุนสูญเสียเงินลงทุนเริ่มแรกน้อยที่สุด
กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ลักษณะคล้ายกับกองทุนรวมตลาดเงิน คือเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก กำหนดกรอบไม่เกิน 1 ปี ดังนั้น มูลค่าหน่วยลงทุนจึงไม่ผันผวนมากนัก
กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งมีความมั่นคง
กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ
กองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป ไม่จำกัดว่าต้องเป็นตราสารหนี้แบบไหน จึงลงทุนได้ทั้งหุ้นกู้ภาคเอกชน หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ รวมถึงกองทุนที่ลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ (structured note) ที่คุ้มครองเงินต้นด้วย ผลตอบแทนจะได้ในรูปดอกเบี้ยที่มีความสม่ำเสมอ แม้ว่าราคาของตราสารหนี้จะเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลง อย่างไรก็ตาม อาจมีความเสี่ยงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งความเสี่ยงด้านสภาพคล่องว่าตราสารหนี้นั้นซื้อง่ายขายคล่องมากน้อยเพียงใด
กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงปานกลาง
กองทุนรวมผสม เป็นกองทุนที่ลงทุนได้ทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ ขึ้นอยู่กับว่ากองทุนไหนจะเน้นลงทุนอะไรมากกว่ากัน
กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูง
กองทุนรวมหุ้น มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับการลงทุนในหุ้นโดยตรง โดยต้องระวังความผันผวนของภาวะตลาดที่อาจส่งผลในทางลบต่อธุรกิจ ราคาหุ้นของบริษัทที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุน และความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่กองทุนรวมนำเงินไปลงทุนด้วย
กองทุนรวมตราสารทุน เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนเป็นหลัก ไม่น้อยกว่า 65%
กองทุนรวมหุ้นของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน หรือ กองทุนรวมตราสารทุนแบบ sector fund เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน เช่น ในธุรกิจด้านพลังงาน ฯลฯ หรือตราสารทุน ในประเทศ หรือกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง ในอัตรา 80% ขึ้นไป
กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงมาก
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนที่ซับซ้อน มีการลงทุนในทรัพย์สินที่ซับซ้อน ทำความเข้าใจได้ยาก เช่น กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (โดยที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยง หรือ hedging) เป็นต้น
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ FIF ข้อนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ระดับความเสี่ยงจะแตกต่างกับกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศ เพราะจะมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งกระทบต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม หากเป็นกองทุนที่ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือป้องกันไว้เพียงบางส่วน ก็จะถือว่าเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง-สูงมาก แต่ถ้าเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด (hedging 90% ของเงินลงทุน) ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมจะอยู่ในระดับต่ำ-สูง ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่กองทุนรวมนั้นเลือกลงทุน
ส่วนความเสี่ยงด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากอัตราแลกเปลี่ยนก็คือ ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟ้องร้อง และการบังคับใช้กฎหมาย หากบริษัทที่กองทุนรวมไปลงทุนเกิดปัญหาขึ้นด้วย
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวม
นอกจากเรื่องความเสี่ยงแล้ว ยังมีข้อมูลบางอย่างที่มือใหม่ควรรู้ไว้ เพื่อพิจารณา
ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่สามารถตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนเองได้ แต่เป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนที่จะตัดสินใจแทนผู้ถือหน่วยลงทุนในการลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินต่าง ๆ ตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) มีการเก็บค่าธรรมเนียมบางประเภทจากกองทุนรวมอย่างต่อเนื่อง เท่ากับว่าผู้ถือหน่วยลงทุนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทางอ้อมให้กับ บลจ. เช่น ค่าธรรมเนียมในการซื้อ (Front-End Fee), ค่าธรรมเนียมการขาย (Back-End Fee), ค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนรวม ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการสอบบัญชี เป็นต้น
ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากกองทุนรวม เฉพาะกำไรส่วนเกินทุน หรือเงินปันผลที่กองทุนรวมจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุน หรือการออกเสียงลงมติในเรื่องสำคัญของกองทุนรวมเท่านั้น ไม่รวมถึงผลประโยชน์จากหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมไปลงทุน (เช่น สิทธิตามกฎหมายในฐานะผู้ถือหุ้น หากเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น)
กองทุนรวมไม่ใช่เงินฝาก แม้จะขายผ่านธนาคารพาณิชย์ก็ตาม ดังนั้น การลงทุนในกองทุนรวมอาจมีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินต้นคืนครบจำนวน (ยกเว้นกองทุนรวมบางประเภทที่มีนโยบายคุ้มครองเงินต้น) เนื่องจากมูลค่าของกองทุนรวมมีการปรับขึ้นหรือลดลงได้ตามมูลค่าของตราสารทางการเงิน หรือทรัพย์สินที่กองทุนรวมไปลงทุนในแต่ละวัน ผู้ถือหน่วยลงทุนจึงอาจขาดทุนได้ หากมีความจำเป็นต้องขายหน่วยลงทุนในช่วงที่มูลค่าหน่วยลงทุนสุทธิ (Net Asset Value: NAV) ของกองทุนรวมปรับลดลง
การพิจารณาความเสี่ยงของกองทุนรวม สามารถดูได้จากค่าความผันผวน (Standard Deviation) หากค่าความผันผวนต่ำ เท่ากับว่า ความผันผวนของผลตอบแทนต่ำ มูลค่าหน่วยลงทุนสุทธิ (NAV) ก็จะไม่เหวี่ยงมาก แต่ถ้าค่าความผันผวนสูง แสดงว่าผลตอบแทนจะมีความผันผวนมาก มูลค่าหน่วยลงทุนสุทธิ (NAV) ก็จะเหวี่ยงมาก บางวันพุ่งขึ้นสูง แต่อีก 2-3 วันถัดมา กลับร่วงลงอย่างรวดเร็ว
กองทุนรวมในประเทศไทยจะมีผู้จัดการกองทุนบริหารงานกันเป็นทีม ซึ่งมีข้อดีตรงที่หากผู้จัดการกองทุนคนใดคนหนึ่งลาออก จะไม่กระทบต่อกองทุนรวมนั้น เพราะยังมีผู้จัดการกองทุนคนอื่นดูแลอยู่ แต่หากเป็นกองทุนรวมในต่างประเทศ อาจจะมีผู้จัดการเพียงคนเดียว ซึ่งถ้าเกิดลาออก ก็จะส่งผลกระทบต่อกองทุนรวมนั้นได้
ใครที่สนใจกองทุนรวม ต้องพิจารณาความเสี่ยงเหล่านี้ไว้ด้วย และถามตัวเองก่อนว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้ตัดสินใจได้ว่าเราเหมาะจะลงทุนรูปแบบนี้หรือไม่นั่นเอง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, morningstarthailand.com