x close

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประกันชีวิต


ครอบครัว
 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เดี๋ยวนี้เห็นโฆษณาเชิญชวนให้คนทำประกันชีวิตกันเพียบ ทั้งในหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ (แม้กระทั่งเซลล์ขายประกันก็ยังโทรศัพท์ตามตื๊ออยู่บ่อย) ดู ๆ แล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การทำประกันชีวิตจะให้ประโยชน์อะไรกับเราบ้าง เราควรทำไว้ไหม หรือถ้าคิดจะทำ ควรจะเลือกแบบไหนดี ใครที่กำลังวางแผนเรื่องนี้อยู่ ลองมาดูข้อมูลต่อไปนี้ เพื่อจะได้ช่วยตัดสินใจได้ค่ะ

ประกันชีวิต คืออะไร?

          ประกันชีวิต หรือ กรมธรรม์ประกันชีวิต ในนัยของกฎหมาย จะหมายถึงสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "ผู้เอาประกัน" มีหน้าที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันให้กับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า "บริษัทประกันชีวิต" และเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต หรืออยู่ครบตามสัญญาของกรมธรรม์ ทางฝ่าย "บริษัทประกันชีวิต" ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายผลตอบแทน เรียกว่า "ทุนประกันชีวิต" ให้แก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์

          หากพูดง่าย ๆ ก็คือ การประกันชีวิต เป็นการเฉลี่ยความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา ที่จะเกิดขึ้นจากคนหนึ่งไปยังอีกหลาย ๆ คน โดยมีผู้รับประกันภัยทำหน้าที่กระจายความเสี่ยงระหว่างผู้เอาประกันทั้งหมด ด้วยการให้ผู้เอาประกันจ่ายเงินจำนวนหนึ่งในรูปของ "เบี้ยประกัน" ให้แก่ผู้รับประกันไว้เป็นเงินกองกลาง เมื่อผู้เอาประกันได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เอาประกัน ผู้รับประกันก็จะนำเงินกองกลางนั้นไปชดใช้ตามจำนวนที่ได้ตกลงกัน

 
เหตุผลอะไรที่คนเลือกทำประกันชีวิต ?

          หลายคนกำลังมีคำถามว่า ทำไมต้องทำประกันชีวิตด้วย ทำประกันชีวิตแล้วจะได้ประโยชน์อะไร ซึ่งคนที่ทำประกันชีวิตไว้ก็ให้เหตุผลแตกต่างกันไป เช่น

          1. เพื่อหลักประกันทางการเงินของครอบครัว เช่น หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต ครอบครัวก็จะได้มีเงินทุนในการดำรงชีพต่อไป

          2. เพื่อเป็นทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีทุพพลภาพถาวร หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ทำให้ต้องพิการ ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้

          3. เพื่อเป็นทุนการศึกษาจนถึงขั้นสูงสุดของบุตรแต่ละคน

          4. เพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ OD / หนี้สินระยะสั้น / หนี้สินระยะยาว

          5. เพื่อการสะสมทรัพย์ พร้อมรับผลตอบแทนทางการเงินโดยไม่มีความเสี่ยง

          6. เพื่อสร้างสวัสดิการด้านค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมให้กับตนเองและสมาชิกอื่น ๆ ในครอบครัว

          7. เพื่อเป็นทุนสำรองสำหรับการรักษาโรคร้ายแรงต่อเนื่องโดยเฉพาะ เพราะโรคเหล่านี้ต้องเข้ารับการรักษาระยะยาว ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

          8. เพื่อเป็นทุนสำรองไว้ใช้หลังวัยเกษียณอายุ สำหรับเป็นเงินบำนาญตลอดชีพ

          9. เพื่อเป็นเงินทุนจัดการหลังเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลระหว่างรักษาตัว ค่าจัดการงานศพ

          หากพิจารณาจากเหตุผลข้างต้นแล้ว ก็พอสรุปได้ว่า เพื่อที่จะได้มีทุนสำรองไว้ ในกรณีต่าง ๆ นั่นเอง

 


ประกันชีวิต มีกี่ประเภท?

          เมื่อเริ่มสนใจจะทำประกันชีวิตแล้ว ก็ต้องมารู้จักก่อนว่าประกันชีวิตมีกี่ประเภท โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

          1. ประเภทสามัญ (Ordinary Life Insurance)

          เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป อาจให้ชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี, ราย 6 เดือน, ราย 3 เดือน หรือรายเดือน แล้วแต่แพ็กเกจนั้น ๆ และบางบริษัทอาจให้ตรวจสุขภาพ หรือไม่ต้องตรวจสุขภาพก็ได้ ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเอาประกันภัย และอายุของผู้ทำประกัน

          2. ประเภทอุตสาหกรรม (Industrial Life Insurance)

          เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างต่ำ คือประมาณ 10,000 - 30,000 บาท เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ โดยทั่วไปกำหนดให้ชำระเบี้ยประกันเป็นรายเดือน และไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่บริษัทอาจกำหนดเงื่อนไขให้มีระยะเวลารอคอย (Waiting Period) เป็นเวลา 180 วัน

          คำว่า ระยะเวลารอคอย (Waiting Period) ก็คือ ระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อพิสูจน์สุขภาพของผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาดังกล่าว ด้วยโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมชาติ บริษัทประกันชีวิตไม่ต้องจ่ายเงินเอาประกันภัย แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมดให้ก็ได้


          3. ประเภทกลุ่ม (Group Life Insurance)

          เป็นการประกันชีวิตที่กรมธรรม์หนึ่งจะมีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนมากจะเป็นกลุ่มของพนักงานบริษัท ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงภัยของบุคคลในกลุ่มทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ หน้าที่การงาน หรือจำนวนเงินเอาประกัน และเพราะเป็นการประกันกลุ่มนี่เอง จึงทำให้อัตราเบี้ยประกันชีวิตจะถูกกว่าประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม

 

ประกันชีวิตมีกี่แบบ ?

          อีกเรื่องหนึ่งที่คนสนใจทำประกันชีวิตอยากรู้กันมากก็คือ การทำประกันชีวิตมีรูปแบบไหนบ้าง เพราะเห็นบางแผนก็บอกตลอดชีพ บางแผนก็กำหนดอายุ กำหนดช่วงเวลา มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป ถ้างั้นขอบอกให้ทราบไว้เลยว่า ถ้าเป็นประกันชีวิตรูปแบบพื้นฐานก็จะมีอยู่ 4 แบบ ดังนี้

          1. แบบตลอดชีพ (Whole life Insurance) 

          เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ โดยบริษัทตกลงจะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ไม่ว่าจะเสียชีวิตเมื่อใดก็ตาม แต่ถ้าหากผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 99 ปี บริษัทประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย

          วัตถุประสงค์ของการทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพก็คือ เพื่อที่ลูกหลาน หรือผู้รับผลประโยชน์จะได้มีเงินทุนในภายภาคหน้า รวมทั้งจะได้มีเงินมารักษาการเจ็บป่วย และจ่ายค่าทำศพของผู้เอาประกัน หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว โดยจะได้ไม่ต้องเป็นภาระของผู้อื่น

          2. แบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) 

          เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย

          การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นี้ เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืน เมื่อสัญญาครบกำหนด

          3. แบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance)

          เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น 1 ปี, 5 ปี, 10 ปี หรือ 20 ปี ซึ่งสัญญาประกันชีวิตแบบนี้มีลักษณะเป็นการให้ความคุ้มครองการเสี่ยงภัยอันเกิดจากการเสียชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีการสะสมทรัพย์รวมอยู่ด้วย จึงมีลักษณะเช่นเดียวกับสัญญาประกันอัคคีภัย เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วจึงไม่มีมูลค่าใด ๆ คืนให้ผู้เอาประกัน

          วัตถุประสงค์ของการทำประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาก็คือ เพื่อคุ้มครองการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และมีข้อดีตรงนี้เบี้ยประกันภัยจะถูกกว่าแบบอื่น เพราะไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่จนครบกำหนดสัญญา

          4. แบบเงินได้ประจำ (Annuities Insurance)

          เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกเดือน นับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไปจนครบสัญญา แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ และขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันชีวิตที่จะเลือกซื้อ

          สัญญาประกันชีวิตแบบนี้เหมาะกับผู้เอาประกันภัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสะสมทรัพย์ไว้เป็นค่าใช้จ่ายหลังจากที่เกษียณอายุการทำงานแล้ว

 
ต้องพิจารณาอะไรบ้างเมื่อจะทำประกันชีวิต?

          หากคิดจะทำประกันชีวิตแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณา ดังนี้

          1. พิจารณาว่าตนเองต้องการทำประกันแบบใด คุ้มครองระยะสั้น หรือยาว ต้องการคุ้มครองเฉพาะการเสียชีวิตเท่านั้น หรือต้องการสะสมทรัพย์ เพื่อรับเงินคืนด้วย ให้เลือกแบบประกันชีวิตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ โดยศึกษาเปรียบเทียบให้ละเอียด

          2. เลือกวงเงินเอาประกันภัยที่ต้องการ โดยพิจารณาว่าเรามีรายได้ประจำเท่าใด และมีกำลังในการส่งเบี้ยประกันภัยมากน้อยแค่ไหน

          3. พิจารณาสัญญาเพิ่มเติม (หากมี)

          4. เลือกทำประกันกับบริษัทที่มีความมั่นคง มีมาตรฐานในการทำงาน

 

จะทำประกันชีวิต ต้องทำอย่างไรบ้าง?

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะทำประกันชีวิตรูปแบบไหน กับบริษัทใด หลังจากนั้น ก็ต้องดำเนินการดังนี้

           1. ติดต่อบริษัทประกันชีวิตได้โดยตรง หรือผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย เพื่อศึกษาข้อมูลรูปแบบการประกันต่าง ๆ

          2.  กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวท่านในแบบคำขอเอาประกันชีวิต โดยแถลงความจริงทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติการรักษาพยาบาลและคำแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะการปิดบังในสาระสำคัญเหล่านี้จะเป็นเหตุให้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์

          3. ในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้กรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตแทนท่าน ให้ตรวจสอบความถูกต้องก่อนลงชื่อในแบบคำขอเมื่อได้รับกรมธรรม์ ควรตรวจสอบความถูกต้อง หากพบข้อมูลที่ผิด เช่น ชื่อผู้รับประโยชน์หรือชื่อผู้เอาประกันภัยผิดพลาด ฯลฯ ให้ทักท้วงบริษัทเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องทันที

          4. จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตตามกำหนดทุกครั้ง โดยติดต่อชำระที่บริษัท สาขา หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือผ่านธนาคารในกรณีชำระผ่านตัวแทนของบริษัท ให้เรียกใบเสร็จรับเงินตามแบบพิมพ์ของบริษัทเก็บไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
 
          5. แจ้งให้ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุชื่อในกรมธรรม์ หรือบุคคลในครอบครัวทราบ ถึงการทำประกันชีวิต และสถานที่เก็บกรมธรรม์

          6. ติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงาน คปภ. เขต สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทุกครั้งที่มีปัญหา

 

บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้เมื่อใด ?

          1. เมื่อผู้เอาประกันภัยมีอายุครบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในกรมธรรม์ประกันภัย จะจ่ายเงินให้ผู้เอาประกันภัย

          2. เมื่อสัญญาครบกำหนด บริษัทจะจ่ายเงินและผลประโยชน์ให้ผู้เอาประกันภัย

          3. หากผู้เอาประกันภัยชีวิต ระหว่างที่สัญญาประกันชีวิตมีผลบังคับอยู่ บริษัทจะจ่ายเงินให้กับผู้รับผลประโยชน์

 
ต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้าง เมื่อต้องการรับเงินผลประโยชน์ ?

          ในการขอรับเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ หรือที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น ให้ดำเนินการดังนี้

1. ติดต่อบริษัทประกันภัยให้เร็วที่สุด

2. กรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต จะแยกเป็นกรณีตามสาเหตุของการเสียชีวิต ดังนี้

          2.1 เสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ต้องแจ้งให้ทราบภายใน 14 วัน และเตรียมหลักฐานประกอบด้วย

            กรมธรรม์ประกันชีวิต (ถ้าหายให้แจ้งความแล้วนำสำเนา รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายไปแสดงแทน)

            ใบเสร็จรับเงินงวดสุดท้าย

            ใบมรณบัตรของผู้เอาประกันภัย

            ทะเบียนบ้านของผู้รับประโยชน์

            บัตรประชาชนของผู้รับประโยชน์

          2.2 เสียชีวิตโดยฆ่าตัวตาย

              กรมธรรม์ประกันชีวิต (ถ้าหายให้แจ้งความแล้วนำสำเนา รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายไปแสดงแทน)

            ใบเสร็จรับเงินงวดสุดท้าย

            ใบมรณบัตรของผู้เอาประกันภัย

            ทะเบียนบ้านของผู้รับประโยชน์

            บัตรประชาชนของผู้รับประโยชน์

            สำเนาบันทึกประจำวันรับแจ้งเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

            ใบชันสูตรพลิกศพ

           2.3 เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เตรียมหลักฐานตาม 2.1(1) - (5) โดยเพิ่ม

            กรมธรรม์ประกันชีวิต (ถ้าหายให้แจ้งความแล้วนำสำเนา รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายไปแสดงแทน)

            ใบเสร็จรับเงินงวดสุดท้าย

            ใบมรณบัตรของผู้เอาประกันภัย

            ทะเบียนบ้านของผู้รับประโยชน์

            บัตรประชาชนของผู้รับประโยชน์

            สำเนาบันทึกประจำวันรับแจ้งเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

            สำเนาบันทึกประจำวันหลังกลับจากสถานที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

            ใบชันสูตรพลิกศพ

 
3. กรณีเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และสูญเสียอวัยวะ แจ้งบริษัททราบภายใน 10 วัน และเตรียมหลักฐาน ดังนี้

           กรอกแบบฟอร์มใบเรียกร้องค่าทดแทนของบริษัท

           ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลที่ระบุวันเริ่มต้น และวันสุดท้ายในการรักษาตัวในโรงพยาบาล

           อื่น ๆ เช่น ฟิล์มเอกซ์เรย์

 
4. กรณีกรมธรรม์ครบกำหนด

          ในกรณีเป็นการประกันชีวิต ประเภทสะสมทรัพย์ที่มีเงินคืนเมื่อกรมธรรม์ครบกำหนด ให้ดำเนินการติดต่อบริษัทประกันภัย และเตรียมหลักฐาน คือ กรมธรรม์ประกันชีวิต และบัตรประชาชนของผู้เอาประกันภัย

 
อะไรเป็นข้อยกเว้นที่บริษัทจะไม่จ่ายเงินประกันให้?

           หากเป็นการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ ทางบริษัทประกันภัยจะสามารถจ่ายเงินสินไหมให้ตามสัญญาที่ระบุไว้ แต่ก็ยังมีการเสียชีวิตบางกรณีที่บริษัทจะยกเว้นการจ่ายเงินเอาประกัน นั่นคือ

          1. ผู้เอาประกันภัยถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

          2. ผู้เอาประกันฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี นับจากวันทำสัญญาหรือวันต่ออายุสัญญาครั้งสุดท้าย

         ความตายที่เกิดจากสาเหตุข้างต้นดังกล่าว บริษัทประกันชีวิตจะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันชีวิตให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันชีวิตที่ได้ชำระมาแล้วทั้งหมดเท่านั้น

 
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการชำระเบี้ยประกัน

          1. ผู้เอาประกันชีวิตต้องชำระเงินในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญา

          2. หากตัวแทนของบริษัทประกันชีวิตยังไม่มาเก็บเงิน ตามกฎหมายจะถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันชีวิตจะต้องไปชำระที่สาขาของบริษัทด้วยตนเอง หรือส่งเป็นธนาณัติ เช็ค เพื่อที่บริษัทจะได้ส่งใบเสร็จรับเงินมาให้อย่างถูกต้อง โดยต้องเขียนที่อยู่ของท่านให้ถูกต้อง เพื่อมิให้เสียโอกาสและประโยชน์

          3. หากไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ภายในวันที่ระบุไว้ ผู้เอาประกันชีวิตมีสิทธิที่จะได้รับการผ่อนผันการชำระเงินได้ โดยยืดระยะเวลาได้ประมาณ 30 วัน

          4.  การชำระเบี้ยประกันภัยตรงเวลามีผลให้กรมธรรม์ประกันภัยไม่ขาดอายุ ส่งผลต่อการได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วนตามสัญญาประกันชีวิต การชำระเบี้ยประกันภัยทุกครั้ง หากชำระผ่านตัวแทนประกันชีวิตควรเรียกใบรับเงินชั่วคราว หากชำระผ่านช่องทางอื่นควรเก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ทุกครั้ง จนกว่าจะได้รับใบรับเงินตัวจริงจากบริษัทประกันชีวิต เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเอง

         5. ผู้เอาประกันชีวิตสามารถนำประกันชีวิตมาหักภาษีรายได้บุคคลได้ โดยรัฐบาลได้เพิ่มจำนวนเงินเบี้ยประกันชีวิตที่สามารถนำไปหักภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท

 

 เมื่อผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว จะยกเลิกได้หรือไม่?

          เมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากบริษัทประกันชีวิตแล้ว ขอให้ตรวจสอบความถูกต้อง หากไม่พึงพอใจด้วยสาเหตุใดก็ตามสามารถใช้สิทธิยกเลิกสัญญา (Free Look) โดยส่งคืนกรมธรรม์ประกันภัยมายังบริษัทประกันชีวิตภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์จากบริษัทประกันชีวิตซึ่งบริษัทประกันชีวิตจะคืนเบี้ยประกันภัย ที่เหลือจากการหักค่าตรวจสุขภาพตามที่จ่ายจริง (ถ้ามี) และค่าใช้จ่ายของบริษัทฉบับละ 500 บาทแล้ว

 
เมื่อทำประกันชีวิตมาระยะเวลาหนึ่งแล้วไม่สามารถส่งเบี้ยประกันภัยต่อได้ จะต้องทำอย่างไร?

          หากเกิดกรณีนี้ขึ้น จะมีแนวทางให้เลือก 3 แบบคือ

          1. ขอรับเงินสด กรณีนี้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยจะสิ้นสุดทันทีจำนวนเงินสดที่ได้รับคืนจะเป็นไปตามจำนวนที่ระบุในตารางเวนคืนเงินสดที่แนบอยู่ท้ายกรมธรรม์ประกันภัย

          2. ขอเปลี่ยนเป็นมูลค่าใช้เงินสำเร็จ กรณีนี้ระยะเวลาความคุ้มครองจะเท่าเดิมตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แต่จำนวนเงินเอาประกันภัยจะลดลง จำนวนเงินเอาประกันภัยใหม่จะเป็นไปตามจำนวนที่ระบุในตารางมูลค่าใช้เงินสำเร็จที่แนบอยู่ท้ายกรมธรรม์ประกันภัย

         3. ขอเปลี่ยนเป็นมูลค่าขยายเวลา กรณีนี้จำนวนเงินเอาประกันภัยจะเท่าเดิมตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แต่ระยะเวลาความคุ้มครองใหม่จะเป็นไปตามที่ระบุไว้ในตารางมูลค่าขยายเวลาที่แนบอยู่ท้ายกรมธรรม์ประกันภัย

 

ทำไมเมื่อยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว มูลค่าเวนคืนเงินสดจึงมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนเบี้ยที่ชำระไปแล้ว?

          เพราะการซื้อประกันชีวิตเป็นการเฉลี่ยภัยในหมู่ผู้เอาประกันภัยด้วยกัน หากผู้เอาประกันภัยรายใดเสียชีวิต บริษัทประกันชีวิตก็จะนำเงินจากเบี้ยประกันชีวิตของผู้เอาประกันภัยทุกคนไปจ่ายให้กับผู้รับประโยชน์ของผู้ที่เสียชีวิต ดังนั้นเหตุที่มูลค่าเวนคืนเงินสดมีมูลค่าน้อยกว่าเพราะเบี้ยประกันภัยที่ท่านชำระมาแล้วส่วนหนึ่งจะถูกนำไปจ่าย ให้แก่ผู้เอาประกันภัยรายอื่นที่เสียชีวิต


 หากต้องการซื้อความคุ้มครองเกี่ยวกับอุบัติเหตุและสุขภาพ นอกเหนือจากการประกันชีวิตจะทำได้หรือไม่?

          เพื่อสนองความต้องการของผู้เอาประกันชีวิตที่ต้องการความคุ้มครองเพิ่มมากขึ้นจากความคุ้มครองด้านการมีชีวิตอยู่หรือการตาย บริษัทประกันชีวิตจึงได้มีรูปแบบความคุ้มครองต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยค่ารักษาพยาบาลและผ่าตัดในโรงพยาบาล การประกันภัยโรคร้ายแรงและอื่น ๆ อีกมาก

          ทั้งนี้ การที่ผู้เอาประกันภัยจะสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองพิเศษนี้ได้จะต้องเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตหลักก่อนแล้ว จึงค่อยซื้อความคุ้มครองพิเศษนี้ในรูปแบบของสัญญาเพิ่มเติม โดยสัญญาเพิ่มเติมที่ซื้อนี้จะเป็นสัญญาปีต่อปี

 
          ใครที่สนใจจะทำประกันชีวิต แต่ยังไม่มีข้อมูล วันนี้ ก็คงได้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวการทำประกันชีวิตมากขึ้นจากข้อมูลที่กระปุกดอทคอมนำมาแนะนำกันแล้วนะคะ แต่ถ้าใครอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย ลองสอบถามได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), สมาคมประกันชีวิตไทย หรือสายด่วนกรมการประกันภัย โทร. 1186

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


 

 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประกันชีวิต อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10:48:51 63,799 อ่าน
TOP