ภาษีสหรัฐอเมริกาฟาดไทย ! เจาะลึก 9 ผลกระทบที่คนไทยต้องเจอ เมื่ออเมริกาขึ้นภาษีไทยเป็น 36%

          อเมริกาขึ้นภาษีไทยมีผลอะไรบ้าง…ไม่ใช่แค่ธุรกิจส่งออกที่สะเทือน แต่กับคนธรรมดาหรือมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ก็อาจโดนหางเลขเต็ม ๆ และส่งผลต่อปากท้องอย่างจัง !
โดนัลด์ ทรัมป์

          ภาษีสหรัฐอเมริกา อาจซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจของไทยให้ยิ่งเหนื่อยหนักขึ้นไปอีก เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศปรับขึ้นภาษี นำเข้าสินค้าจากไทยไปยังสหรัฐฯ กลายเป็น 36% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด หากเกิดขึ้นจริง ๆ ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ลองมาวิเคราะห์กันว่า อเมริกาขึ้นภาษีไทยมีผลอะไรบ้างต่อชาวบ้านอย่างเรา ๆ

อเมริกาขึ้นภาษีไทยมีผลอะไรบ้าง

อเมริกาขึ้นภาษีไทยมีผลอะไรบ้าง

1. สินค้าไทยแพงขึ้น ขายยาก ส่งออกได้น้อยลง

          ประเด็นสำคัญข้อแรกเลยก็คือ สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นของแพงทันที เมื่อเทียบกับชาติอื่นที่ถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 36% หรือเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สามารถผลิตสินค้าได้ในราคาที่ต่ำกว่า แม้จะถูกเก็บภาษีเช่นกัน

          ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ จากสินค้าราคา 100 บาท เมื่อส่งเข้าไปยังสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็น 136 บาท ในขณะที่ประเทศเวียดนามซึ่งถูกเก็บภาษี 20% ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นจาก 100 บาท เป็น 120 บาท ส่วนประเทศมาเลเซียถูกเก็บภาษี 25% ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 125 บาท ตัวเลขนี้อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง เนื่องจากผู้ซื้อในสหรัฐฯ มีทางเลือกที่จะหันไปซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นที่มีราคาถูกกว่า

          สำหรับสินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐอเมริกาที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ 

  • กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ หม้อแปลงไฟฟ้า กล้องถ่ายรูป 

  • กลุ่มยานยนต์ เช่น ยางรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ 

  • กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ

  • กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะผู้ส่งออกอาหารแปรรูป

  • กลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา ทูน่ากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง น้ำปลา อาหารสัตว์เลี้ยงแปรรูป

2. โรงงานอาจปิดตัว ทำคนตกงาน

          เมื่อผู้ประกอบการของไทยส่งออกสินค้าได้น้อยลง โรงงานอาจต้องลดการผลิต และหากไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการถูกเก็บภาษี ตลอดจนต้นทุนจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นสูงสุด 400 บาท/วัน ได้อีกต่อไป ก็จำเป็นต้องลดพนักงานหรือปิดกิจการ นำไปสู่ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรม 

          แน่นอนว่าการปิดตัวของโรงงานคงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับโรงงานที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังโรงงานปลายน้ำหรือผู้ประกอบการรายอื่นในห่วงโซ่การผลิตด้วย 

          เช่น หากโรงงานผลิตยางรถยนต์ต้องปิดตัว หรือส่งออกได้น้อยลง ก็จำเป็นต้องลดปริมาณการสั่งซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ โดยเฉพาะยางพาราที่ส่งผลต่อเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง รวมไปถึงพ่อค้าคนกลาง สหกรณ์สวนยาง โรงงานแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น โรงงานแปรรูปยางแผ่นดิบเป็นยางแผ่นรมควัน โรงงานแปรรูปยางก้อนถ้วย/เศษยางเป็นยางแท่ง อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการขนส่ง เป็นต้น

สหรัฐขึ้นภาษีไทยผลกระทบ

3. ต่างชาติย้ายฐานการผลิต

          บริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานและฐานการผลิตในประเทศไทยจะเสียเปรียบอย่างมากในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ที่ถูกเก็บภาษีถึง 36% ทำให้ราคาสินค้าปลายทางในสหรัฐฯ แพงขึ้น และคนสหรัฐฯ จะหันไปซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นที่ถูกกว่า ส่งผลให้ยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทที่ผลิตในไทยลดลงตามไปด้วย 

          ในกรณีที่บริษัทยังคงต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้อาจต้องแบกรับภาระภาษีส่วนหนึ่งไว้เอง ซึ่งจะไปลดอัตรากำไรของบริษัทลงอย่างมาก แต่ถ้าดูแล้วไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินกิจการในไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มสูงที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่า เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและผลกำไรของบริษัทไว้ และนั่นอาจทำให้คนไทยตกงานเพิ่มขึ้น

4. ต่างชาติชะลอการลงทุน

          แม้ไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี แรงงานมีฝีมือ และสิทธิประโยชน์จาก BOI แต่เมื่อปัจจัยด้านภาษีที่ยังไม่แน่นอนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ก็จะลดความน่าสนใจของไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติลง ทำให้ชะลอการตัดสินใจเพื่อรอดูสถานการณ์และผลการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก่อน และอาจพิจารณาลงทุนในประเทศอื่น ๆ ที่ได้เปรียบด้านภาษีมากกว่า

5. ฉุดรั้งตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นไทย

           เมื่อมาตรการภาษีสร้างความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงให้กับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวลและอาจชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทย หนำซ้ำยังอาจเทขายหุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเพื่อลดความเสี่ยง เช่น หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มยางพารา ที่นักวิเคราะห์จะปรับลดประมาณการกำไรลง ส่งผลให้มูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นลดลงตามไปด้วย เช่นนี้ก็จะยิ่งฉุดให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงไปอีก หรือเติบโตได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น

6. ภาคการเกษตรอาจได้รับผลกระทบ

          แม้ว่าภาคการเกษตรอาจไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่ากับภาคอุตสาหกรรม แต่อย่างไรเสียก็ย่อมโดนหางเลขไปด้วย เนื่องจากสินค้าที่ส่งออกไปมีราคาแพงขึ้นย่อมเสียเปรียบคู่แข่ง เมื่อส่งออกได้น้อยลงจะเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาดในประเทศ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรโดยตรง และยังนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น เกษตรกรไม่มีกำลังซื้อ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ลดลง

          อย่างไรก็ตาม อีกเรื่องที่น่ากังวลก็คือ หนึ่งในข้อเสนอของไทยในการเจรจาคือ อาจยอมลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ในบางประเภท เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ ยอมลดภาษีนำเข้าสินค้าไทย ตรงนี้จะทำให้สินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เข้ามาแข่งขันในตลาดไทยได้ง่ายขึ้น และส่งผลต่อเกษตรกรของไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ดีพอ

7. ภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น

หนี้ครัวเรือน

          สุดท้ายแล้ว ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการส่งออกได้น้อยลง กำลังการผลิตลดลง ต่างชาติชะลอการลงทุน ต่างชาติย้ายฐานการผลิต โรงงานปิดตัว ย่อมขยายความเสียหายเป็นวงกว้าง เมื่อพนักงานจำนวนหนึ่งต้องตกงาน หรือถูกลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน แต่ละคนก็ต้องรัดเข็มขัด ใช้สอยอย่างประหยัด นำไปสู่การจับจ่ายที่ลดลงในทุกภาคส่วน ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค อาหาร ท่องเที่ยว ความบันเทิง ฯลฯ กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่จะขายสินค้าได้น้อยลง ทำกำไรได้น้อยลงตามไปด้วย 

          นอกจากนี้รายได้ที่ลดลงยังอาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่มีอยู่ เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้และกลายเป็นหนี้เสีย ในขณะที่บางครัวเรือนอาจจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเพื่อมาประคองค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มวงจรหนี้ให้หนักขึ้นไปอีก

8. GDP ลดลง

เศรษฐกิจไทย

          GDP (Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นตัวชี้วัดถึงขนาดและสุขภาพโดยรวมของเศรษฐกิจในประเทศ หากประเทศไหนมี GDP เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมักบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโต มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น รายได้สูงขึ้น และมีการผลิตเพิ่มขึ้น 

          แต่จากสถานการณ์ที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทยเป็น 36% อาจส่งผลให้การส่งออกหดตัว กำลังการผลิตลดลง การบริโภคและการลงทุนชะลอตัว จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ตัวเลข GDP จะลดลง โดยนักวิเคราะห์จากหลายสถาบันต่างคาดการณ์ว่า GDP ของไทยในปี 2568 มีความเสี่ยงที่จะเติบโตต่ำกว่า 2%

9. ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนที่เสียเปรียบสหรัฐฯ

          ในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยต้องยื่นข้อเสนอซึ่งบางข้ออาจทำให้ไทยตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบ หรืออย่างน้อยก็ต้องยอมเสียผลประโยชน์บางส่วนเพื่อแลกกับการลดอัตราภาษีนำเข้า 36% อย่างเช่น 

  • ตั้งเป้าลดการเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐฯ ลงให้ได้ถึง 70% ภายในระยะเวลา 5 ปี และคาดว่าจะสามารถสร้างความสมดุลทางการค้าได้ภายใน 7-8 ปี สิ่งนี้ทำให้ไทยต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออก

  • เปิดตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐอเมริกา ประเด็นนี้จะทำให้สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ ทะลักเข้ามาในปริมาณมาก อาจส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศลดลง มีผลต่อรายได้ของเกษตรกรและผู้ประกอบการ

  • เพิ่มการจัดซื้อพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากโครงการก๊าซในรัฐอะแลสกา ปริมาณสูงเป็นระยะเวลา 20 ปี และนำเข้าก๊าซอีเทนจากสหรัฐฯ มากขึ้น เรื่องนี้อาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการซื้อพลังงานที่ถูกกว่าหรือหลากหลายกว่า

  • จัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง (Boeing) จากสหรัฐฯ ในจำนวนมากขึ้น ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล และทำให้สายการบินไม่มีทางเลือกในการจัดซื้อจากผู้ผลิตรายอื่นที่อาจมีเครื่องบินที่เหมาะสมกับความต้องการมากกว่า

          สิ่งเหล่านี้ทำให้อาจเสียอำนาจต่อรองราคาหรือเงื่อนไขกับผู้ผลิตรายอื่น แต่ก็เป็นยุทธศาสตร์การเจรจาที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากถูกเก็บภาษี 36% ขึ้นมาจริง ๆ จะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อภาคการส่งออกและ GDP ของไทย

          โดยสรุปแล้ว หากสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศไทยในอัตรา 36% จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบด้านต้นทุนและราคาอย่างมหาศาลในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย ถือเป็นความท้าทายอย่างมากต่อผู้ประกอบการและภาครัฐที่จะต้องเตรียมรับมือ ทั้งการหาตลาดใหม่ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้สินค้าของไทยยังสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

บทความที่เกี่ยวข้องกับไทย-สหรัฐอเมริกา

ขอบคุณข้อมูลจาก : ThaiPBS (1)(2)กรมประชาสัมพันธ์
เรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษีสหรัฐอเมริกาฟาดไทย ! เจาะลึก 9 ผลกระทบที่คนไทยต้องเจอ เมื่ออเมริกาขึ้นภาษีไทยเป็น 36% อัปเดตล่าสุด 9 กรกฎาคม 2568 เวลา 10:59:10 5,572 อ่าน
TOP
x close