เปิดสถิติเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 1 ที่แจกไป เข้าเจ้าสัวเป็นอันดับแรกจริงไหม เบื้องต้นรู้แค่ว่าสร้างเม็ดเงินหมุนเวียน 1.44 แสนล้าน
ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 1 แจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง คือ คนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับคนพิการ 14.5 ล้านคน จบลงไปเรียบร้อยอย่างเป็นทางการ หลังจากผ่านพ้นวันที่โอนเงินซ้ำครั้งที่ 3 วันที่ 19 ธันวาคม 2567 หลังจากนี้จะไม่มีการโอนซ้ำอีก ใครที่ยังไม่ได้รับเงินก็ต้องรอลุ้นเฟส 2 และเฟสอื่น ๆ ต่อไป
วันที่ 27 ธันวาคม 2567 เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า มีการเปิดเผยสถิติจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับเรื่องการใช้เงิน Digital Wallet ดังนี้
เงินดิจิทัล 10,000 บาท ใช้ทำอะไรบ้าง
ผู้ตอบผลสำรวจกว่า 75% เลือกที่จะใช้เงินก้อนนี้ไปกับการใช้จ่ายสินค้าในครัวเรือน ส่วนที่เหลือไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าเลือกใช้เงินก้อนนี้ไปทำอะไร โดยสินค้าในครัวเรือนที่ประชาชนเลือกจ่าย 3 อันดับแรก คือ
1. ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม
2. ซื้อของใช้ในครัวเรือน
3. ชำระค่าสาธารณูปโภค
ภาพจาก Seika Chujo / Shutterstock.com
สถานที่นำเงิน 10,000 บาทไปใช้คือที่ไหน
1. ร้านค้าในชุมชน ร้านขายของชำ
2. หาบเร่ แผงลอยทั่วไป ตลาด
3. ร้านสะดวกซื้อ มินิมาร์ททั่วไป
จากคำตอบทุกข้อที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนถึงประโยชน์ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีเป้าหมายในการบรรเทาค่าครองชีพ เพิ่มโอกาสให้ประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ เข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็น ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และยังสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2567
เงินดิจิทัลวอลเล็ต สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจได้แค่ไหน
กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 1 สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจได้ถึง 1.44 แสนล้านบาท
ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจ