จ่อคลอดมาตรการใหม่ แก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ดูดเงิน หากโอนเงินออก 5 หมื่น ต้องสแกนใบหน้า เร่งทำให้ทันภายในธันวาคม 2566 ปรับระบบธนาคารมีสายด่วน 24 ชั่วโมงรองรับ ชี้ ปี 2565 คนไทยสูญเงินให้มิจฉาชีพร่วม 500 ล้าน

ปัจจุบันนี้ ปัญหาคอลเซ็นเตอร์หลอกดูดเงินก็ยังคงไม่คลี่คลาย แม้จะเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่คอลเซ็นเตอร์ก็มักมีวิธีใหม่ ๆ มาหลอกล่ออยู่เสมอ ทำให้บางคนสูญเงินหลักล้าน แทบสิ้นเนื้อประดาตัวก็มี แถมเอาเงินคืนก็ยาก เพราะโอนผ่านบัญชีม้าไหลเป็นทอด ๆ ตามถึงต้นตอยังไม่ได้
วันที่ 10 มีนาคม 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ภัยทุจริตทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและหลากหลาย ดังนั้น ธปท. ต้องออกแนวมาตรการเพื่อจัดการเส้นทางการเงิน โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่ง ทำเป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนี้

1. การปิดช่องทางมิจฉาชีพเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น ต้องให้สถาบันการเงินงดส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS และอีเมล รวมถึงงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญผ่านโซเชียลมีเดีย จำกัดบัญชีผู้ใช้งานผ่านโทรศัพท์แค่ 1 อุปกรณ์ต่อ 1 ผู้ใช้เท่านั้น รวมถึงแจ้งเตือนก่อนทำธุรกรรมบนโทรศัพท์ทุกครั้ง
นอกจากนี้ ต้องยกระดับการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า เช่น สแกนใบหน้า พร้อมกับกำหนดเงื่อนไข ต้องสแกนใบหน้าเมื่อโอนเงินมากกว่า 5 หมื่นบาท หรือการปรับเพิ่มวงเงินการทำธุรกรรมต่อวันให้เป็น 5 หมื่นบาทขึ้นไป, กำหนดเพดานวงเงินถอน โอนสูงสุดต่อวัน ตามความเหมาะสมและระดับความเสี่ยงของลูกค้า
2. มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี ธุรกรรมต้องสงสัย ธปท. จะกำหนดเงื่อนไขให้สถาบันการเงินรายงานต่อ ปปง. และต้องมีระบบตรวจจับ ติดตามบัญชี ธุรกรรมต้องสงสัยแบบ near real-time เพื่อให้ระงับได้ทันทีหลังตรวจพบ
3. มาตรการการตอบสนอง รับมือให้สถาบันการเงินต้องมีสายด่วน 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้แจ้งเหตุได้อย่างรวดเร็ว และรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่า ความเสียหายเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องสถาบันการเงิน
สำหรับสถิติปี 2565 พบว่า การหลอกลวงดูดเงินผ่านบัตรเดบิตและเครดิตลดลงกว่าครึ่ง แต่การหลอกลวงผ่านการโอนเงินทางโทรศัพท์เพิ่มขึ้นถึง 79% มีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านบาท

ภาพจาก สำนักข่าวไทย
