x close

ไขข้อสงสัย เซอร์วิสชาร์จ จำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ ไม่จ่ายได้ไหม ? ​สคบ. มีคำตอบ

          สคบ. ไขข้อสงสัย Service charge ไม่จ่ายได้ไหม เปิดหลักเกณฑ์อัตราเรียกเก็บต้องไม่เกินกี่ % ถึงไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ชี้โทษหนักติดคุกยาว ปรับเป็นแสน

ไขข้อสงสัย เซอร์วิสชาร์จ

          ว่าด้วยเรื่องการรับประทานอาหารนอกบ้าน บางครั้งที่ไปรับประทานอาหารในโรงแรม ในห้าง หรือตามร้านอาหารใหญ่ ๆ อาจเจอของแถมเป็นค่า เซอร์วิสชาร์จ (service charge) บางคนอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องจ่าย เพราะไม่ได้รับบริการอะไรเป็นพิเศษจากทางร้านอาหาร แถมบางร้านเป็นแบบให้ลูกค้าบริการตัวเองอีกต่างหาก ทำให้เกิดข้อสงสัยจริง ๆ แล้ว เซอร์วิสชาร์จ ผู้บริโภคจำเป็นต้องจ่ายหรือไม่

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ (3 ตุลาคม 2565) มีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกมาไขข้อสงสัยประเด็นดังกล่าว พร้อมเผยแพร่บทความเรื่อง "Service charge ไม่จ่ายได้ไหม" พร้อมเผยหลักเกณฑ์เงื่อนไข อัตราเรียกเก็บต้องไม่เกินกี่ % ถึงไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย รวมถึงบทลงโทษว่าตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มาตรา 29 ควบคุม ติดคุกยาว ปรับเป็นแสน รายละเอียดมีดังนี้


ไขข้อสงสัย เซอร์วิสชาร์จ

เซอร์วิสชาร์จ (service charge) คือ ?

          - ค่าบริการที่ผู้ประกอบการขายสินค้านั้น ๆ คิดเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ เป็นรายได้ที่นำมาแบ่งให้แก่พนักงานบริการในแต่ละเดือน ถือเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของพนักงาน

อัตราการเรียกเก็บ service charge ที่เหมาะสม ?


          - ตามกฎหมายที่กรมการค้าภายในกำกับอยู่คือ ต้องไม่เกิน 10% เนื่องจากเป็นอัตราราคาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบตามสากลและยอมรับได้

          - ร้านอาหารมีหน้าที่ต้องติดป้ายแสดงทุกอย่างให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้า (ราคา/service charge) และตำแหน่งที่ติดตั้งต้องให้ผู้บริโภคมองเห็นชัดเจน สามารถอ่านได้โดยง่าย เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคทราบก่อนการตัดสินใจที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการ แต่หากติดป้ายไม่ชัดหรือไม่ครบถ้วน นับว่ามีความผิด ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่าย

คิดเซอร์วิสชาร์จแพงเกินจริง มีความผิด บทลงโทษหนักแค่ไหน ?

          - สถานที่ที่คิดเซอร์วิสชาร์จแพงเกินจริง หาเหตุผลไม่ได้ ภาครัฐมี พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ มาตรา 29 ควบคุม ระบุว่า ถ้าผู้ประกอบการขายจำหน่ายสินค้าในลักษณะทำให้เกิดความปั่นป่วน สร้างกลไกการตลาดบิดเบี้ยว ราคาเกินจริง โดยชี้แจงสาเหตุที่เรียกเก็บราคาสูงเกินจริงไม่ได้นั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          โดยสรุป หากผู้ประกอบการแสดงความชัดเจนเรื่องเซอร์วิสชาร์จกับผู้บริโภคแล้ว ทางผู้บริโภคก็ต้องชัดเจนในการตัดสินใจตั้งแต่เลือกเข้าร้านว่ายินดีจ่ายหรือไม่

          หากผู้บริโภคพบเห็นร้านเก็บเซอร์วิสชาร์จ เกิน 10% หรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่มีการชี้แจงที่สมเหตุสมผล รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 หรือสายด่วน สคบ. 1166

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อสงสัย เซอร์วิสชาร์จ จำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ ไม่จ่ายได้ไหม ? ​สคบ. มีคำตอบ อัปเดตล่าสุด 3 ตุลาคม 2565 เวลา 17:49:06 26,819 อ่าน
TOP