
1. ปฏิเสธไม่รับทรัพย์สิน
2. รับทรัพย์สินแล้วผ่อนต่อ
สำหรับทายาทที่ต้องการบ้านหลังนี้จะต้องรับสภาพหนี้และเข้ามาทำสัญญากับธนาคารใหม่อีกครั้ง ซึ่งธนาคารจะประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของทายาทกับยอดหนี้คงเหลือว่าจะปล่อยสินเชื่อให้ได้หรือไม่ ถ้ากู้ผ่าน ทายาทก็จะเป็นคนจ่ายเงินงวดผ่อนต่อจนกว่าจะครบสัญญา แต่กรณีที่กู้ไม่ผ่าน เนื่องจากไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ธนาคารก็จำเป็นต้องนำบ้านไปขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทายาทอาจไม่ต้องปวดหัวกับการหาเงินมาผ่อนบ้านเลยก็ได้ หากผู้เสียชีวิตได้ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน (Mortgage Reducing Term Assurance : MRTA) เอาไว้ด้วย

ในการขอสินเชื่อบ้าน ธนาคารอาจแนะนำให้ผู้กู้ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน (MRTA) ซึ่งหลายคนคิดว่าไม่จำเป็น เพราะมองว่าตัวเองอายุยังน้อย ไม่คุ้มกับการจ่ายเบี้ยประกันที่ค่อนข้างสูง แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากผู้กู้เสียชีวิตในระหว่างที่ผ่อนบ้านอยู่ ประกันตัวนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนทันที เนื่องจากจะช่วยชำระหนี้บ้านให้ตามจำนวนเงินทุนประกัน ยกตัวอย่างเช่น
● คนที่ 1 มีหนี้บ้านอยู่ 1,200,000 บาท ทำประกัน MRTA โดยมีวงเงินคุ้มครองเหลือ 1,000,000 บาท เมื่อเสียชีวิต ประกันจะชำระหนี้บ้านให้ 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 200,000 บาท ทายาทจะเป็นผู้ผ่อนต่อ ซึ่งมีโอกาสขอสินเชื่อผ่านง่ายขึ้น เนื่องจากจำนวนหนี้สินเหลือน้อยลง*
● คนที่ 2 มีหนี้บ้านอยู่ 900,000 บาท ทำประกัน MRTA โดยมีวงเงินคุ้มครองเหลือ 1,000,000 บาท เมื่อเสียชีวิตกะทันหัน ประกันจะชำระเงินกู้บ้านให้ทั้งหมด และเงินผลประโยชน์ส่วนที่เหลืออีก 100,000 บาท จะจ่ายให้ทายาทตามลำดับ*
● คนที่ 3 กู้ซื้อบ้าน 3,000,000 บาท และทำประกัน MRTA ครอบคลุมยอดสินเชื่อทั้งหมด 3,000,000 บาท ถ้าจากไปก่อนวัยอันควร พ่อแม่ สามี-ภรรยา หรือลูกหลาน ก็จะได้บ้านหลังนี้เป็นมรดกทันที โดยไม่ต้องผ่อนอีกเลย*
(*) ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์
ดังนั้น คนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือคนที่ต้องผ่อนบ้านในระยะยาว จึงควรพิจารณาเรื่องประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้านไว้บ้าง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับคนที่อยู่ข้างหลังค่ะ

โปรโมชั่นสินเชื่อบ้านหลายผลิตภัณฑ์ อาจมีทางเลือกให้ผู้กู้ทำประกัน MRTA ร่วมด้วย เพื่อรับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ แต่สำหรับสินเชื่อบ้านของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้ต้องทำประกันส่วนนี้ เราจึงสามารถเลือกได้ตามความสมัครใจเลยว่าจะทำประกันหรือไม่ โดยที่ยังได้รับดอกเบี้ยโปรโมชั่นไม่ต่างกัน
ส่วนคนที่ต้องการความอุ่นใจเพื่อวันข้างหน้า ทาง ธอส. ก็มี ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อโครงการ "คุ้มนิรันดร์ พลัส" ที่จะคุ้มครองในยามที่เราเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง รวมทั้งเพิ่มความคุ้มครองการสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุ โดยมีเงื่อนไขการสมัครทำประกัน ดังนี้ค่ะ
● เป็นลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ที่มีระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และมีวงเงินกู้ หรือวงเงินกู้คงเหลือ ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป
● อายุรับประกันภัยตั้งแต่ 18-70 ปีบริบูรณ์ (รวมกับระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ ต้องไม่เกิน 75 ปี)
● มีระยะเวลาเอาประกันภัย ตั้งแต่ 5 ปี สูงสุดไม่เกิน 30 ปี
● จำนวนเงินเอาประกันภัยสูงสุดไม่เกินวงเงินกู้
● สามารถสมัครทำประกันภัยได้ทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม
● อัตราเบี้ยประกันภัยขึ้นอยู่กับเพศ อายุ ระยะเวลาเอาประกันภัย และจำนวนเงินเอาประกันภัย
● ชำระเบี้ยประกันภัยเพียงครั้งเดียว หรือสามารถกู้เพิ่มเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ (MRTA) ได้
ข้อดีของการทำประกันโครงการคุ้มนิรันดร์ พลัส ก็คือ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันจนทำให้เราทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงหรือเสียชีวิตในระหว่างที่ผ่อนบ้าน ทายาทหรือผู้กู้ร่วมจะไม่ต้องรับภาระหนี้สินค้างชำระส่วนนี้ และในกรณีที่เราผ่อนบ้านหมดเร็ว คือปิดบัญชีเงินกู้ก่อนกำหนด ก็ยังสามารถคงความคุ้มครองประกันชีวิตไว้เป็นมรดกให้ครอบครัวได้เหมือนเดิม หรือจะขอใช้สิทธิเวนคืนกรมธรรม์ก็ได้เช่นกัน