x close

รู้จัก SCBX การปรับโฉมก้าวใหญ่ของ SCB จากธนาคารสู่บริษัทเทค รับกระแสดิสรัปชัน

          ธนาคารไทยพาณิชย์ แถลงเตรียมถอด SCB ออกจากตลาดหลักทรัพย์ เปลี่ยนโฉมธุรกิจเป็น SCBX ไม่ใช่บริษัทธนาคารแบบเดิมอีกต่อไป พร้อมแตกไลน์ธุรกิจย่อย ๆ เป็นอีกบริษัท เพื่อรับมือกับยุคหลังโควิด 19

ไทยพาณิชย์, SCBX

        นับเป็นข่าวที่ฮือฮาวงการการเงินครั้งสำคัญ เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศเตรียมปรับโครงสร้างใหญ่ด้วยการถอนบริษัท SCB ออกจากตลาดหลักทรัพย์ และตั้งบริษัทแม่ขึ้นมาใหม่คือ SCBX โดยตัวธนาคาร SCB เดิม จะอยู่ภายใต้บริษัทแม่ และมีบริษัทอื่น ๆ ประกอบอยู่เคียงข้าง ซึ่งแนวทางนี้จะมีการเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนพฤศจิกายน 2564 รายละเอียดเป็นอย่างไร กระปุกดอทคอมจะสรุปให้อ่านกัน
(อ่านเพิ่มเติม หุ้นไทย << ข่าวหุ้นวันนี้ การลงทุนที่น่าสนใจ)

สาเหตุที่ต้องพลิกโฉมบริษัทใหม่


ไทยพาณิชย์, SCBX

        การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นี้ มาจากกระแสธุรกิจที่เปลี่ยนไป เดิมนั้นธนาคารจะมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แต่ในปัจจุบัน พฤติกรรมของลูกค้าที่ไม่เหมือนเดิมจากกระแส Digital Disruption ทำให้ธนาคารเริ่มตระหนักว่า คงไม่สามารถจำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมได้แล้ว ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะมีแต่สูญหายไปตามกาลเวลา

        ด้วยเหตุนี้ จึงต้องตั้งบริษัท SCBX ขึ้นมา เพื่อทลายข้อจำกัดเดิม ๆ ทางธุรกิจที่ธนาคารปัจจุบันทำไม่ได้ โดยที่ SCB หรือธนาคารดั้งเดิมจะอยู่ในเครือบริษัทลูกแทน ส่วนบริษัทแม่ จะมีไลน์ธุรกิจ 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่

        1. ธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน เช่น ธนาคาร ประกัน

        2. ธุรกิจ New Growth ซึ่งจะมีการแยกธุรกิจใหม่ ๆ ออกมา และมีการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่น ๆ ด้วย

กระบวนการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ


        จะมีการเพิกถอนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ออกจากตลาดหลักทรัพย์ และมีการ share swap (แลกหุ้น) ของผู้ถือหุ้นจาก SCB เป็น SCBX เสร็จแล้วค่อยไปจดทะเบียนบริษัท SCBX เข้าตลาดหุ้นแทน อย่างไรก็ตาม ชื่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ แม้จะเปลี่ยนบริษัทแล้ว ก็ยังคงใช้ชื่อ SCB เหมือนเดิม

        นอกจากนี้ จะมีการขออนุมัติ SCB ในการจ่ายปันผลพิเศษราว 7 หมื่นล้านบาท ไม่ได้จ่ายผู้ถือหุ้นในปีนี้ แต่แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

        1. ร้อยละ 70 (ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท) ให้ SCBX รองรับการปรับโครงสร้างธุรกิจ

        2. ร้อยละ 20-30 (ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท) จ่ายให้ผู้ถือหุ้น SCBX ในกลางปี 2565

        อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะผ่านได้ก็ต้องมีผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 เห็นชอบ

ไลน์ธุรกิจในเครือ SCBX มีอะไรบ้าง


ไทยพาณิชย์, SCBX

        ในส่วนของไลน์ธุรกิจที่แยกย่อยออกมานั้น แต่ละบริษัทจะมีทีมงาน ผู้บริหาร แยกจากบริษัทแม่โดยสิ้นเชิง คาดว่าจะมีการแตกตัวออกมาเป็น 15-16 บริษัท เช่น การแยกส่วนของบัตรเครดิตออกมา รายละเอียดเบื้องต้นของบริษัทลูกต่าง ๆ ได้แก่

        1. Card X เป็นบริษัทที่โอนกิจการออกมาจาก SCB ทำเรื่องธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต

        2. Alpha X เป็นบริษัทที่ร่วมมือกับกลุ่ม Millennium Group ทำเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้กับเจ้าของรถหรูและยานพาหนะทางน้ำ เช่น เรือยอชต์ รถบิ๊กไบค์ ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท

        3. Tech X เป็นบริษัทที่ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี

        4. AISCB เป็นบริษัทที่ร่วมมือกับ AIS เพื่อทำสินเชื่อดิจิทัล ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท

        5. CPG-SCB Group JV เป็นบริษัทที่ร่วมมือกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพีจี) ในการจัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อคเชน สินทรัพย์ดิจิทัล ฟินเทค เป็นต้น

        6. Auto X เป็นธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จับลูกค้ากลุ่มใหญ่

        7. Tech X เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยี

        8. Purple Ventures เป็นธุรกิจด้านเดลิเวอรี่อาหาร ได้แก่ ผู้ให้บริการแอปฯ โรบินฮู้ด

        10. SCB Securities เป็นธุรกิจด้านหลักทรัพย์

        11. TokenX เป็นธุรกิจด้าน Digital token


เป้าหมายของการดำเนินการธุรกิจ ภายใน 5 ปี


        - ผลตอบแทนทางธุรกิจจะพุ่งขึ้นเป็น 1.5-2 เท่า

        - ฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ จะเพิ่มเป็น 200 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีอยู่แค่ 16 ล้านคน

        - มาร์เก็ตแค็ป จะเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่ที่ 365 ล้านบาท

        - มีการผลักดันบริษัทในเครือเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก SCBX การปรับโฉมก้าวใหญ่ของ SCB จากธนาคารสู่บริษัทเทค รับกระแสดิสรัปชัน อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2564 เวลา 13:53:21 33,521 อ่าน
TOP