เผยเงินเดือน นายก-รัฐมนตรี หลังพาเหรดประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน สมทบทุนช่วยพี่น้องประชาชนจากโควิด 19 รวมแล้วเป็นเงินคนละเท่าไหร่
วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศกลางวงประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ว่าตนเองจะไม่ขอรับเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้นำเงินดังกล่าว ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังลำบากจากโควิด-19 อยู่ในช่วงนี้ ทำให้หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรี ชุดปัจจุบันอีกหลายคนก็ออกมาแสดงสปิริตไม่ขอรับเงินเดือนเช่นกันประกอบด้วย
- พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
- นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
- นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- นายจุติ ไกรกฤษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
และคาดว่าหลังจากนี้น่าจะมีรัฐมนตรีและนักการเมือง อีกหลายรายคงทยอยประกาศไม่รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกหลายราย จนหลายคนอยากทราบว่าเงินเดือนของแต่ละท่านได้ต่อเดือนกันคนละเท่าไหร่

ภาพจาก กระทรวงแรงงาน
เงินเดือนตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
- เงินเดือนของนายกรัฐมนตรี มีอัตราเงินเดือนอยู่ที่ 75,590 บาท บวกเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 125,590 บาท รวม 3 เดือนเท่ากับ 376,770 บาท
เงินเดือนตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี
- รองนายกรัฐมนตรี มีอัตราเงินเดือนอยู่ที่ 74,420 บาท บวกเงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท รวม 119,920 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 359,760 บาท
เงินเดือนตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง / รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
- มีอัตราเงินเดือนอยู่ที่ 73,240 บาท บวกเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 347,220 บาท
เงินเดือนตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
- มีอัตราเงินเดือนอยู่ที่ 72,060 บาทบวกเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 41,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 340,680 บาท
สำหรับข้าราชการการเมืองที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยนั้น หากได้รับเงินประจำตำแหน่ง หรือเงินเพิ่มสำหรับสมาชิกสภาดังกล่าวแล้ว จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในฐานะข้าราชการการเมืองอีก เพราะถือว่าได้รับเงินเดือนจากตำแหน่งเดิมเท่านั้น จะไม่ได้รับเงินเดือนในส่วนของเงินประจำตำแหน่งข้าราชการการเมือง
สิทธิประโยชน์อื่น ๆ
นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการการเมือง ยังมีสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น
1. สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายการเดินทาง โดยสามารถเบิกเงินค่าเดินทางมาประชุมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือคณะกรรมาธิการ หากเป็นพาหนะส่วนตัว จะได้รับเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะ ส่วนการโดยสารเครื่องบิน รถไฟ และรถยนต์ประจำทาง จะได้รับใบเบิกทางเพื่อใช้ในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ยังสามารถเบิกเงินค่าเดินทางไปราชการต่างประเทศได้ แต่จะต้องได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจากประธานรัฐสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร
2. สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลของทางราชการและเอกชน กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ค่าห้องและค่าอาหารวันละ 4,000 บาท เบิกได้สูงสุด 31 วันต่อครั้ง, ค่าห้องไอซียูวันละ 10,000 บาท เบิกได้สูงสุด 7 วันต่อครั้ง, ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 100,000 บาทต่อครั้ง เป็นต้น
3. เบี้ยประชุม โดยถ้าเป็นประธานประชุมกรรมาธิการได้ครั้งละ 1,500 บาท ผู้เข้าร่วมประชุมกรรมาธิการ ได้ครั้งละ 1,200 บาท ส่วนประชุมอนุกรรมาธิการ ได้ครั้งละ 800 บาท

ภาพจาก รัฐสภาไทย