เปิดรายละเอียด มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ธปท. - กรมบังคับคดี จัดช่องทางแบ่งเบาภาระช่วงโควิด 19 คนมีหนี้ต้องไม่พลาด ใครเข้าข่ายเข้าร่วมโครงการบ้างดูเลย !

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด 19 ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย เช่น รายได้ที่ลดลง การเลิกจ้าง การพักงาน การลดชั่วโมงทำงาน เป็นต้น ซึ่งทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงไปด้วย
ล่าสุด วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และ ธปท. จัดงาน "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล" เพื่อช่วยลูกหนี้และเจ้าหนี้ให้ผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ไปได้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประชาชนที่มีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นหนี้ดีที่ยังผ่อนชำระปกติ แต่เริ่มขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือหนี้ NPL ทั้งที่ยังไม่มีการฟ้อง อยู่ระหว่างฟ้อง หรือที่มีคำพิพากษาไปแล้ว สามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมครั้งนี้เพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาที่มีกับเจ้าหนี้ได้

จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 14 เมษายน 2564
เนื่องจากปัจจุบันยังจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 มหกรรมครั้งนี้เป็นการไกล่เกลี่ยแบบออนไลน์ (Online mediation) ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี ธปท. และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) รวมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าร่วม

ภาพจาก VasitChaya / Shutterstock.com
เป้าหมายของมหกรรมครั้งนี้ ?
- การไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในส่วนที่มีคำพิพากษาและถูกบังคับคดีแล้ว ซึ่งไม่สามารถเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ และปกติเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้เจ้าหนี้มักจะไม่ยอมเจรจา แต่ผู้ให้บริการทางการเงินจำนวน 22 แห่ง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องผ่อนปรนเงื่อนไขให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายเดินต่อไปได้
- ช่วยลดคดีการฟ้องร้องและหนี้สินให้กับประชาชน ตั้งเป้าว่าปี 2564 จะสามารถลดจำนวนคดีผู้บริโภคได้ 3 แสนคดี หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของคดีปี 2562
ข้อเสนอที่จะได้รับ อาทิ
- จ่ายเฉพาะเงินต้น
- ยกดอกเบี้ยค้างชำระให้ทั้งหมดเมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นตามสัญญา
- มีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้นานขึ้น

ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง
1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
5. ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. สาขากรุงเทพมหานคร
6. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
7. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
8. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
9. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
10. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
Non-bank จำนวน 12 แห่ง
1. บริษัท เจนเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด
2. บริษัท ซิตี้คอร์ปลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
3. บริษัท เทสโก้ โลตัส มันนี่ เซอร์วิส จำกัด
4. บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด
5. บริษัท พรอมิส (ประเทศไทย) จำกัด
6. บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด
9. บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
10. บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน)
11. บริษัท ไอทีทีพี จำกัด
12. บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)
อย่างไรก็ตาม หากต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร. 1213 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. กรณีนอกเวลาทำการท่านสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมลมาที่ fcc@bot.or.th เพื่อที่เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ