x close

คลัง เล็งกู้ชดเชยขาดดุล-ปรับแผนเก็บภาษีเพิ่ม ในปี 2564 ป้องกันรัฐบาลถังแตก

          รมว.คลัง เตรียมกู้เงินเข้า งบประมาณปี 64 อุดส่วนต่างที่จัดเก็บรายได้ไม่ถึงเป้า ป้องกันรัฐบาลถังแตก วางแผนหาเงินเพิ่มจากการเก็บภาษี

กู้เงินชดเชย ขาดดุลงบปี 64
ภาพจาก สำนักข่าว INN

          วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 สปริงนิวส์ รายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2564 ยังตั้งเอาไว้เท่าเดิมคือ 2.085 ล้านล้านบาท แม้สุดท้ายจะไม่ได้ตามเป้าก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเป็นงบประมาณแบบขาดดุล สามารถกู้ชดเชยเพื่อการขาดดุลเพิ่มเติมได้หากรายจ่ายมากกว่ารายได้ เช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ตรวจสอบช่องว่างว่ากู้ได้อีกเท่าไร จะสรุปได้ในเร็ว ๆ นี้ ยืนยันว่ารายจ่ายของรัฐบาลจะไม่ช็อตแน่นอน

          ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 6.32 แสนล้านบาท ซึ่งหากจะต้องกู้เพิ่ม กรณีรายจ่ายมากกว่ารายรับนั้น ก็สามารถกู้ได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพราะกฎหมายถูกกำหนดเอาไว้ว่า กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลได้ 20% ของงบประมาณรายจ่าย บวกกับ 80% ของต้นเงินชำระคืนเงินกู้ ซึ่งจะทำให้วงเงินอยู่ที่ 7.36 แสนล้านบาท

          ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 วงเงินรายจ่ายประเทศอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.6 แสนล้านบาท และมีการขออนุมัติผ่าน ครม. เพื่อกู้เงินกรณีรายจ่ายมากกว่ารายรับมาแล้ว 2.14 แสนล้านบาท เต็มเพดานกู้เงินที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้แล้ว

กู้เงินชดเชย ขาดดุลงบปี 64

          ส่วนนโยบายที่กระทรวงการคลังมอบให้กรมสรรพากรดำเนินการในสาระสำคัญ 3 ประเด็น ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดำเนินการมาต่อเนื่องอยู่แล้วได้แก่

          1. การขยายฐานภาษีให้เพิ่มขึ้น โดยการชักชวนให้ผู้ที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีบุคคลธรรมดาอยู่ในระบบภาษี 9 ล้านคน และมีผู้เสียภาษีจริง 3 ล้านคน และเป็นผู้อยู่นอกระบบภาษีอีก 6 ล้านคน การขยายฐานภาษีถือว่ามีความสำคัญเพราะว่าการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรคิดเป็น 70% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้ให้มีการขยายฐานภาษีนิติบุคคลด้วย

          2. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยให้นำเทคโนโลยีไปสู่การเก็บภาษีด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น

          3. การปรับโครงสร้างภาษี เพื่อรองรับเศรษฐกิจและภาคธุรกิจหลัง โควิด-19 โดยให้ประสานกับกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ออนไลน์


ขอบคุณข้อมูลจาก สปริงนิวส์
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คลัง เล็งกู้ชดเชยขาดดุล-ปรับแผนเก็บภาษีเพิ่ม ในปี 2564 ป้องกันรัฐบาลถังแตก โพสต์เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 16:45:17 18,688 อ่าน
TOP