แบงก์ชาติ โร่แจง ไทยไม่ได้บิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐฯ หลังมีกระแสวิเคราะห์ ไทยกับไต้หวัน อาจถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จับตา ปั่นค่าเงิน สร้างความได้เปรียบด้านการค้ากับสหรัฐฯ

โดย 3 เงื่อนไขที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ใช้พิจารณาว่าเป็นประเทศที่ต้องจับตาว่ามีการปั่นค่าเงินหรือไม่นั้น ประกอบด้วย
1. มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์
2. เกินดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างน้อย 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
3. ธนาคารกลางเข้าแทรกแซงค่าเงิน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในรอบ 1 ปี และซื้อเงินดอลลาร์เทียบได้กับ 2% ของ GDP
ในขณะที่ก่อนหน้านี้มีบทวิเคราะห์ออกมาว่าไทยมีความเสี่ยงในการเข้าเกณฑ์แทรกแซงค่าเงิน จากการเข้าเงื่อนไข 2 ใน 3 ข้อ แต่ในรายงานฉบับใหม่จาก ยูบีเอส เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ชี้ว่า ไทยกับไต้หวันได้เข้าเงื่อนไขได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ เกินดุลมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนักยุทธศาสตร์ของยูบีเอส คาดว่า ทั้งไทยและไต้หวันอาจถูกเพิ่มเข้ารายชื่อจับตาของสหรัฐฯ ต่อจากนี้
อนึ่ง ยูบีเอส ชี้ว่า ไต้หวันเพิ่งหลุดพ้นรายชื่อเฝ้าจับตาของสหรัฐฯ เมื่อปี 2560 แต่ตอนนี้ไต้หวันได้กลับมาเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ประการอีกครั้ง
ทั้งนี้ ธปท. ได้ย้ำเสมอว่า ธุรกรรมของ ธปท. ในตลาดเงินตราต่างประเทศ มิได้มุ่งหวังที่จะบิดเบือนค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้ากับคู่ค้าของไทย เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง ทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า ไม่ได้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง และการทำธุรกรรมในตลาดเงินตราต่างประเทศของ ธปท. เป็นไปทั้ง 2 ทางเช่นกัน คือ มีทั้งการซื้อและการขายเงินตราต่างประเทศ ตามปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้า-ออกอย่างผันผวนและรวดเร็ว