ข้อกฎหมายชัด ลูกจ้างไม่เซ็นลาออกได้ถ้าไม่สมัครใจ ถูกเลิกจ้างต้องได้เงินชดเชย

          เลขาฯ สภาทนายความ เผย ลูกจ้างมีสิทธิไม่เซ็นลาออกได้ ถ้าไม่สมัครใจ หากถูกขู่ - บังคับ และไม่ได้รับเงินชดเชย ร้องเรียนได้ที่กระทรวงแรงงาน


ลูกจ้าง

          วันที่ 21 เมษายน 2563 นายนิพนธ์ จันทเวช เลขาธิการสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลทางวิชาการว่า ถึงสิทธิที่ลูกจ้างควรรู้ คือกรณีถูกนายจ้างบังคับให้เซ็นลาออกนั้น ตามกฎหมายนายจ้างไม่สามารถทำได้โดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอม ลูกจ้างมีสิทธิที่จะไม่เซ็นลาออก มีกฎหมายแรงงานคุ้มครอง แต่บางราย บริษัทหรือนายจ้างจะคุยเรื่องผลประโยชน์ หากตกลงกันได้เป็นที่พอใจแล้ว ถือว่าได้ประนีประนอมยอมความตกลงกัน

การที่พนักงานถูกเลิกจ้าง จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยก็ต่อเมื่อมีอายุงานตามเกณฑ์ที่กำหนด ดังนี้


          - ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน

          - ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน

          - ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน

          - ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน

          - ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปีขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน

          หากบริษัทใดหรือนายจ้างกิจการใดไม่ทำตามกฎหมาย ลูกจ้างหรือพนักงานที่เสียหายสามารถไปร้องเรียนไปที่กระทรวงแรงงาน หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประจำจังหวัด

          ลูกจ้างคนใดถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดนบังคับขู่เข็ญจำใจให้เซ็นยินยอมลาออกทั้งที่ไม่สมัครใจ สามารถไปร้องเรียนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อเพิกถอนการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หากพบว่านายจ้างผิดจริง มีบทลงโทษทั้งปรับเงิน จนถึงจำคุก

ลูกจ้าง

ข้อมูลจาก สำนักข่าว INN



เรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้อกฎหมายชัด ลูกจ้างไม่เซ็นลาออกได้ถ้าไม่สมัครใจ ถูกเลิกจ้างต้องได้เงินชดเชย อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2563 เวลา 10:33:32 20,828 อ่าน
TOP
x close