x close

นักเศรษฐศาสตร์ เทียบความแตกต่าง โควิด 19 กับ ต้มยำกุ้ง ปี 40 วิกฤตไหนหนักหน่วงกว่ากัน

 

            นักเศรษฐศาสตร์ เทียบความต่างวิกฤต ต้มยำกุ้ง กับ โควิด 19 ครั้งนี้กระทบทุกกลุ่ม ฝากความหวังที่บุคลากรทางการแพทย์ คาดถึง 2 ปีจะฟื้นตัวดี

covid-19
ภาพจาก 2p2play / Shutterstock.com

            สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด 19 ในไทย สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมอย่างหนัก หนึ่งในด้านที่กระทบมากสุดคือ เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนถึงกับยกไปเปรียบเทียบกับ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2540 ว่า ครั้งนี้ก็หนักหนาไม่แพ้กัน หรืออาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำนั้น

            เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 7 เมษายน 2563 เว็บไซต์ข่าวช่อง 3 ได้สอบถาม ผศ. ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถึงความแตกต่างของวิกฤต COVID-19 กับ ต้มยำกุ้ง โดยมีข้อสังเกต ดังนี้

            ความมั่นคงทางการเงิน

             - ช่วง วิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่เพียง 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีหนี้ในต่างประเทศถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้องไปกู้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นจำนวนเงินกว่า 17,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

              - ช่วง โควิด 19 ไทยยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ครั้งนี้ไทยเจอวิกฤตสุขภาพ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ คนตกงาน ธุรกิจปิดตัว รัฐบาลต้องนำเงินออกมาเยียวยาผู้คนจำนวนมาก

            ความแตกต่างของผลกระทบ

             - ช่วง วิกฤตต้มยำกุ้ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ คนรวยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีสถาบันการเงินกว่า 50 แห่งต้องปิดตัว แต่กลุ่มแม่ค้าทั่วไปยังทำมาค้าขายได้ ซ้ำยังรายได้เพิ่มขึ้น จากการที่ได้คนเคยรวยเป็นกลุ่มลูกค้าเพิ่ม ซึ่งผลกระทบจะเกิดขึ้นเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ โดยมีการรู้คร่าว ๆ ว่าวิกฤตจะค่อย ๆ ฟื้นตัวภายใน 1-2 ปี โดยอาชีพที่ช่วยให้ผ่านพ้นไปได้คือ นักการเงิน และนักเศรษฐศาสตร์ 

              - ช่วง โควิด 19 ทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมด ทั้งคนจน คนชั้นกลาง คนรวย ซึ่งมีความเดือดร้อนแบบนี้คล้ายกันทั่วทั้งโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่ร่ำรวย หรือประเทศมหาอำนาจ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวิกฤตจะจบลงเมื่อใด ผู้ที่จะช่วยให้วิกฤตผ่านพ้นได้คือ บุคลากรทางการแพทย์

covid-19

             ข้อสรุปของการรับมือ วิกฤต โควิด 19

             วิกฤต โควิด 19 หนักหนาสาหัสกว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะครั้งนี้ไวรัสไม่เว้นว่าใครเป็นคนรวย คนจน คนชั้นกลาง ในขณะที่ความเหมือนกันคือ รัฐบาลต้องช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ เกิดสภาพคล่องให้ได้มากที่สุด ซึ่งคาดว่า เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2563 สถานการณ์ก็จะเริ่มดีขึ้นบ้าง ระหว่างนี้ไทยต้องค่อย ๆ ประคองให้เดินหน้าต่อไป ถ้ารอจนโรคระบาดหายไป คนก็คงเป็นโรคบ้าและอดตายกันหมด เชื่อว่ากว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยดีจะกินเวลา 2 ปี ส่วนปีนี้ทั้งปี อย่างไรก็ต้องติดลบแน่นอน
>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เว็บไซต์ข่าวช่อง 3

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักเศรษฐศาสตร์ เทียบความแตกต่าง โควิด 19 กับ ต้มยำกุ้ง ปี 40 วิกฤตไหนหนักหน่วงกว่ากัน อัปเดตล่าสุด 14 เมษายน 2563 เวลา 11:31:29 68,285 อ่าน
TOP