10 ข้อควรรู้ ! มือใหม่เปิดร้านอาหาร เริ่มต้นยังไงดี


          อยากเปิดร้านอาหาร เริ่มต้นยังไงดี มีเรื่องอะไรบ้างที่ควรรู้ สำหรับทำธุรกิจร้านอาหารแบบมืออาชีพ

ร้านอาหาร

          ทุกวันนี้มนุษย์เงินเดือนคนทำงาน ฝันอยากเป็นนายตัวเองเลยออกมาทำธุรกิจส่วนตัวกันมากขึ้น ซึ่งธุรกิจยอดฮิตอย่าง "ร้านอาหาร" คงเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของหลายคน เพราะดูเผิน ๆ เหมือนว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ยากอะไร ใครก็สามารถเริ่มต้นได้ แต่รู้ไหมว่าความจริงแล้วการจะทำร้านอาหารให้อยู่รอดแบบยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 

          เพราะฉะนั้น การวางแผนให้ดีก่อนเริ่มต้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และใครที่ยังไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นยังไงดี ต้องศึกษาเรื่องอะไรก่อนบ้าง วันนี้เรามีแนวทางสำหรับคนอยากเปิดร้านอาหารมาฝาก 


1. ขายอะไรดี ?

          คำถามแรกที่คุณต้องตอบให้ได้ก่อนจะตัดสินใจเปิดร้านอาหาร คือ จะขายอะไร อาหารประเภทไหน มีเมนูอะไรบ้างที่เป็นจุดเด่นของร้าน และที่สำคัญใครคือกลุ่มลูกค้าของเรา 

          เรื่องนี้ไม่มีคำตอบตายตัว แต่โดยทั่วไปแล้วเรามักจะเลือกขายอาหารที่ตัวเองมีความถนัด ทำได้ดี หรือมีสูตรลับเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ บางคนอาจจะเลือกขายอาหารจากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค และมองเห็นช่องทางการตลาดที่ยังสามารถเติบโตได้ในอนาคต 

2. หาทำเลที่ใช่

เปิดร้านอาหาร

          เมื่อได้เมนูแล้ว "ทำเล" เป็นสิ่งที่สำคัญลำดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ โดยสิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกทำเลก็มีทั้ง

          • ความพลุกพล่านของผู้คน ควรสำรวจดูว่าในแต่ละวัน ในแต่ละช่วงเวลา มีคนสัญจรผ่านไปมามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีคนเยอะ ๆ เฉพาะช่วงเย็น หรือเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ต้องพิจารณาดี ๆ ว่าจะคุ้มไหม

          • กลุ่มเป้าหมายบริเวณนั้นเป็นคนประเภทไหน พนักงานออฟฟิศ, นักเรียน-นักศึกษา, กลุ่มผู้สูงอายุ หรือ นักท่องเที่ยว

          • อัตราค่าเช่า

          • มีที่จอดรถหรือเปล่า 

          • จำนวนร้านอาหารคู่แข่ง

          • ไกลจากแหล่งวัตถุดิบมากไหม 

          อย่างไรก็ตาม แม้ทำเลจะดีขนาดไหน ก็อย่าลืมว่าทำเลนั้นต้องเหมาะสมกับประเภทอาหารและรูปแบบร้านของเราด้วย

3. เตรียมเงินทุนให้พร้อม  

เปิดร้านอาหาร

          ฝันจะไม่สามารถเป็นจริงได้เลย ถ้าปราศจากเงินทุน โดยแหล่งเงินทุนอาจจะมาทั้งจากเงินเก็บส่วนตัว ทุนจากครอบครัว เงินหุ้นส่วนกับเพื่อน หรือหากใครที่ไม่มีทุนเป็นของตัวเอง ก็สามารถเลือกใช้ตัวช่วยอย่าง สินเชื่อสำหรับธุรกิจของธนาคารต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วย ฉะนั้น การตัดสินใจกู้เงินมาเปิดร้านอาหารจึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน

          ทั้งนี้ แนะนำว่าไม่ควรนำสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น บัตรเครดิต หรือ บัตรกดเงินสด มาใช้เป็นเงินทุนสำหรับทำธุรกิจ เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก 

4. เลือกแหล่งวัตถุดิบ

          การซื้อวัตถุดิบเป็นสิ่งที่ต้องคำนวณให้ดี ๆ ว่าจะเลือกใช้รูปแบบไหน คือ จะเดินทางไปซื้อที่แหล่งด้วยตัวเอง หรือเดี๋ยวนี้มักมีบริการจัดส่งให้ถึงหน้าร้านเลย ซึ่งดูเหมือนจะแพงกว่า แต่หากลองคิดค่าใช้จ่ายในเดินทางและเวลาที่เสียไปแล้ว บางทีการเลือกบริการจัดส่งก็อาจจะคุ้มค่ากว่าก็ได้ 

          นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการสต็อกวัตถุดิบให้เหมาะสมด้วย ซึ่งหากสามารถจัดสรรได้ดี ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนไปได้เยอะทีเดียว แต่ต้องอย่าลืมคำนึงถึงคุณภาพวัตถุดิบด้วย 

5. มองหาพนักงานที่เหมาะกับร้าน 

เปิดร้านอาหาร

          แม้หลายคนอาจจะคิดว่าเราสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว แต่หากอยากให้ร้านเติบโตขึ้นแล้ว ยังไงก็จำเป็นต้องจ้างพนักงานมาช่วย โดยพนักงานร้านอาหารที่จำเป็นต้องมี อย่างเช่น พ่อครัว เด็กเสิร์ฟ คนล้างจาน แคชเชียร์ เป็นต้น 

          แน่นอนว่าหากตั้งใจจะเป็นเจ้าของธุรกิจแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องบริหารคนให้ได้ และการมีพนักงานที่ดี ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมร้านให้ดีขึ้นไปด้วย  

6. วิธีการตั้งราคาอาหาร 

          ราคาอาหารเป็นหัวใจสำคัญที่จะบอกได้เลยว่าร้านจะเดินหน้าต่อได้ดีขนาดไหน เพราะหากตั้งราคาต่ำไปก็ได้กำไรน้อย แต่ถ้าตั้งสูงเกินไปอาจกลายเป็นว่าขายได้ไม่ดี ไม่มีลูกค้าเข้าได้เช่นกัน ดังนั้น อาจจะเปรียบเทียบกับร้านอื่น ๆ ในท้องตลาดควบคู่กันไปว่าแต่ละร้านขายกันเท่าไหร่ รวมถึงดูกลุ่มลูกค้าของเราด้วยว่าเป็นใคร มีกำลังซื้อมากน้อยแค่ไหน 

          โดยทั่วไปแล้ววิธีง่ายที่สุด มักจะตั้งราคาโดยบวกจากต้นทุนค่าใช้จ่ายขึ้นไป 15 - 30% เช่น ถ้าขายได้วันละ 100 จาน จะได้กำไรวันละ 1,500 - 3,000 บาท เดือนนึงก็ได้กำไร 45,000 - 90,000 บาท แล้วลองคำนวณดูคร่าว ๆ ว่า ยังมีค่าใช้จ่ายอะไรที่ต้องหักออกในแต่ละเดือนอีก สุดท้ายแล้วเราจะเหลือกำไรมากน้อยแค่ไหน ร้านสามารถอยู่ได้ไหม


7. เข้าใจการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย 

เปิดร้านอาหาร

          แม้ร้านอาหารของเราจะขายดิบขายดีขนาดไหน แต่หากไม่สามารถควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ ก็อาจส่งผลให้ร้านต้องหยุดชะงักเอาได้ง่าย ๆ โดยต้นทุนแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่  

          • ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost)  เช่น ค่าตกแต่งร้าน ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ เงินมัดจำเช่าสถานที่ ค่าขอใบอนุญาตต่าง ๆ 

          • ต้นทุนหมุนเวียน (Variable Cost) เช่น ซื้อวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ-ค่าไฟ 

          ทั้งนี้ ควรจะต้องบริหารเงินทั้ง 2 ส่วนให้ลงตัว เพราะหลายคนทุ่มเงินจำนวนมากไปกับการตกแต่งร้าน จนไม่เหลือเป็นเงินสำรองเพื่อใช้หมุนเวียนในการทำธุรกิจ ทำให้มีปัญหาหมุนเงินไม่ทันให้เห็นมานักต่อนักแล้ว ซึ่งแนะนำว่าควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 6 เดือน

8. สร้างจุดเด่นให้ร้าน

เปิดร้านอาหาร
 
          ทุกวันนี้ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูงมาก ฉะนั้นเพียงแค่อาหารรสชาติอร่อยบางทีอาจไม่เพียงพอ การสร้างจุดขายอื่น ๆ ให้ร้าน จะช่วยดึงลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งมีหลายเทคนิค อาทิ การตั้งชื่อร้านให้เป็นที่จดจำ ดีไซน์ร้านแบบมีเอกลักษณ์ ปรับเปลี่ยนเมนูให้ดูแปลกใหม่ขึ้น รวมถึงการทำการตลาดให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ เพื่อเรียกยอดไลก์ ยอดแชร์ ให้ลูกค้ารู้สึกจดจำร้านของเราได้

9. จดทะเบียนขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง

          เรื่องสำคัญที่หลายคนมองข้ามคือการจดทะเบียนขอใบอนุญาตต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ซึ่งการเปิดร้านอาหาร มีใบอนุญาตที่ต้องขอดังนี้ 

           • จดทะเบียนพาณิชย์
          ธุรกิจร้านอาหารจะต้องยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ ภายใน 30 วันนับแต่เริ่มกิจการ สำหรับในกรุงเทพฯ ยื่นจดได้ที่สำนักงานเขตที่ร้านตั้งอยู่ ส่วนต่างจังหวัดยื่นจดได้ที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ร้านตั้งอยู่ โดยมีค่าธรรมเนียม 50 บาท

          หลักฐานที่ต้องใช้ที่ต้องใช้ (สำหรับบุคคลธรรมดา)
          - แบบ ทพ.
          - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ประกอบธุรกิจ 
          - กรณีผู้ประกอบธุรกิจเป็นเจ้าบ้าน ให้แสดงทะเบียนบ้านต่อนายทะเบียน แต่ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าบ้านต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม คือ
          หนังสือให้ความยินยอมใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่
          สำเนาสัญญาเช่าสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่
          - แผนที่แสดงสถานที่ใช้ประกอบธุรกิจ และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียง
          - หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

          • ใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหารและสะสมอาหาร
          ในกรณีที่ร้านมีขนาดเกิน 200 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องขอใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหารและสะสมอาหาร ได้ที่สำนักงานเขต เทศบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลที่ร้านอาหารตั้งอยู่ มีค่าธรรมเนียม 2,000 - 3,000 บาท/ปี

          หลักฐานที่ต้องใช้

          - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับใบอนุญาต
          - สำเนาทะเบียนบ้านของบ้านที่ใช้เป็นที่ตั้ง
          - หนังสือยินยอมให้ใช้อาคารหรือสำเนาหนังสือสัญญาเช่าจากเจ้าของอาคาร
          - หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเอง)
          - ผลการตรวจสุขภาพหรือใบรับรองแพทย์ของพนักงานผู้สัมผัสอาหาร
          - สำเนาใบวุฒิบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของกรุงเทพมหานคร (ถ้ามี)
          - แผนที่แสดงสถานที่ตั้งสถานประกอบการ
          - ใบอนุญาตจากส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) 

          • ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา 
          สำหรับร้านอาหารที่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยยื่นขอได้ที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สาขาที่ร้านอาหารตั้งอยู่ โดยค่าธรรมเนียมจะคิดตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่ขาย

          หลักฐานที่ต้องใช้
          - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
          - สำเนาทะเบียนบ้านที่ใช้เป็นร้านค้า
          - ถ้าเป็นร้านค้าเช่า ให้นำหลักฐาน ดังนี้
          - สัญญาเช่าบ้าน พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้ให้เช่า
          - หนังสือยินยอมของผู้ให้เช่า
 
10. เข้าใจเรื่องภาษี 

          ทำร้านอาหารเมื่อมีรายได้ ภาษีคือสิ่งที่ต้องตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ กรณีที่เปิดร้านอาหารในรูปแบบบุคคลธรรมดา จะมีภาษี 2 ส่วนหลัก ๆ ที่ต้องรู้ ได้แก่

เปิดร้านอาหาร

          • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

         รายได้จากการเปิดร้านอาหารจะเข้าข่ายเงินได้ประเภทที่ 8 กลุ่มกิจการภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงโรงแรม สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% หรือหักตามจริง

          โดยคำนวณภาษีแบบขั้นบันไดในอัตรา 0 - 35% เช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป คือ มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาทต่อปีขึ้นไปถึงจะโดนหักภาษี 

          • ภาษีมูลค่าเพิ่ม 

          หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย และจะต้องยื่นเสีย VAT 7% จากยอดขายทุกเดือน ซึ่งจะต้องนำใบกำกับภาษีไปยื่นเพื่อเสียภาษีแก่กรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
 

          การเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารอาจดูเป็นหนทางที่ยากและน่ากังวล แต่เมื่อมีการวางแผนและเตรียมตัวในด้านต่าง ๆ ให้พร้อม สร้างความแตกต่างให้แก่ร้านของเราได้ หนทางและความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 ข้อควรรู้ ! มือใหม่เปิดร้านอาหาร เริ่มต้นยังไงดี อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2563 เวลา 16:37:29 223,885 อ่าน
TOP
x close