x close

Blind Trust คืออะไร ? มารู้จักวิธีจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง

          รู้จักกับ Blind Trust อีกหนึ่งวิธีจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง หลัง "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" พรรคอนาคตใหม่ ประกาศสร้างมาตรฐานใหม่การเมืองไทย 
Blind Trust

          กลายเป็นกระแสอย่างมาก หลังนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวเรื่อง "Blind Trust" ด้วยการโอนทรัพย์สินส่วนตัว มูลค่า 5,000 ล้านบาท ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการแทนทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าเพื่อพิสูจน์ความโปร่งใสและยกระดับมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อ่านข่าว - ธนาธร โอนทรัพย์สิน 5 พันล้าน เข้ากองทุน Blind Trust

          แน่นอนว่าคนไทยส่วนใหญ่คงไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำว่า Blind Trust จึงนำมาด้วยความสงสัยมากมายว่า Blind Trust คืออะไรกันแน่ แล้วจะสามารถช่วยเรื่องความโปร่งใสได้จริงไหม 

Blind Trust

Blind Trust คืออะไร ?

          อธิบายง่าย ๆ Blind Trust คือ กองทรัสต์ (Trust) รูปแบบหนึ่ง โดยการจัดตั้งกองทรัสต์ เป็นเหมือนการมอบทรัพย์สินของเราไปให้ผู้อื่นบริหารจัดการแทน ซึ่งก็คือ นักบริหารกองทุนมืออาชีพนั่นเอง และโดยปกติแล้วคนดูแลกองทรัสต์ จะต้องคอยรายงานเจ้าของทรัพย์สินว่าใช้เงินลงทุนไปกับอะไรบ้าง เช่น ซื้อหุ้น ซื้อกองทุนรวมอะไร เดือนนี้มีกำไร-ขาดทุนจากตัวไหน

          แต่ Blind Trust แตกต่างออกไป เนื่องจากผู้ที่โอนทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์นี้ จะไม่สามารถควบคุม สั่งการ มองเห็น แนวทางการลงทุนของผู้จัดการกองทรัสต์ได้ เช่นเดียวกันในส่วนของผู้บริหารกองทรัสต์ ก็จะไม่ทราบด้วยว่ากำลังบริหารทรัพย์สินของใครอยู่ ทั้งนี้ เจ้าของทรัพย์สินจะเห็นมูลค่าทรัพย์สินของตัวเอง ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดสัญญาหรือพ้นตำแหน่งทางการเมืองแล้วเท่านั้น ซึ่งอาจจะงอกเงยหรือขาดทุนก็ได้

          นั่นก็เพราะว่า Blind Trust ออกแบบมาให้เจ้าของทรัพย์สินและผู้ดูแลทรัพย์สินเป็นอิสระต่อกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนต่าง ๆ และการออกกฎหมายเอื้อผลประโยชน์ต่อกัน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมือง

Blind Trust ยังไม่มีกฎหมายไทยรองรับ  

          แม้ Blind Trust จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับการทำ Blind Trust โดยเฉพาะ รวมถึงยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องทำ Blind Trust ระบุเพียงแต่ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการถือหุ้นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ และรัฐมนตรีจะต้องโอนทรัพย์สินให้บริษัทจัดการทรัพย์สินเป็นผู้ดูแล

          ดังนั้น นักการเมืองไทยส่วนใหญ่จึงนิยมจัดการทรัพย์สินของตัวเองในรูปแบบกองทุนส่วนบุคคล หรือ "Private Fund" มากกว่า โดยเป็นการโอนทรัพย์สินให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเป็นผู้ดูแล แต่ก็ยังคงมีสิทธิ์ในการมองเห็น หรือกำหนดทิศทางการลงทุนอยู่ 

กรณีของ "ธนาธร" ทำ Blind Trust ได้อย่างไร ? 

          สำหรับกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เนื่องจากไทยไม่มีกฎหมายรองรับตรงนี้ เขาจึงเลือกใช้วิธีตั้ง Private Fund โดยให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด เป็นผู้บริหารทรัพย์สินแทน

          จากนั้นจึงประกาศทำ MOU เปิดเผยต่อสาธารณะให้ประชาชนรับทราบร่วมกัน ว่ารูปแบบการบริหาร Private Fund ก้อนนี้ จะมีเงื่อนไขต่าง ๆ เหมือน Blind Trust เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ

Blind Trust
ภาพจาก Workpoint News

          โดยเงื่อนไขระหว่าง ธนาธร กับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร มีดังนี้

          1. นายธนาธรจะไม่สามารถกระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของตนเองได้

          2. เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน บริษัทจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้นายธนาธรหรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด

          3. บริษัทจะต้องไม่เข้าไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานรัฐใด ๆ

          4. บริษัทจะต้องไม่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นไทยทุกตัว หรือหากจะลงทุนในหุ้น ต้องเป็นตลาดหุ้นต่างประเทศเท่านั้น เพื่อจำกัดข้อครหาทุกกรณี

          5. นายธนาธรจะได้กรรมสิทธิ์การบริหารจัดการทรัพย์สินกลับมาเป็นของตัวเอง จนกว่าจะพ้นตำแหน่งการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

Blind Trust เลี่ยงภาษีได้ไหม ?

Blind Trust

          ประเด็นนี้มีหลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำ Blind Trust ว่า ยิ่งมองไม่เห็น ยิ่งทำการตรวจสอบไม่ได้หรือเปล่า และอาจจะใช้เป็นวิธีหลบเลี่ยงภาษีได้หรือไม่

          อย่างไรก็ตาม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ให้ข้อมูลว่า การโอนทรัพย์สินไว้ใน Blind Trust ถือเป็นการบริหารจัดการทรัพย์สินปกติเหมือนกองทุนต่าง ๆ ต้องขออนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งผู้จัดการกองทุนต้องทำหน้าที่ส่งข้อมูล ทั้งเรื่องของภาษี เงินปันผล และผลตอบแทนทุกประเภทให้กรมสรรพากร ดังนั้น การตั้ง Blind Trust จึงไม่ใช่วิธีที่จะหลบเลี่ยงภาษีได้ โดยผู้ที่โอนทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ยังมีภาระหน้าที่เสียภาษีอยู่เหมือนเดิม ไม่สามารถละเว้นได้ และถ้าไม่เสียภาษีให้ถูกต้อง ทางกรมสรรพากรก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Blind Trust คืออะไร ? มารู้จักวิธีจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2564 เวลา 15:32:52 84,695 อ่าน
TOP