x close

ดึงสติ รู้ทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ! ไม่ให้เผลอตกเป็นเหยื่อ

          ดึงสติก่อนรับสายหรือสนทนากับคนที่ไม่รู้จัก พร้อมทั้งยืนยันที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และไม่ดำเนินการตามใด ๆ เพื่อป้องกันภัยการเงินที่มาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
kexpert

          ถ้าพูดถึงภัยการเงินใกล้ตัวที่เรามักเห็นเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ ๆ คงจะหนีไม่พ้น ภัยการเงินที่มาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นการโทรศัพท์มาหลอกให้เราโอนเงินไปให้คนร้ายด้วยวิธีการต่าง ๆ และมีคนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้สามารถเกิดได้กับทุกคน

          วันนี้ กระปุกดอคอม จึงมีคำแนะนำหากเรื่องนี้เกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ตัว ว่าจะรับมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างไร จาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย มาฝาก

แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีวิธีการหลอกลวงเหยื่ออย่างไร

          ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีวิธีการหลอกลวงเหยื่อให้หลงเชื่ออย่างไร ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จาก 3 เรื่องหลักด้วยกันคือ

          1. เนื้อหาที่ใช้ในการสนทนา จะเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือขอข้อมูลส่วนบุคคลของเรา เช่น หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด หมายเลขบัตรเครดิต เป็นต้น โดยใช้จิตวิทยาโน้มน้าวให้เหยื่อตกใจ รู้สึกหวาดกลัว หรือเกิดความโลภ แล้วรีบเร่งให้เหยื่อทำธุรกรรมหรือให้ข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นไปแบบไม่ทันได้ตั้งตัว

          2. เครื่องมือในการติดต่อเหยื่อ เป็นการติดต่อเหยื่อทางโทรศัพท์ โดยมีทั้งการติดต่อผ่านทางข้อความเสียงอัตโนมัติ และการให้คนโทรมาพูดคุย ซึ่งคนร้ายจะแอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่สรรพากร เป็นต้น

          3. หมายเลขโทรศัพท์ จะเป็นหมายเลขโทรศัพท์จริงของหน่วยงานที่แอบอ้าง โดยใช้เทคโนโลยีแปลงสัญญาณโทรศัพท์เป็นหมายเลขของหน่วยงานที่แอบอ้างนั้น หรือใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่สามารถติดต่อกลับได้ เพื่อให้ยากต่อการติดตามจับกุม หรือเป็นหมายเลขที่ยาวกว่าปกติทั่วไป เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นการติดต่อมาจากต่างประเทศจริง ๆ

kexpert

          ตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

          - หลอกว่าบัญชีเงินฝากถูกอายัด หรือติดหนี้บัตรเครดิต
          คนร้ายจะโทรศัพท์หาเหยื่อโดยใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติแจ้งเหยื่อว่า บัญชีเงินฝากถูกอายัด หรือติดหนี้บัตรเครดิตธนาคารอยู่ หลังจากนั้นคนร้ายจะหลอกถามฐานะทางการเงินของเหยื่อ เพื่อหลอกให้เหยื่อทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือเครื่องฝากถอนอัตโนมัติ

          - หลอกว่าข้อมูลส่วนตัวสูญหาย
          คนร้ายอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน และโทรศัพท์ติดต่อเหยื่อเพื่อขอสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล โดยหลอกว่าเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ แล้วทำให้ข้อมูลลูกค้าสูญหายหรือเสียหาย หลังจากนั้นคนร้ายจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ติดต่อกับสถาบันการเงินจริง เพื่อปลอมตัวตนเป็นลูกค้าและทำธุรกรรมทางการเงิน

          - หลอกคืนเงินภาษีผ่านตู้เอทีเอ็ม
          คนร้ายอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรติดต่อเหยื่อเพื่อแจ้งข้อมูลการขอคืนภาษี โดยจะหลอกถามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน หลังจากนั้นจะให้เหยื่อยืนยันสิทธิ์การขอคืนภาษีผ่านทางตู้เอทีเอ็ม โดยคนร้ายจะบอกขั้นตอนการทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มอย่างรวดเร็ว และให้ใช้เมนูภาษาอังกฤษในการทำรายการโอนเงินไปยังหมายเลขบัญชีของคนร้าย

          - หลอกว่าบัญชีพัวพันกับยาเสพติดหรือฟอกเงิน
          คนร้ายโทรศัพท์ติดต่อเหยื่อเพื่อหลอกถามจำนวนเงินในบัญชี หากพบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีจำนวนมาก จะแจ้งว่าเงินของเหยื่อพัวพันกับคดียาเสพติดหรือการฟอกเงิน หลังจากนั้นคนร้ายจะโอนสายเหยื่อให้กับตำรวจปลอม เพื่อหลอกว่าจะช่วยตรวจสอบให้ โดยให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาที่คนร้าย

          ทั้งนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่า ส่วนราชการและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายติดต่อลูกค้าเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลสำคัญอื่น ๆ หากมีใครโทรมาสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้คิดไว้เสมอว่าอาจจะเป็นพวกมิจฉาชีพ และต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใด ๆ อย่างเด็ดขาด

kexpert
ที่มา: ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

วิธีการรับมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

           • ดึงสติให้ดี ก่อนกดรับสายหรือตอบคำถามใด ๆ ทางโทรศัพท์

           • คิดเสมอ ว่าส่วนราชการและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์

           • สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นให้แน่ชัด และสำรวจว่าตนเองมีความเกี่ยวพันกับเรื่องที่คนร้ายโทรมาหลอกลวงหรือไม่

           • อย่าดำเนินการใด ๆ โดยแจ้งว่าจะติดต่อกลับในภายหลัง และรีบวางสายสนทนา

           • ตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ธนาคารหรือหน่วยงานที่ถูกแอบอ้าง โดยติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานนั้น ๆ หรือผ่านช่องทาง Call Center ของหน่วยงาน
 
วิธีแก้ไขเมื่อตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

          • แจ้งระงับการโอนเงิน ไปยังฝ่ายบริการลูกค้าของสถาบันการเงินนั้น เพื่อขอความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเบื้องต้น

          • รวบรวมหลักฐานและข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น เบอร์โทรศัพท์ เวลาที่ติดต่อ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รายละเอียดข้อมูลที่แจ้งกับคนร้าย เลขที่บัญชีของคนร้าย ตู้เอทีเอ็ม/สาขา ที่โอนเงิน เป็นต้น

          • แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ณ ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระงับการโอนเงิน

          • แจ้งเบาะแสไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โทร. 1599)
 
          หากเรารู้เท่าทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง เราจะไม่หลงเชื่อ หลงกล และตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพง่าย ๆ โดยใช้สติป้องกันสตางค์ ยืนยันที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และไม่ดำเนินการตามใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงเท่านี้ ภัยการเงินที่มาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้แล้ว
 

K-Expert Action

          • ตั้งสติทุกครั้งก่อนรับสายหรือสนทนากับคนที่ไม่รู้จัก หรือแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ

          • ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชี และข้อมูลเกี่ยวกับบัตรเครดิต บัตรเดบิต แต่อย่างใด


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดึงสติ รู้ทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ! ไม่ให้เผลอตกเป็นเหยื่อ อัปเดตล่าสุด 8 มีนาคม 2562 เวลา 14:38:18 18,603 อ่าน
TOP