8 เรื่องต้องรู้ สำหรับคู่รัก

          เมื่อคนสองคนตกลงจะใช้ชีวิตคู่ด้วยกันแล้ว ถ้าจะใช้แค่ความรักและความเข้าใจกันคงไม่พอ เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าคุณกำลังจะกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือ แม่บ้าน แล้ว คุณควรเริ่มมีการวางแผนทางการเงินไว้แต่เนิ่น ๆ ไม่เช่นนั้น ชีวิตคู่ที่หวานชื่นอาจจะกลายเป็นขมขื่นได้

ออมเงิน

          สำหรับคู่รักที่กำลังจะสร้างครอบครัวใหม่ หรือคู่รักที่ครองรักกันมานานแล้วก็ตาม เมื่อใช้ชีวิตร่วมกัน คงหนีไม่พ้นในเรื่องของการวางแผนและการจัดการเงินภายในครอบครัว โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน คู่รักที่ไม่ได้ทำงานประจำ มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น คนที่ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป หรือทำงานฟรีแลนซ์ ต้องคุยกันและวางแผนทางการเงินให้ดี มิเช่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันในภายหลัง ลองมาดูกันสิว่า 8 เรื่องที่ต้องรู้ สำหรับการใช้ชีวิตคู่มีอะไรบ้างค่ะ

1. รู้(การเงิน)เขา-รู้(การเงิน)เรา

          เมื่อตัดสินใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันแล้ว ควรรู้ก่อนว่าสถานะทางการเงินของแต่ละฝ่ายเป็นยังไง ทั้งเรื่องรายได้หลัก รายได้เสริม หนี้สิน รวมทั้งภาษี เพื่อจะได้บริหารจัดการค่าใช้จ่ายในบ้านได้อย่างสอดคล้องกับสถานะทางการเงินของเรา

2. รู้ใช้

          ในแต่ละเดือนเราจะมีค่าใช่จ่ายที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ของแต่ละฝ่าย ค่าน้ำมันรถ ค่ากิน-ค่าอยู่ ลองคำนวณคร่าว ๆ ว่าจะใช้จ่ายเงินเท่าไรในแต่ละเดือน เพื่อวางแผนการเงินได้อย่างถูกทิศทาง

ออมเงิน

3. รู้หน้าที่

          คุยกันให้เคลียร์ว่าใครจะดูแลค่าใช้จ่ายด้านไหน หรือใครจะเป็นคนถือเงินสำหรับใช้จ่ายภายในบ้าน จะใช้กระเป๋าสตางค์เดียวกันไหม หรือต่างคนต่างบริหารจัดการกันเอง เพื่อให้การใช้จ่ายเป็นสัดเป็นส่วนและตรวจสอบได้ง่าย 

4. รู้จักทำบัญชี (รายรับ-รายจ่าย)

          โดยเฉพาะคู่รักที่ไม่มีรายได้ประจำที่แน่นอน การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เพราะจะทำให้รู้ว่าเราเสียเงินไปกับค่าใช้จ่ายส่วนไหนมากเกินความจำเป็น และมีรายจ่ายอะไรที่เราสามารถตัดออกไปได้บ้าง ที่สำคัญบัญชีรายรับ-รายจ่ายยังทำให้รู้ว่า ในแต่ละเดือนมีเงินเข้ามาก-น้อยแค่ไหน และมีเงินเหลือเท่าไรด้วยนะคะ

5. รู้จักวางแผน

          ทุกรายจ่าย รายรับ ควรคุยกันอย่างเปิดเผย และคุยกันอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน เพื่อให้วางแผนอนาคตร่วมกันได้ เพราะหากเดือนไหนมีปัญหารายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย จะได้หาทางช่วยกันอุดรอยรั่ว โดยอาจหารายได้เสริมมาเพิ่ม หรือช่วยกันประหยัดให้มากขึ้นในเดือนนั้น ไม่ปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับมือกับปัญหาทางการเงินแต่เพียงคนเดียว

ออมเงิน

6. รู้เก็บ

          ในเมื่อเป็นครอบครัวเดียวกันแล้วก็ควรตั้งงบกองกลางไว้ โดยให้แต่ละฝ่ายแบ่งรายได้ของตัวเองส่วนหนึ่งมาใส่ในบัญชีกองกลางทุกเดือนตามสัดส่วนที่ตกลงกัน และกำหนดว่ากองกลางส่วนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนไหน อย่างไรบ้าง เช่น สำหรับค่าใช้จ่ายจุกจิกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้กำหนดว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ จะได้ไม่กระทบกับเงินส่วนอื่น ๆ ของแต่ละคน

7. รู้ระวัง

          นอกจากกองกลางแล้วก็ควรมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไว้ด้วยนะคะ โดยเงินส่วนนี้อาจต้องใช้เป็นค่าซ่อมบ้าน ซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาล หรือมีเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อน รวมทั้งคู่ไหนที่วางแผนจะมีลูกก็ยิ่งต้องเก็บเงินสำรองไว้ เพื่อไม่ให้เงินขาดมือ

ออมเงิน


8. รู้ออม

          การออมเพื่ออนาคตเป็นสิ่งสำคัญ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะยิ่งเราออมเร็ว ออมไว ออมมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรามีหลักประกันที่มั่นคงยามเกษียณเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะคนที่ทำงานอิสระ ค้าขาย มีรายได้ไม่แน่นอน ยิ่งสามี-ภรรยาคู่ไหนไม่มีลูกด้วยแล้ว พอแก่ตัวไปก็อาจไม่มีใครให้พึ่งพึง ดังนั้นในช่วงที่เรามีแรงหาเงินอยู่ก็ต้องรีบเก็บออมไว้เพื่ออนาคตก่อนดีกว่า

          ทั้งนี้หากต้องการออมเงินเพื่ออนาคตในปัจจุบันมีทางเลือกดี ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฝากประจำ การทำประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่รัฐบาลจะให้เงินสมทบเพิ่มสูงสุด 100% เพื่อให้เราได้เงินบำนาญไว้ใช้เมื่ออายุครบ 60 ปีแน่นอน

          จะเห็นว่าการเตรียมความพร้อมทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากบริหารจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่ดี อาจทำให้ชีวิตคู่สะดุดและประสบปัญหาได้ อันเป็นชนวนเหตุของการทะเลาะเบาะแว้งและเลิกรากัน ดังนั้น เมื่อตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ก็ต้องช่วยกันสร้างความมั่นคงทางการเงินให้ครอบครัวและสร้างอนาคตที่ราบรื่นร่วมกัน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กองทุนการออมแห่งชาติ  


เรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 เรื่องต้องรู้ สำหรับคู่รัก โพสต์เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 15:23:13 2,624 อ่าน
TOP
x close