x close

ฝึกลงทุนอย่างไร ? ให้สุขภาพการเงินแข็งแรง

          สำรวจสุขภาพการเงิน ออมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ กระจายความเสี่ยง และลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เป็นหลักการลงทุนเพื่อช่วยให้สุขภาพการเงินแข็งแรง
การลงทุน

          หลาย ๆ คน มักจะคิดว่าการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัวและยุ่งยาก แต่จริง ๆ แล้ว การลงทุนเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าจะให้เปรียบเทียบ การลงทุนก็เหมือนกับการออกกำลังกาย ซึ่งทุกคนอยากมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เช่นเดียวกับสุขภาพการลงทุน ที่เราอยากมีความมั่นคงและมั่งคั่ง เพื่อช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนและง่ายขึ้น วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงนำเคล็ดลับจาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ที่อธิบายการลงทุนง่าย ๆ โดยเปรียบเทียบกับการออกกำลังกาย มาฝากกัน

          การดูแลสุขภาพกาย มีลักษณะคล้ายกับการลงทุน นั่นคือ ในยามที่เป็นหนุ่มสาว เรามักจะยังมีสุขภาพที่ดี หรือมีเงินใช้เพียงพอจากการทำงาน เราจึงไม่เห็นความจำเป็นมากนักที่จะต้องออกกำลังกายหรือต้องเก็บเงินเพื่อลงทุน แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราดูแลสุขภาพทางกายและการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย โอกาสที่เราจะเจ็บป่วยหรือขัดสนในยามที่มีอายุมากขึ้นจะน้อยลง

          หลักการง่าย ๆ ที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการออกกำลังกาย มีดังนี้

การลงทุน

          1. เริ่มแรกเราควรตรวจสุขภาพเก็บข้อมูลตัวเองไว้ อีกทั้งมีการปรึกษาแพทย์หรือหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเอง นอกจากนี้ เรายังสามารถจ้างโค้ชมาช่วยให้คำปรึกษาในการออกกำลังกายได้อีกด้วย

          2. ควรมีการวอร์มอัพร่างกายก่อนเริ่มออกกำลังกาย เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้แก่กล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย จากนั้นต้อง

          3. วิเคราะห์ตัวเองว่า ควรเลือกออกกำลังแบบไหนที่เหมาะกับตัวเอง ให้เหมาะกับสภาพร่างกายปัจจุบัน เช่น หากยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ก็สามารถเลือกออกกำลังกายแบบหนัก ๆ แรง ๆ เช่น ไตรกีฬา วิ่งมาราธอน หากอยู่ในวัยกลางคน อาจเลือกออกกำลังกายแบบแรงกระแทกต่ำ เช่น วิ่งจ๊อกกิ้งเบา ๆ หรือขี่จักรยาน แต่ถ้าอายุมาก คงต้องออกกำลังแบบเน้นความยืดหยุ่นและเน้นการหายใจ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ แต่การเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะกับตัวเอง ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งและสุขภาพของร่างกายมากกว่าอายุ หากเราได้มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สุขภาพแข็งแรง ทำให้แม้จะอายุมาก เราก็อาจจะยังสามารถออกกำลังกายแบบหนัก ๆ ได้เหมือนในวัยหนุ่มสาว

          4. ออกกำลังกายหลายรูปแบบ การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการออกกำลังกายประเภทเดียว ทั้งนี้เพื่อลดความเบื่อหน่ายและช่วยป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ ๆ โดยอาจจะกำหนดการออกกำลังกายกระจายไปหลายรูปแบบ เช่น จันทร์-วิ่ง อังคาร-ว่ายน้ำ พุธ-ขี่จักรยาน พฤหัสบดี-เข้าฟิตเนสยกน้ำหนัก ศุกร์-ตีเทนนิส เสาร์-โยคะ อาทิตย์-หยุด

          5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์

          สรุป ถ้าอยากให้ร่างกายฟิต สุขภาพแข็งแรง ต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกาย ต้องมีการวอร์มอัพก่อนออกกำลังกาย เลือกประเภทการออกกำลังกายหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง และต้องทำอย่างสม่ำเสมอด้วย

การลงทุน

          ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุน ต้องบอกว่าหลักการลงทุนไม่แตกต่างกับหลักการออกกำลังกาย
หลักการลงทุนให้สำเร็จ เพื่อความมั่นคงและความมั่งคั่ง มีดังนี้


          1. เริ่มจากการสำรวจสุขภาพการเงินของตนเอง เพื่อให้รู้ว่ามีจุดใดต้องแก้ไข และต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เช่น การอ่านหนังสือ การเข้าคอร์สสัมมนา หรือการพูดคุยกับที่ปรึกษาทางการเงิน

          2. ก่อนการลงทุน ควรมีการออมเงินเพื่อสำรองฉุกเฉินให้ได้ 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน เพื่อเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือยามเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

          3. ประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อให้ลงทุนได้ตรงกับระดับความเสี่ยง โดยในวัยหนุ่มสาว ยังมีระยะเวลาและแรงในการทำงานหาเงิน สามารถที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เช่น ลงทุนในหุ้น แต่พอเข้าในวัยกลางคน อาจจะลดความเสี่ยงลงมา เป็นการลงทุนในกองทุนผสม และเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย อาจจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนตราสารหนี้ แต่ความเสี่ยงในการลงทุน ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับอายุ อาทิเช่น หากเรามีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แม้อายุสูงขึ้น เราก็ยังสามารถที่จะกระจายการลงทุนไปในหุ้นได้ เป็นต้น

          4. ต้องมีการกระจายความเสี่ยง การลดความเสี่ยงในการลงทุน สามารถทำได้โดยการกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนหลาย ๆ ประเภท เช่น ถ้ารับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง ก็อาจจะลงทุนในตราสารหนี้ 60% ลงทุนในหุ้น 30% ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 5% และลงทุนทองคำ 5% เป็นต้น

          5. ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ วิธีนี้จะช่วยฝึกนิสัยและวินัยการลงทุน พอร์ตการลงทุนของคุณจะเติบโตเร็วขึ้น ถ้าคุณเพิ่มเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง และทำให้มันเป็นเรื่องง่าย ๆ ได้ด้วยการลงทุนแบบตัดบัญชีรายเดือน

การลงทุน

          สรุป ถ้าอยากให้สุขภาพการเงินมั่นคงและมั่งคั่ง ควรมีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ต้องมีการวอร์มอัพ ด้วยการมีเงินออมเพื่อสำรองฉุกเฉินก่อน แล้วจึงเลือกการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของตัวเอง การลงทุนต้องมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และต้องมีวินัยในการลงทุน

          จะเห็นได้ว่า การออกกำลังกายและการลงทุนมีลักษณะสำคัญที่เหมือนกันคือ เราจำเป็นต้องดูศักยภาพของตัวเราด้วย อย่าออกกำลังมากเกินไปโดยไม่ดูสภาพร่างกายตัวเอง ก่อนที่จะฟิตอาจหัวใจวายไปซะก่อน การลงทุนก็เช่นกัน ไม่ควรลงทุนมากเกินไป เพราะก่อนที่จะรวย เราอาจจะไม่มีเงินกินข้าวก็เป็นได้

          K-Expert Action
          - ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของสินทรัพย์ที่สนใจก่อนตัดสินใจลงทุน
          - เลือกลงทุนให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝึกลงทุนอย่างไร ? ให้สุขภาพการเงินแข็งแรง อัปเดตล่าสุด 20 สิงหาคม 2561 เวลา 17:51:18 7,516 อ่าน
TOP