x close

แรงงานไทย ชี้ ค่าแรงขั้นต่ำไม่พอใช้ วอนนายจ้างเพิ่มเงินมากขึ้น

          กรุงเทพโพลล์ เผย แรงงานไทย 39.9% ได้เงินรายวันไม่พอใช้ จนต้องกู้หนี้ยืมสิน ไม่เหลือเงินเก็บ วอนนายจ้างเพิ่มเงินรายวันมากขึ้น

แรงงานไทย
ภาพจาก  Watchares Hansawek / Shutterstock.com

          วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สํารวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ความในใจของแรงงานไทย 4.0" จากผู้ใช้แรงงาน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,045 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงาน 39.9% รู้สึกว่าค่าแรงที่ได้รับในแต่ละวันไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน โดยมีเพียง 30.9% ระบุว่าเพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินออม ส่วนอีก 29.2% ระบุว่าพอดีกับค่าใช้จ่าย จึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม  

          ขณะเดียวกันความในใจที่แรงงานไทยอยากบอกกับนายจ้างมากที่สุด คือ อยากให้เพิ่มเงินรายวันให้มากขึ้น รองลงมาคืออยากให้เพิ่มสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล และอยากให้มีงานจ้างทุกวัน
          ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ เป็นวันละ 308-330 บาท ที่มีผลไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561 พบว่าแรงงานส่วนใหญ่รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และมีแรงงาน 59.6% ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงแล้ว เหลือ 40.4% ที่ยังไม่ได้รับการปรับขึ้น โดยแรงงานส่วนใหญ่ 52.7%  รู้สึกมีความสุข อยากให้ขึ้นค่าแรงแบบนี้ทุกปี ส่วน 35.7%  รู้สึกเฉย ๆ ไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น และอีก 11.6% รู้สึกแย่ คิดว่าน่าจะขึ้นมากกว่านี้
 
         อย่างไรก็ตาม แรงงานถึง 85.5% มีความกังวลว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปีติดต่อกัน จะทำให้ข้าวของราคาแพงขึ้น จากต้นทุนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น ส่วน 25.1% เป็นห่วงว่าจะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ขึ้นอีกหลายปี และอีก 19.8%  กังวลว่าแรงงานต่างด้าวจะเข้ามาแย่งงาน

แรงงานไทย



ภาพและข้อมูลจาก
กรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แรงงานไทย ชี้ ค่าแรงขั้นต่ำไม่พอใช้ วอนนายจ้างเพิ่มเงินมากขึ้น อัปเดตล่าสุด 2 พฤษภาคม 2561 เวลา 11:45:09 4,897 อ่าน
TOP