x close

ค้นประวัติศาสตร์เงินตราสมัยอยุธยา ออเจ้ารู้ไหมว่าใช้สิ่งใดซื้อ-ขายกัน ?

         เปิดเกร็ดความรู้เรื่องระบบเงินตราในสมัยกรุงศรีอยุธยา คนยุคนั้นใช้สิ่งใดซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน และมาตราเงินไทยสมัยนั้นเป็นอย่างไร

         อันว่า "เงินตรา" ก็คือ วัตถุที่ใช้เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งในอดีตเริ่มจากการใช้สิ่งของต่าง ๆ เช่น เมล็ดพืช ลูกปัด เปลือกหอย เรื่อยมาจนถึงเหรียญกษาปณ์และธนบัตรเฉกเช่นปัจจุบัน แต่เชื่อว่าหลายคนที่ได้ชมละครเรื่องบุพเพสันนิวาส เมื่อเห็นแม่หญิงการะเกดรวบรวมเบี้ยไปซื้อมุ้งให้บ่าวไพร่ ก็คงสนใจใคร่รู้ว่า แล้วเงินตราที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นคืออะไร และมีมาตราเทียบอย่างไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมขอรวบรวมข้อมูลมาเล่าให้ฟัง

          ...ก่อนจะมาถึงอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา มนุษย์ได้ประดิษฐ์เงินตราขึ้นมาใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้ามานมนานแล้ว ตั้งแต่ยุคฟูนัน (พุทธศตวรรษที่ 6) ยุคทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11) ยุคศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13) และยุคลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 12) กระทั่งในพุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรสุโขทัย ได้ผลิตเงินพดด้วงขึ้นเป็นครั้งแรกและใช้สืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

          ดังนั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ยังคงใช้เงินสกุลพดด้วงเช่นเดียวกับที่ใช้ในอาณาจักรสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีการใช้เงินประเภทอื่น ๆ ด้วย รวมแล้วเงินตราที่ใช้กันในสมัยอยุธยานั้นมี 4 ชนิดคือ

1. เงินพดด้วง

          เงินพดด้วงทำขึ้นจากแท่งเงินทุบปลายงอเข้าหากัน จัดว่าเป็นเงินตราที่มีมูลค่าสูง เพราะกำหนดมูลค่าเท่ากับน้ำหนักของโลหะที่ใช้ผลิต จึงมักใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศมากกว่าที่ชาวบ้านจะใช้กัน แบ่งเป็น 6 ชนิด คือ ตำลึง บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง และไพ ซึ่งชนิดหนักตำลึงนั้น เนื่องจากมีมูลค่าสูงเกินไป ส่วนชนิดราคากึ่งบาทนั้นมีมูลค่าไม่เหมาะสมแก่ค่าครองชีพ ไม่สะดวกกับการใช้ จึงผลิตขึ้นน้อยมาก และมีเฉพาะในสมัยอยุธยาตอนต้นเท่านั้น

          ทั้งนี้ มีการสันนิษฐานว่า ที่เรียกชื่อ "เงินพดด้วง" เพราะรูปร่างของเงินเป็นก้อนกลมเหมือนตัวด้วง แต่ชาวต่างประเทศจะเรียกว่า "เงินลูกปืน" (Bullet Money) อย่างไรก็ตาม แม้เงินพดด้วงจะใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่เมื่อมาถึงสมัยอุยธยา เงินพดด้วงได้ถูกพัฒนารูปแบบไป ทำให้มีความแตกต่างกันทั้งรูปร่าง ขนาด น้ำหนัก และชนิดของโลหะ เช่น ขาเงินพดด้วงสั้นลง และตรงปลายขาที่งอจรดกันไม่แหลมเหมือนเงินพดด้วงสุโขทัย มีรอยบากที่ขาเล็กลง และไม่มีรอยบากตรงตัวเงิน

          บนตัวเงินพดด้วงจะมีการประทับตราไว้ โดยในสมัยสุโขทัยมีการประทับตราไว้มากกว่า 2 ดวง เป็นรูปสัตว์ชนชั้นสูง เช่น วัว กระต่าย หอยสังข์ และราชสีห์ ทว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เปลี่ยนตราประทับใหม่ เหลือเพียง 2 ตรา คือ ด้านบนเป็นตราธรรมจักร อันเป็นเครื่องหมายประจำแผ่นดิน ส่วนด้านหน้าเป็นตราประจำรัชกาล ซึ่งแตกต่างกันไปตามรัชสมัย

เงินพดด้วง

เงินสมัยอยุธยา
ภาพจาก ช่อง 3

          มีหลักฐานระบุว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้ตราธรรมจักรและตราพุ่มข้าวบิณฑ์ ขณะที่ในรัชสมัยอื่น ๆ มีทั้งตราช้าง ตราบัว ตราพุ่มดอกไม้ ตรากระต่าย ตราช่ออุทุมพร ตราราชวัตร ตราพระซ่อมดอกไม้ ตราสมอ ตราหางหงส์ และตราครุฑ ซึ่งไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าตราใดเป็นของรัชกาลใด

          อีกสิ่งที่แตกต่างกันก็คือ เงินพดด้วงในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะมีมาตรฐานเท่ากัน ทั้งรูปร่าง น้ำหนัก และการประทับตรา เนื่องจากรัฐเป็นผู้ผูกขาดในการผลิต


2. เบี้ย


          เบี้ยคือเปลือกหอยเล็ก ๆ ซึ่งพบหลักฐานว่า ชาวต่างชาติที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาซื้อ-ขายสินค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำเปลือกหอยจากหมู่เกาะมัลดีฟส์มาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก การใช้เบี้ยจึงเป็นที่แพร่หลาย รวมทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ใช้หอยเบี้ยเป็นเงินตราปลีกย่อย

          ทั้งนี้ เงินเบี้ยเป็นเงินปลีกที่มีมูลค่าต่ำสุดในระบบเงินตรา มีอัตราประมาณ 100 เบี้ยต่อ 1 อัฐ (เท่ากับ 1 สตางค์ครึ่ง) ชาวบ้านจึงมีไว้ใช้กันได้ แต่สำหรับชนชั้นปกครอง จะใช้เบี้ยเป็นตัวกำหนดค่าปรับทางกฎหมายเพื่อควบคุมไพร่หรือทาสที่กระทำผิด


เงินสมัยอยุธยา

เงินสมัยอยุธยา
ภาพจาก ช่อง 3

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหอยเบี้ยจะได้มาจากท้องทะเลเท่านั้น ดังนั้นเบี้ยที่เข้ามาในสยามต้องผ่านมาทางพ่อค้าชาวต่างชาตินำเข้ามาขาย โดยหอยเบี้ยที่นำมาใช้มี 2 ชนิด คือ เบี้ยจั่น และเบี้ยนาง ทำให้บางครั้งเกิดการขาดแคลนเบี้ยขึ้น เป็นเหตุให้ในบางช่วงเวลา เบี้ยที่นำเข้ามาซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้าก็จะมีราคาแพงตามไปด้วย เช่น อาจมีราคา 600-1,000 เบี้ยต่อ 1 เฟื้อง
 
3. ไพและกล่ำ

          ไพและกล่ำเป็นเงินตราที่ทำจากโลหะที่ไม่ใช่เงิน เช่น ทองแดง ทองเหลือง จึงมีมูลค่าต่ำกว่าเงินพดด้วง และด้วยมูลค่าที่ไม่สูงมากไป ชาวบ้านจึงสามารถนำมาใช้ได้ง่าย โดยมาตราเงินสมัยกรุงศรีอยุธยาระบุไว้ว่า 2 กล่อม เท่ากับ 1 กล่ำ, 2 กล่ำ เท่ากับ 1 ไพ
 
4. เงินประกับ



          เงินประกับคือเงินปลีกทำจากดินเผา มีรูปร่างกลม มีตราประทับเป็นรูปต่าง ๆ คือ ดอกบัว กินรี กระต่าย ราชสีห์ ถูกนำมาใช้แทนเบี้ยเมื่อยามขาดแคลน ดังในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่เกิดสภาวะขาดแคลนเบี้ยขึ้น จึงต้องผลิตประกับดินเผาขึ้นมาใช้แทนในช่วงระยะหนึ่ง จนเมื่อมีพ่อค้านำหอยเบี้ยเข้ามาขายก็กลับมาใช้เบี้ยตามเดิม

สำหรับมาตราเงินตราไทยที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นดังนี้

          1 ชั่ง = 20 ตำลึง
          1 ตำลึง = 4 บาท
          1 บาท = 4 สลึง
          1 สลึง = 2 เฟื้อง
          1 เฟื้อง = 4 ไพ
          1 ไพ = 2 กล่ำ = 200 เบี้ย
          1 กล่ำ = 2 กล่อม = 100 เบี้ย
          1 กล่อม = 50 เบี้ย
 
*อัปเดตข้อมูลล่าสุดเวลา 20.19 น. วันที่ 22 มีนาคม 2561


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม 
สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง 
สำนักกษาปณ์ 
เฟซบุ๊ก มาเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา  
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ค้นประวัติศาสตร์เงินตราสมัยอยุธยา ออเจ้ารู้ไหมว่าใช้สิ่งใดซื้อ-ขายกัน ? อัปเดตล่าสุด 3 มกราคม 2563 เวลา 13:20:17 157,281 อ่าน
TOP