x close

เปิดสูตรเพิ่มเงินออม เก็บเงินให้รวยก่อนเกษียณ พร้อมรับสังคมสูงอายุ

ออมเงินวัยเกษียณ

          การออมเพื่อวัยเกษียณเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังเริ่มมีความกังวลกันมากขึ้นว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Ageing Society ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
 
          วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 เว็บไซต์ Money2Know รายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรประมาณ 65.9 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุสูงถึง 10.5 ล้านคน ทำให้ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) แล้ว เพราะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ พร้อมทั้งคาดว่าไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ในปี 2564 จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 20% และเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ในปี 2574 จากผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 28%

          สำหรับจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ทำให้มีเรื่องน่าเป็นห่วง คือ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระดับหนี้ภาคครัวเรือนได้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยจากข้อมูลการสำรวจหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 ของสำนักเศรษฐกิจการคลัง พบว่าปัจจุบันครัวเรือนไทยกว่า 91.1% ยังคงมีหนี้สินอยู่ และมีเพียง 8.9% ที่ไม่มีหนี้สิน โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป 32.4% รองลงมา 30.5% เป็นหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สิน เช่น บัตรเครดิต

          ขณะที่สถิติของเครดิตบูโร ก็ชี้ว่ากลุ่ม Gen Y ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี มีแนวโน้มเป็นหนี้บัตรเครดิต ใช้สินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น และมีหนี้เสียเร็วด้วย จึงถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะคนวัยนี้อาจมีการยับยั้งชั่งใจน้อยในการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งคนไทยยังมีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 29-30 ปี โดยมีอัตราส่วนถึง 1 ใน 5 ซึ่งไม่นับรวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้ กยศ. ที่มีการผิดนัดชำระหนี้สูงเช่นกัน

ออมเงินวัยเกษียณ

          ทั้งนี้ จากการติดตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ทุกช่วง 5 ปี 10 ปี และ 15 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลบอกว่าคนไทยเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุน้อยมาก หรือไม่เตรียมเลย โดยมีการเตรียมความพร้อมไม่ถึง 30% จึงเป็นความท้าทายอย่างมากของประเทศ ในการรับมือกับสังคมสูงอายุให้ได้ ดังนั้น การวางแผนทางการเงินด้วยการออม จึงเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อเตรียมพร้อมการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ที่สามารถพึ่งพาตนเองและสร้างประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับสังคมได้ โดยไม่เป็นภาระและดำเนินชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข
ออมเงินวัยเกษียณ

          กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน "สร้างวินัยการออม ชีวิตพร้อมเมื่อสูงวัย" เพื่อกระตุ้นนิสัยการออม แนะแนวและส่งเสริมการออมเพื่อเตรียมการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ

          โดย รศ. นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ อนุกรรมาธิการกิจการผู้สูงอายุและผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า เราต้องเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่เกิด ซึ่งการออมเป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากให้สอนการออมในภาควิชาบังคับทุกคณะ ควรให้ออมตั้งแต่เริ่มทำงาน และแนะนำวิธีการออมเงินสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำงาน ดังนี้

          หักเงินอย่างน้อย 10% ไว้ออมทันที โดยตัดออกไปอัตโนมัติเก็บไว้อีกบัญชี และกรณีที่มีรายรับ 30,000 บาท แต่มีรายจ่ายเดือนละ 15,000 บาทสามารถนำ 15,000 ที่เหลือออมได้ทันที

          เปิดบัญชีสำรองฉุกเฉิน ให้มีเงินพอ 6 เดือนของรายจ่าย เช่น รายจ่ายต่อเดือน 15,000 บาท (รายได้ 30,000 บาท) ต้องมีเงินสำรอง 90,000 บาท ฝากไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงน้อย อย่างตราสารหนี้ (พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้)

          ถ้าต้องเสียภาษี ควรซื้อ RMF, LTF เท่าที่มีสิทธิ์หักภาษีเงินได้ และไม่เกิน 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี โดย RMF ถอนต่อเมื่ออายุ 55 ปี และฝากแล้ว 5 ปี ส่วน LTF ถอนเมื่อซื้อแล้ว 7 ปี ซื้อเป็นเดือน ๆ

          ถ้ายังมีเงินเหลือ ซื้อกองทุนรวม (Mutual Fund) หากอายุน้อยซื้อกองทุนรวมที่เน้นหุ้น ถ้าอายุมากซื้อกองทุนรวมที่เน้นตราสารหนี้ ในกรณีที่ไม่มีความต้องการใช้เงิน ควรซื้อกองทุนที่เอาปันผลไปทบต้น (ดอกเบี้ยทบต้น)

ออมเงินวัยเกษียณ

วิธีวางแผนทางการเงิน

           ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี

           ต้องมีแผน เช่น จะเกษียณเมื่อไหร่ เหลือเวลาอีกกี่ปี เพราะยิ่งเริ่มวางแผนเร็วยิ่งมีโอกาสในการลงทุนและวางอนาคตการใช้เงินได้ดี

           วางแผนว่าจะต้องใช้เงินหลังเกษียณเท่าไหร่
         
           ต้องคำนวณเงินเฟ้อ เช่น จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี หากตอนนี้เราอายุ 30 แสดงว่ามีเวลาเตรียมตัวอีก 30 ปี นั่นหมายถึงว่า เงิน 20,000 บาทตอน 30 ปี จะเป็น 20,000×2.4 (เงินเฟ้อ) หรือ 48,000 บาท

          จะอยู่อีกนานเท่าไหร่หลังเกษียณ

           หากเริ่มวางแผนช้ามีเวลาน้อย จะถึงเป้าหมายยอดเงินที่ตั้งใจ ต้องลงทุนมากในแต่ละเดือน แต่หากมีเวลามาก จะลงทุนต่อเดือนน้อยกว่า

          นอกจากนี้ รศ. นพ.พินิจ ฝากทิ้งท้ายว่า เราต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุดและนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยากให้ผู้สูงอายุยังทำงานอยู่ แต่ให้ทำงานเพื่อความสนุก ทำงานเพราะอยากช่วยสังคม ทำงานแล้วมีความสุข ไม่ใช่ทำงานเพื่อหาเงิน

          เช่นเดียวกับ นางสาวนฤมล บุญสนอง วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่า การวางแผนการเงินวัยเกษียณนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดชีวิต และทุกคนควรเริ่มต้นวางแผนเพื่อให้สุขกาย สุขใจ และสุขเงินในบั้นปลาย ซึ่งทุกคนสามารถทำได้หากรู้วิธีการและมีวินัย ดังนี้

ออมเงินวัยเกษียณ

1. กำหนดเป้าหมาย

          แยกระหว่างสิ่งที่อยากได้ (Wants) และจำเป็น (Needs) ด้วยการเรียงสำคัญของเป้าหมาย โดยใช้หลัก

          SMART
          Specific = ชัดเจน
          Measurable = วัดผลได้
          Accountable = ทำสำเร็จ
          Realistic = บรรลุผลได้
          Time bound = มีกำหนดเวลา


          วิธีการกำหนดเป้าหมายในวัยเกษียณ เช่น เป้าหมายระยะยาว อยากมีเงินใช้จ่าย 15,000 ต่อเดือนหลังเกษียณ และอยากใช้เงินเดือนละ 15,000 บาทต่อไปจนสิ้นอายุขัย หากตั้งเป้าว่าจะมีอายุถึง 90 ปี หมายความว่าต้องมีเงินไม่น้อยกว่า 5,400,000 บาท จึงจะสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตหลังเกษียณของเราได้ เมื่อได้เป้าหมายแล้ว ก็ต้องทำการวางแผนว่าเราจะสร้างเงินจำนวนนี้ทันเวลาได้อย่างไร

2. สำรวจตนเอง ด้วยสูตรคำนวณง่าย ๆ เบื้องต้นว่าคุณอยู่รอดหรือยัง ?

          อัตราส่วนความอยู่รอด (Survival Ratio) คือ รายได้จากการทำงาน บวกรายได้จากสินทรัพย์ หารด้วยรายจ่าย หากผลลัพธ์มากกว่า 1 หมายความว่าสามารถอยู่รอดได้ด้วยตนเอง

          อัตราส่วนความมั่งคั่ง (Wealth Ratio) คือ รายได้จากสินทรัพย์ หารด้วยรายจ่าย หากผลลัพธ์มากกว่า 1 เท่ากับว่ามีอิสรภาพทางการเงิน

          โดยเราต้องดูว่างบดุลชีวิตของเรามีฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร เช่น ดูความสมดุลระหว่างทรัพย์สินและหนี้ สิ่งที่จะทำให้ความมั่งคั่งเกิด คือ เริ่มรู้จักนิสัยการใช้จ่ายของตัวเอง หากลดค่าใช้จ่ายที่สามารถลดได้ เช่น ค่าทำผม เสื้อผ้า จะทำให้มีเงินเหลือเงินออมมากขึ้น

3. จัดทำแผนการเงิน

          โดยเริ่มคำนวณคร่าว ๆ ว่าตอนนี้ เราขาดเงินอีกเท่าไหร่ จึงจะมีเงินออมเพียงพอในวัยเกษียณ ด้วยนำจำนวนที่ต้องใช้ ลบด้วยจำนวนเงินที่มีแล้ว จะได้ตัวเลข เงินขาด/เงินเกิน หากเงินเกินหมายความว่าคุณมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว แต่หากเงินขาดจะต้องมีการลดค่าใช้จ่าย ทำงานหารายได้เพิ่ม และวางแผนการลงทุนตั้งแต่วันนี้

          ด้วย 3 พลังสร้างเงินออมก้อนโต คือ แบ่งเงินออมเล็ก ๆ แต่ละงวด ยิ่งมากยิ่งดี จำนวนงวดที่ต้องออมต่อเนื่อง ยิ่งมากยิ่งดี และอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่องวด ยิ่งเยอะยิ่งดี

          ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ ด้วย 4 รู้ สู่ความมั่งคั่ง คือ
          - รู้หา หาเงินเพิ่ม เสริมรายได้
          - รู้เก็บ เก็บออมก่อนใช้จ่าย
          - รู้ใช้ ใช้เงินอย่างฉลาด สร้างโอกาสเพิ่มเงินออม
          - รู้ขยายดอกผล ลงทุนถูกที่ความมั่งมีงอกงาม เพราะการลงทุนทำให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น


          นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างวินัยการออมอย่างสม่ำเสมอ คือ การลงทุนด้วยหลัก DCA (Dollar Cost Averaging) การออมสม่ำเสมอหรือทยอยออม ด้วยจำนวนเงินที่เท่า ๆ กัน (รายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส) DCA มีข้อดีคือช่วยฝึกวินัยในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยต้นทุนในการลงทุน ไม่พลาดโอกาสในการลงทุนทุกภาวะตลาด และตัดอารมณ์ออกจากการตัดสินใจลงทุน

ออมเงินวัยเกษียณ

          รวมถึงยังมีการลงทุนอีกหลายรูปแบบที่ช่วยเพิ่มเงินออมให้บรรลุเป้าหมาย ที่มีผลตอบแทนและความเสี่ยงแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น

           เงินฝากออมทรัพย์ ให้ผลตอบแทนประมาณ 0.125%-0.75%
           เงินฝากประจำปี 1 ปี ให้ผลตอบแทนประมาณ  0.75%-1.75%
           สลากออมทรัพย์ ให้ผลตอบแทนประมาณ 0.4%-1.5%
           หุ้นสหกรณ์ทองคำ ให้ผลตอบแทนประมาณ 4.56%
           ตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนประมาณ 5.15%
           กองทุนรวม ให้ผลตอบแทนประมาณ 2%-10%
           กองทุน RMF ให้ผลตอบแทนประมาณ 7%-11%
           กองทุน LTF ให้ผลตอบแทนประมาณ 9%-11%
           หุ้น ให้ผลตอบแทนประมาณ 11.61%


          การ "ลงทุน" ทำให้ถึงเป้าหมายให้เร็ว แต่ "วินัย" จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ความรู้ความเข้าใจเรื่องการออม การวางแผนการเงิน การลงทุน เป็นเรื่องของคนทุกวัย เพื่อสร้างรากฐานทางการเงินที่ดี นำไปสู่ชีวิตเกษียณสุข ที่มีสุขภาพทางการเงินเข้มแข็ง และมีความสุขได้อย่างที่ควรจะเป็น


ภาพและข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดสูตรเพิ่มเงินออม เก็บเงินให้รวยก่อนเกษียณ พร้อมรับสังคมสูงอายุ อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 15:56:31 16,892 อ่าน
TOP