x close

เปิดประตูศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย แหล่งเรียนรู้สุดชิค ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติ

          ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย แลนด์มาร์กใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดประสบการณ์เรียนรู้เรื่องการเงินแบบล้ำสมัย ภายใต้บรรยากาศดี ๆ วิวสวย แบบนี้ไม่ไปไม่ได้แล้ว

          หากใครผ่านมาแถวสะพานพระราม 8 คงต้องเคยเห็นอาคารหลังใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ปัจจุบันเปลี่ยนโฉมใหม่เป็น "ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย" จนกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รู้ไหมว่าที่นี่เกิดจากการนำโรงพิมพ์ธนบัตรเก่าซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512  มาปรับเป็นพื้นที่สาธารณะเชื่อมโยงผู้คนให้เข้าถึงง่ายขึ้น ด้วยแนวคิด "แหล่งการเรียนรู้ที่มีชีวิต" (living learning-hub) ภายใต้บรรยากาศสบาย ๆ ที่รวมเอาห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องประชุม และร้านกาแฟริมแม่น้ำ มาไว้ในที่เดียวกัน

          เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มสงสัยกันแล้วว่าศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ มีความพิเศษยังไง วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาทุกคนไปเปิดประตู เจาะลึกดูส่วนต่าง ๆ กันว่าแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่นี้ มีความน่าสนใจอะไรบ้าง ทำไมจึงไม่ควรพลาดที่จะแวะมาเยี่ยมชมกันสักครั้ง

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติ
คุณประภากร วรรณกนก

          งานนี้จะมีใครที่ให้ความรู้และเล่าประวัติความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ได้ดีไปกว่า คุณประภากร วรรณกนก ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะพาเราเดินชมและเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ ว่า เกิดจากการที่แบงก์ชาติต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้ามาหาความรู้และใช้งานได้จริง ๆ จึงเริ่มแนวคิดที่จะทำแหล่งการเรียนรู้ ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนทุกกลุ่ม ซึ่งโจทย์ที่คิดกันก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้คนทั่วไปรู้สึกเป็นมิตร เข้าถึงง่าย และมองเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากขึ้น

          จึงได้เริ่มต้นนำอาคารเก่าอายุ 50 ปี ของโรงพิมพ์ธนบัตร บางขุนพรหม โรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของไทย ซึ่งถูกปล่อยร้างไว้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรมานาน มาปัดฝุ่นใหม่ เป็นศูนย์การเรียนรู้สุดเก๋ ที่ผสมผสานระหว่างโครงสร้างสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กับการออกแบบสมัยใหม่ ที่เน้นความโปร่งโล่งสบาย สามารถมองเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาและสะพานพระราม 8 จากภายในศูนย์การเรียนรู้ได้เลย

          "วัตถุประสงค์ของศูนย์การเรียนรู้ฯ ก็เพื่อที่จะเป็นศูนย์กลางความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน อย่างบูรณาการ นอกจากจะมีพื้นที่สำหรับนั่งศึกษาค้นคว้าแล้ว ก็ยังมี Co-working space ให้ประชาชนเข้ามานั่งแลกเปลี่ยนพูดคุยต่อยอดความรู้ แล้วก็มีห้องประชุมขนาด 80-90 ที่นั่ง เพื่อที่ประชาชนจะมานั่งประชุม จัดเสวนาทางด้านเศรษฐกิจการเงินได้อีกด้วย" คุณประภากร เล่าให้ฟังขณะพาเยี่ยมชม

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ทั้งนี้ พื้นที่ภายในศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแหงประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่จัดกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งแต่ละโซนมีความน่าสนใจดังนี้

          ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

          สำหรับโซนแรกที่อยากจะแนะนำทุกคน คือ "ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย" ที่เป็นเหมือนคลังความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การธนาคารของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ บรรยากาศของทีนี่ชวนให้เราอยากนั่งอ่านหนังสือ นั่งทำงานเป็นที่สุด ด้วยคอนเซ็ปต์ Co-working Space ที่ออกแบบให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีทั้งสื่อมัลติมีเดียแบบครบครัน, ห้อง IDEA Box สำหรับใช้ประชุมงาน หรืออ่านหนังสือร่วมกัน

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          อีกอย่างที่น่าจะถูกใจหลาย ๆ คน ก็คือ ปลั๊กไฟ ที่มีบริการแทบจะทุกจุดในห้องสมุดเลยก็ว่าได้ หรือถ้าใครมาถึงแล้วเกิดปิ๊งไอเดียดี ๆ ขึ้นมา อยากจะนั่งทำงานซะตอนนั้นเลย แต่ลืมหยิบโน้ตบุ๊กมาจากบ้าน ที่นี่ก็มีคอมพิวเตอร์ไว้คอยบริการอีก เหมาะสุด ๆ กับคนที่อยากมานั่งทำงาน อ่านหนังสือชิล ๆ ภายใต้บรรยากาศสบาย ๆ แบบนี้

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          และพิเศษสุด ๆ กับห้อง Econ Connect ที่เปิดไว้รองรับนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินโดยเฉพาะ ให้สามารถเข้ามายืมหนังสือจากห้องสมุดชั้นนำทั่วโลกกว่า 7,000 แห่ง หมายความว่า ถ้าใครอยากจะยืมหนังสือจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัย Harvard หรือ  MIT ก็ไม่ต้องไปไกลถึงอเมริกาอีกแล้ว เพียงมาที่ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ก็สามารถยืมได้เลย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย

         
ถัดจากห้องสมุดแล้ว โซนต่อมาที่เป็นไฮไลท์ห้ามพลาดของที่นี่ก็คือ "พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย" ที่ตั้งอยู่ในบริเวณของ "ห้องมั่นคง" ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นที่เก็บธนบัตรและสิ่งของสำคัญ เช่น กระดาษสำหรับพิมพ์ธนบัตร เอกสารสำคัญของราชการ รวมทั้งทรัพย์สินมีค่า จึงต้องสร้างผนังของห้องไว้หนาถึง 80 เซนติเมตร และมีประตูนิรภัยป้องกันแน่นหนา

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          คุณประภากร เผยถึงเรื่องราวในอดีตของห้องมั่นคงให้ฟังว่า แต่ก่อนจะมีพนักงานของแบงก์ชาติเพียง 3 คนเท่านั้นที่ถือกุญแจเปิดห้องมั่นคงได้ โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าผู้ถือกุญแจทั้ง 3 คนนั้นเป็นใคร และเมื่อถึงยามวิกฤติต่าง ๆ เช่น รัฐประหาร ทั้ง 3 คนนี้ก็จะหายตัวไป เพื่อความมั่นคงของทรัพย์สินประเทศชาติ แต่ทว่าในวันนี้ แบงก์ชาติได้ตัดสินใจเปลี่ยน "พื้นที่ต้องห้าม" ให้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อที่ใคร ๆ ก็สามารถเดินเข้าไปหาความรู้ได้อย่างเต็มอิ่ม

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          สำหรับการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์นั้น จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่บริเวณเคาน์เตอร์ หรือเข้าไปจองการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ล่วงหน้าได้ที่ เว็บไซต์ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการเข้าชมจะมีวิทยากรนำเที่ยวเป็นรอบ ๆ ใช้เวลารอบละประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง มีทั้งหมดวันละ 6 รอบด้วยกัน จำกัดรอบละไม่เกิน 20 คน เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. จนถึง 14.30 น. หรือใครจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นผ่านสมาร์ทโฟนชื่อว่า "BOT-Museum" เอาไว้เป็นไกด์ส่วนตัวพาเดินชมนิทรรศการและให้ความรู้ที่น่าสนใจเพิ่มเติมด้วยก็ได้
         

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เมื่อเดินเข้ามาในพิพิธภัณฑ์แล้ว เราจะได้พบกับ "นิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร" เป็นส่วนแรก ที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของเครื่องพิมพ์ธนบัตรแห่งแรงของประเทศ แต่ปัจจุบันจัดเป็นนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราว ขั้นตอนการผลิตธนบัตรชนิดต่าง ๆ     

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ถัดมาจะเป็น "นิทรรศการเงินตรา" ที่พาเราย้อนเวลาไปเรียนรู้วิวัฒนาการของเงินตราและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แถมยังเป็นที่รวบรวมธนบัตรและเหรียญไทยไว้มากที่สุดอีกด้วย น่าจะถูกอกถูกใจเหล่านักสะสมเหรียญและธนบัตรหายากต่าง ๆ แน่นอน

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          และในส่วนสุดท้ายที่ห้ามพลาดเลยอย่าง "นิทรรศการบทบาทหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย" ที่เป็นเหมือนประตูพาเราไปรู้จักกับแบงก์ชาติมากขึ้น ว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เราสามารถจำลองให้ตัวเองเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ย ค่าเงิน ได้เองผ่านสื่อมัลติมีเดียที่ทันสมัย ช่วยให้เราได้เรียนรู้เรื่องการเงินที่ว่ายากให้เข้าใจแบบง่าย ๆ รับรองได้เลยว่า ใครเข้ามาในห้องนี้ นอกจากจะได้ความรู้ ความเข้าใจ ในบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติกลับไปแล้ว ยังได้ความสนุกเพลิดเพลินจากเกมต่าง ๆ ที่มีให้เล่นอีกด้วย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ต้องยอมรับว่าภายในพิพิธภัณฑ์ มีการออกแบบของห้องและสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ดี สอดแทรกเกมเข้ามาให้เราได้เล่นร่วมกันไปตลอด ทำให้การเที่ยวชมรู้สึกเพลิดเพลิน และเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่กำลังนำเสนอจนลืมเวลาไปเลย อ้อ...อีกหนึ่งความพิเศษก็คือ นิทรรศการทั้งหมดถูกออกแบบให้รองรับผู้พิการด้วย ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้นั่งวีลแชร์และมีอักษรเบรลล์ตามจุดต่าง ๆ ไว้ให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย


          พื้นที่จัดกิจกรรมหมุนเวียนอื่น ๆ

          นอกจากนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังมีส่วนนิทรรศการอื่น ๆ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะสลับหมุนเวียนมาจัดแสดงกันตลอดทั้งปีเลย เปรียบเสมือนว่าการเรียนรู้ก็เป็นการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด ส่วนใครที่เยี่ยมชมห้องสมุด และหาความรู้ในพิพิธภัณฑ์กันจนจุใจแล้ว อยากออกมานั่งชิล พักเหนื่อย รับบรรยากาศดี ๆ ก็แวะมานั่งจิบกาแฟและทานอาหารว่างที่ร้านกาแฟริมน้ำ พร้อมดื่มด่ำกับวิวหลักล้าน ที่สามารถมองเห็นสะพานพระราม 8 และแม่น้ำเจ้าพระยาได้แบบสวยงามสุด ๆ

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย


การเดินทางมายังศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย


          เห็นบรรยากาศที่นี่แล้วก็ถ้าอยากมาชมด้วยตาของตัวเองก็เดินทางมาได้เลยที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ใกล้สะพานพระราม 8 โดยสามารถเดินทางมาได้หลายวิธี


          - รถเมล์ : สามารถนั่งรถโดยสารประจำทางมายังบริเวณใกล้เคียงได้หลายสาย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          - เรือโดยสาร : จะลงที่ท่าเรือเทเวศร์ หรือ ท่าเรือวัดสามพระยาก็ได้

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
          - รถยนต์ : ถ้าขับรถมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้มุ่งหน้าถนนราชดำเนินกลาง เบี่ยงซ้ายเข้าสู่ถนนราชดำเนินนอก แล้วเลี้ยวซ้ายที่แยก จ.ป.ร. เข้าสู่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ และวิ่งตรงไปเรื่อย ๆ ยังถนนพระราม 8 ศูนย์การเรียนรู้ฯ จะอยู่ทางซ้ายมือ ใกล้สะพานพระราม 8 ตรงข้ามกับวังบางขุนพรหม

          ใครขับรถส่วนตัวมาก็สามารถนำมาจอดที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้เลย เพราะที่นี่มีที่จอดรถรองรับกว่า 150 คัน คิดค่าบริการชั่วโมงละ 20 บาท สำหรับรถยนต์ ส่วนรถจักรยานยนต์คิดค่าบริการชั่วโมงละ 10 บาท

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย


ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดบริการวันไหนบ้าง 


         
ศูนย์การเรียนรู้ฯ เปิดให้เข้าชมได้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ให้บริการตั้งแต่เวลา 09.30-20.00 น. ส่วนร้านกาแฟ จะปิดให้บริการเวลา 19.00 น. ขณะที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย, ห้องค้นคว้าจดหมายเหตุ และร้านสินค้าที่ระลึก จะปิดให้บริการเวลา 16.30 น.

          แนะนำว่าใครที่สนใจอยากไปเที่ยวชมละก็ ให้รีบเลย เพราะทางศูนย์การเรียนรู้ฯ จะเปิดให้บริการในส่วนพิพิธภัณฑ์ฟรีไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 หลังจากนั้นจะมีการเก็บค่าบริการ

          ส่วนใครที่คาดว่าจะมาใช้บริการบ่อย ๆ แนะนำให้สมัครสมาชิกไว้เลย ปีละ 1,500 บาท พร้อมรับสิทธิพิเศษใช้บริการห้องสมุด ห้องมัลติมีเดียฟรี ใช้ Wifi ฟรี เข้าพิพิธภัณฑ์ฟรี หรือถ้าจะใช้บริการห้อง Idea Box ก็ได้ส่วนลด 50% แถมยังจอดรถได้ฟรี 4 ชั่วโมง
ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
          สุดท้าย คุณประภากร ฝากเชิญชวนทุกคนว่า อยากให้มีโอกาสมาสัมผัสพื้นที่แห่งนี้สักครั้ง และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y ที่ยังขาดวินัยทางการเงิน ทำให้มีหนี้สูงมาก ซึ่งก็เชื่อว่าศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ จะสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนตระหนักถึงการออมเงิน และวางแผนการเงินในอนาคตได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของแบงก์ชาติ ที่ต้องการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน

          "เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็อยากจะเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่มให้เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ฯ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ก็ตาม ซึ่งหวังว่าทุกคนจะเข้าใจด้านเศรษฐกิจการเงิน และบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติมากขึ้น ส่วนเราก็จะยังทำหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชนต่อไปค่ะ" คุณประภากร กล่าวทิ้งท้าย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ใครที่มีเวลาว่างหรืออยากศึกษาหาความรู้เรื่องการเงิน ลองแวะมาเยี่ยมชม เช็กอินที่นี่ดูสิ รับรองว่าน่าจะถูกใจใครหลายคนเลย เพราะที่นี่เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ ค้นคว้าข้อมูล ด้านเศรษฐกิจ การเงินแบบครบวงจร ที่ผสมผสานกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้ลงตัวแบบสุด ๆ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประตูศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย แหล่งเรียนรู้สุดชิค ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อัปเดตล่าสุด 23 เมษายน 2561 เวลา 17:55:20 22,305 อ่าน
TOP