x close

ผู้ประกันตนเฮ ! ได้เงินช่วยเหลือทางการแพทย์ เหมือนสิทธิบัตรทอง



          สำนักงานประกันสังคม ให้สิทธิผู้ประกันตนได้เงินช่วยเหลือทางการแพทย์เหมือนสิทธิบัตรทอง ยกเว้นข้าราชการยังไม่ได้

          จากกรณีปัญหาความเข้าใจระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ที่มีการรักษาพยาบาลและเกิดข้อพิพาทหลายครั้งจนเป็นคดีความตามที่มีข่าวมาตลอด แต่หลายครั้งก็มีการเจรจาตกลงกันได้ผ่านการช่วยเหลือเบื้องต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้น แบ่งเป็น เสียชีวิต ทุพพลภาพ บาดเจ็บจากการบริการสาธารณสุข ซึ่งครอบคลุมให้แก่ผู้ป่วยบัตรทอง 48 ล้านคน ยกเว้นสิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ และล่าสุด สำนักงานประกันสังคม ได้ให้สิทธิผู้ประกันตนกว่า 13 ล้านคน เหลือเพียงข้าราชการกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ยังไม่มี
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุด วันที่ 21 มกราคม 2561 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า แม้ว่าจะมีปัญหาการฟ้องแพทย์มากขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้เพิ่มมาก เพราะมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งมีมาตรการในการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยและญาติ โดยเพดานสูงสุดอยู่ที่ 400,000 บาท ในกรณีเสียชีวิต ซึ่งเงินนี้จะได้รับอย่างรวดเร็ว ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยและญาติได้ ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ติดใจที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาล แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ ไม่มีการช่วยเหลือแบบนี้ในสิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการ

          อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สนช. ได้ผลักดันในการแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2558 มีผลบังคับใช้ใน 120 วัน โดยแก้ไขในมาตรา 53 ให้เป็นค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหาย จากการรับบริการทางการแพทย์ เมื่อสํานักงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้ว ให้สํานักงานมีสิทธิ์ไล่เบี้ยแก่ผู้กระทําผิดได้

          นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า ประธานกรรมการการแพทย์ประกันสังคม ได้ลงนามในประกาศหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ โดยใช้อัตราเดียวกับมาตรา 41 ของ พ.ร.บ. บัตรทอง ซึ่งเท่ากับว่า ขณะนี้เหลือเพียงข้าราชการ 5 ล้านคนเท่านั้นที่ยังไม่มีสิทธิตรงนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มี พ.ร.บ. เป็นของตัวเอง แต่เป็นเพียงพระราชกฤษฎีกา ซึ่งดูแลเงินกองทุนถึง 6 หมื่นล้านบาท จริง ๆ ก็ควรต้องมีสิทธิตรงนี้ด้วย เพราะการออกสิทธิดังกล่าวไม่ได้ยาก และไม่ได้ใช้เงินมากมาย เพราะขนาดบัตรทองใช้เงินตามมาตรา 41 เพียง 200 ล้านบาท ประกันสังคมคนน้อยกว่าก็น่าจะใช้เงินไม่เยอะ ขณะที่ข้าราชการคนน้อยกว่าอีกก็น่าจะน้อยลงไปด้วย ซึ่งทาง สนช. จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลเรื่องนี้ และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป

          ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เห็นชอบกรรมการการแพทย์ในเรื่องหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่ง นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการการแพทย์ ได้ลงนามเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 ได้บังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ผู้ป่วยประกันสังคมที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ในช่วงเวลาดังกล่าว และยังไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยหรือยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นใด ๆ จะสามารถใช้สิทธิตามประกาศนี้ได้ เรียกว่ามีผลย้อนหลังให้นั่นเอง โดยหลักเกณฑ์จะใช้ยึดตามมาตรา 41 ของบัตรทอง เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น โดยอัตราการช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีเสียชีวิตตั้งแต่ 240,000-400,000 บาท สูญเสียอวัยวะจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000-240,000 บาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องไม่เกิน 100,000 บาท

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้ประกันตนเฮ ! ได้เงินช่วยเหลือทางการแพทย์ เหมือนสิทธิบัตรทอง อัปเดตล่าสุด 26 มีนาคม 2563 เวลา 17:13:49 70,489 อ่าน
TOP