เลือก LTF ลดหย่อนภาษีอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง

LTF

          ก่อนลงทุนใน LTF ควรเลือกนโยบายกองทุนที่เหมาะกับตัวเรา และทำตามเงื่อนไขของการลงทุน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการลดหย่อนภาษี

          พอถึงปลายปีมักเป็นช่วงเวลาซื้อกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษีของหลาย ๆ คน ซึ่งกองทุนรวมลดหย่อนภาษีที่ได้รับความนิยมมากคงหนีไม่พ้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้จะลงทุนใน LTF ควรรู้คือ LTF เน้นลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% ทำให้ LTF มีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนจึงควรรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นได้ อย่างไรก็ตาม LTF แต่ละกองทุนก็ยังมีนโยบายการเลือกหุ้นที่แตกต่างกัน K-Expert ธนาคารกสิกรไทย จึงขอแนะนำวิธีเลือก LTF อย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง มาบอกกล่าวกัน เพื่อเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน 

          การเลือก LTF เพื่อลดหย่อนภาษีนั้น ควรดูว่าตัวเรายอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน โดย “ผู้ที่อยากจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุน ไม่ต้องการรับความผันผวนของราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงมากนัก หรือเพิ่งเริ่มต้นลงทุนใน LTF” จะเหมาะกับ

          - LTF ที่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น เช่น ลงทุนในหุ้นไม่เกิน 70% ทำให้กองทุนประเภทนี้จะมีสัดส่วนลงทุนในหุ้นอยู่ที่ 65-70% ของเงินลงทุนเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ เงินฝาก

          - LTF ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนน้อยกว่าตลาด ตามหลักการแล้วกองทุนประเภทนี้จะปรับตัวขึ้นหรือลงน้อยกว่าตลาดหุ้นโดยรวม ดังนั้น ช่วงตลาดขาขึ้น ราคากองทุนจะปรับตัวขึ้นไม่เท่าตลาด แต่ความน่าสนใจ คือ ช่วงตลาดขาลง ราคากองทุนจะปรับลงน้อยกว่าตลาดนั่นเอง


LTF
          สำหรับ “ผู้ที่สามารถรับความเสี่ยง หรือยอมรับความผันผวนขึ้นลงของราคาหุ้นได้สูง” สามารถลงทุนใน LTF ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น

          - LTF ที่ลงทุนตามดัชนีตลาด เช่น ดัชนี SET50 กองทุนจะเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นที่อยู่ในดัชนีอ้างอิงนั้น ๆ เพื่อเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงดัชนีอ้างอิงมากที่สุด

          - LTF ที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ หรือหุ้นที่มีพื้นฐานปัจจัยดี มีความมั่นคง มีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางธุรกิจ รวมถึงมีโอกาสจ่ายปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ

          - LTF ที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก โดยทั่วไปหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กจะเป็นหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ทำให้ราคากองทุนมีโอกาสปรับตัวขึ้นสูงได้ในอนาคต


          - LTF ที่กำหนดจำนวนหุ้น เช่น ลงทุนในหุ้นไม่เกิน 20 ตัว ความน่าสนใจของกองทุนประเภทนี้ คือ ผู้จัดการกองทุนจะบริหารจัดการหุ้นในจำนวนที่จำกัด ทำให้สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับตัวหุ้นที่ลงทุนง่ายขึ้น รวมถึงปรับเปลี่ยนหุ้นที่ลงทุนได้รวดเร็วทันกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เข้ามากระทบการลงทุน


LTF



          นอกจากการเลือกประเภท LTF ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาเช่นกัน นั่นคือ นโยบายจ่ายเงินปันผล ซึ่ง LTF มีทั้งประเภทที่จ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล โดยต้องถามตัวเราเองว่า อยากได้ผลตอบแทนจากการลงทุนใน LTF แบบไหนมากกว่ากัน

          “ถ้าอยากได้กำไรจากการขายหน่วยลงทุนคืนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย” จะเหมาะกับ LTF ที่ไม่จ่ายเงินปันผล เนื่องจากกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนไม่ต้องเสียภาษี แต่ “ถ้าอยากได้ความอุ่นใจมีผลตอบแทนระหว่างลงทุน” ก็จะเหมาะกับ LTF ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ทั้งนี้ เงินปันผลที่ได้รับต้องเสียภาษี โดยสามารถเลือกได้ว่า ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือนำไปรวมกับเงินได้ประจำปีในการคำนวณภาษี

          สำหรับผู้ที่ตัดสินใจจะซื้อ LTF อย่าลืมพิจารณาว่า เงินที่จะนำมาลงทุนใน LTF สามารถถือได้นาน 7 ปีปฏิทินตามเงื่อนไขหรือไม่ เพราะถ้าขายคืน LTF ก่อนครบกำหนด กำไรจากการขายต้องนำมารวมเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษี และคืนเงินภาษีที่ได้ลดหย่อนพร้อมเบี้ยปรับอีกด้วย แต่หากซื้อ LTF ไปแล้ว ต้องการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนระหว่าง LTF ด้วยกัน สามารถทำได้ไม่ผิดเงื่อนไข โดยจะนับอายุการถือครองต่อเนื่อง แต่หน่วยลงทุน LTF ที่สับเปลี่ยนไปนั้น ไม่ถือเป็นเงินลงทุนใหม่ จะใช้ลดหย่อนภาษีอีกไม่ได้ นอกจากนี้ การซื้อ LTF จะซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 5 แสนบาท โดยไม่มีกำหนดยอดซื้อขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับกองทุนหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกำหนด

          หากต้องการลดหย่อนภาษี LTF ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ โดยศึกษานโยบายการลงทุนของกองทุนให้ละเอียด เพื่อเลือก LTF ที่เหมาะกับตัวเรามากที่สุดและเงินที่นำมาซื้อ LTF ควรเป็นเงินเย็น หรือไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ในช่วงที่ต้องลงทุนอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน แนะนำให้สำรวจเงินสำรองของตัวเราดูว่ามีถึง 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนหรือยัง เพราะถ้ามีเหตุให้ต้องใช้เงินจะได้มีเงินสำรองมาใช้จ่าย ไม่กระทบกับเงินลงทุนใน LTF

           K-Expert Action

          • ลงทุน LTF ไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 5 แสนบาท เพื่อไม่ผิดเงื่อนไขในการลงทุน

          • กันเงินสำรองไว้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เมื่อต้องใช้เงินจะได้ไม่กระทบกับเงินที่ลงทุนอยู่ใน LTF


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลือก LTF ลดหย่อนภาษีอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง อัปเดตล่าสุด 7 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16:40:41 5,334 อ่าน
TOP
x close