x close

แจงขึ้นค่า BTS เป็นไปตามสัญญา-นำไปหนุนค่าใช้จ่ายจัดการเดินรถ


BTS ปรับราคาใหม่

        แจงการปรับขึ้นค่า BTS หลังโซเชียลบ่นอุบแพงไปหรือไม่ ชี้เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน-นำมาเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการเดินรถ

        หลังจากที่ BTS ได้ปรับอัตราค่าโดยสารจากสายสีลม บางหว้า ไปสายสุขุมวิท ราคา 59 บาท ทุกเส้นทาง ทำโซเชียลโอดแพง ชี้พัฒนาแต่ราคา ไม่พัฒนาคุณภาพ ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น (อ่านข่าว : จุก BTS ปรับราคาใหม่ ค่าโดยสารสูงสุด 59 บาท โซเชียลโอดแพงเกินไป)

        เกี่ยวกับเรื่องนี้ (5 ตุลาคม 2560) นายธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ตามที่มีการปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนของเส้นทางสัมปทานสายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช และสายสีลมตั้งแต่สถานีสะพานตากสินถึงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นั้น เป็นไปตามสัญญาสัมปทานระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

        โดยได้ติดป้ายแสดงราคาค่าโดยสารบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกสถานี พร้อมระบุอัตราค่าโดยสาร ในการเดินทางไปยังสถานีแต่ละแห่งอย่างชัดเจน เพื่อแจ้งให้ผู้โดยสารทราบและสามารถชำระค่าตั๋วโดยสารได้ถูกต้อง ซึ่งการคิดอัตราค่าโดยสารจะเริ่มต้นสถานีแรกที่ราคา 16 บาท และปรับเพิ่มตามระยะทางซึ่งจะไม่เกิน 44 บาท หากโดยสารตั้งแต่ 8 สถานีขึ้นไป จะคิดอัตราเท่าเดิมคือ 44 บาท

        อย่างไรก็ตามสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางต่อเนื่องในเส้นทางส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท จากสถานีอ่อนนุช-สถานีสำโรง และส่วนต่อขยายสายสีลม จากสถานีวงเวียนใหญ่-สถานีบางหว้า จะต้องชำระค่าโดยสารเพิ่ม ซึ่งในส่วนของส่วนต่อขยาย คิดในอัตราเดียวคือ 15 บาท เมื่อรวมกันจึงเป็นราคา 59 บาท ตามที่แสดงในตารางราคาบริเวณสถานีบีทีเอส
        
       ขณะที่ใน Pantip ซึ่งเป็นเว็บบอร์ดชื่อดัง ก็ได้ตั้งกระทู้ถึงอัตราค่าโดยสารบีทีเอสใหม่ว่า แพงเกินจริงหรือไม่ โดยมีการเปรียบเทียบกับค่าครองชีพของคนไทย และมีการเปรียบเทียบกับราคาในต่างประเทศ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการจัดการเดินรถในต่างประเทศจะเห็นว่าส่วนใหญ่มีการพัฒนาเส้นทางโดยรอบของสถานีในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถนำรายได้ดังกล่าวมาเป็นทุนในการบริหารและจัดการเดินรถได้

        แต่ประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาพื้นที่เพื่อการพาณิชย์มากนัก จึงจำเป็นต้องนำรายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสารมาเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส หากย้อนไปดูสัญญาสัมปทานระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สัญญาระบุไว้ว่าบริษัทอาจปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บเป็นคราว ๆ ไป และสามารถปรับค่าโดยสารได้ทุก 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 60.31 บาท โดยมีการปรับราคาค่าโดยสารครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 นับรวมเวลาก็กว่า 4 ปีแล้ว

ภาพจาก นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, bts.co.th
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
fm91bkk.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แจงขึ้นค่า BTS เป็นไปตามสัญญา-นำไปหนุนค่าใช้จ่ายจัดการเดินรถ อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2560 เวลา 09:18:13 19,184 อ่าน
TOP