x close

3 กุญแจปลดล็อกปัญหาการเงินฟรีแลนซ์

ฟรีแลนซ์

          ฟรีแลนซ์เป็นได้ไม่ยาก แต่จะมั่นคงและประสบความสำเร็จได้ต้องรู้จักบริหารจัดการเงินให้ดี ทั้งเตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เพิ่มรายได้ด้วยการลงทุน วางแผนทำประกัน เก็บเงินใช้จ่ายยามเกษียณ และเตรียมตัวเมื่อต้องการขอสินเชื่อ

          ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพยอดฮิตของคนยุคนี้เพราะมีอิสระ เป็นเจ้านายตัวเอง ทำงานที่ไหนก็ได้ เพียงแค่มีฝีมือ และมีวินัยในตัวเอง รับผิดชอบงาน ส่งให้ตรงเวลา อย่างไรก็ตาม การเป็นฟรีแลนซ์ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นหนึ่งในอาชีพที่ต้องเคร่งครัดเรื่องการเงินอย่างมาก หากไม่บริหารจัดการให้ดี ชีวิตการเป็นฟรีแลนซ์อาจสะดุด หรือประสบปัญหาการเงิน ซึ่งปัญหาการเงินที่ฟรีแลนซ์มีโอกาสสัมผัสถึงมีอะไรบ้าง แล้วจะรับมืออย่างไร K-Expert มีคำตอบ
 
          ปัญหารายได้ไม่สม่ำเสมอ
         
          หากเทียบกับมนุษย์เงินเดือน ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือความสม่ำเสมอของรายได้ ในมุมของฟรีแลนซ์ หากไม่มีงานก็ไม่มีเงิน หรือบางทีมีงานแต่เก็บเงินไม่ได้ หรือบางช่วงงานเยอะมากจนทำไม่ทันก็กลายเป็นปัญหา เรียกว่าความไม่แน่นอนทั้งเรื่องงานและเรื่องเงิน เป็นของคู่กันกับฟรีแลนซ์ที่ต้องบริหารจัดการให้ดี
 
          แต่ถึงฟรีแลนซ์จะมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ แต่รายจ่ายในแต่ละเดือนเป็นสิ่งที่มาแน่นอน ดังนั้นฟรีแลนซ์จึงต้องจัดการกับชีวิตที่ไม่แน่นอนโดยเริ่มจาก ลิสต์รายการค่าใช้จ่าย ในแต่ละเดือนออกมา ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ซึ่งมักจ่ายเท่ากันทุกเดือน เช่น ค่าเช่าบ้านหรือผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเบี้ยประกัน และค่าใช้จ่ายผันแปร ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมแต่ละคน สามารถเพิ่ม/ลดได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ รวมถึงค่าอุปกรณ์ ค่าอบรมเกี่ยวกับการทำงาน
          พอรู้ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแล้ว แนะนำ กันเงินสำรอง สำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไว้ประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท ควรมีเงินสำรองเอาไว้ 60,000 บาท โดยเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากเผื่อฉุกเฉิน สำหรับค่าใช้จ่ายที่ค้างจ่ายไม่ได้ โดยไม่ต้องอดมื้อกินมื้อ หรือหยิบยืมให้กลายเป็นหนี้เป็นสิน
 
          นอกจากนี้ แนะนำให้ สร้างรายได้ให้สม่ำเสมอด้วยการลงทุน ซึ่งการลงทุนมีหลายรูปแบบที่มีโอกาสจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หุ้นปันผล หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล รวมไปถึงคอนโดฯ ปล่อยเช่าที่อาจต้องใช้เงินมากหน่อย แต่ถ้าคอนโดฯ อยู่ในทำเลดี ก็มีโอกาสปล่อยเช่าง่ายและได้ค่าเช่าสูง การลงทุนเป็นการเพิ่มรายได้ที่ไม่ต้องลงแรงกาย ใช้แต่แรงเงิน เพียงแต่ต้องศึกษาข้อมูลสินทรัพย์ลงทุน ทั้งรูปแบบการจ่ายผลตอบแทน และระดับความเสี่ยงหรือโอกาสขาดทุน เพื่อเลือกประเภทการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง   

ฟรีแลนซ์

          ปัญหาไม่มีสวัสดิการ

          ความเสี่ยงอย่างหนึ่งของฟรีแลนซ์ คือการที่รายได้ผันตามงานที่มีเข้ามา ในช่วงที่มีงานเข้ามาเยอะจนต้องอดหลับอดนอน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อ แต่สิ่งที่ต่างกับมนุษย์เงินเดือนคือฟรีแลนซ์ไม่มีวันหยุด วันลา รวมถึงไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลของบริษัท ทำให้ฟรีแลนซ์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องรักษาพยาบาลเองทั้งหมด ดังนั้น “ประกันสุขภาพ” จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ พร้อมทำ “ประกันชดเชยรายได้” ไว้ด้วย ก็ช่วยเพิ่มความอุ่นใจ เพราะหากต้องนอนโรงพยาบาล ทำงานไม่ได้ ก็ยังมีประกันจ่ายเงินชดเชยรายได้ที่หายไปตามจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล
 
          อีกทางเลือกหนึ่งคือ การใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลจากภาครัฐ อย่างบัตรทอง หรือคนที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน ภายใน 6 เดือนหลังจากลาออก สามารถสมัครประกันสังคม มาตรา 39 โดยได้รับสิทธิรักษาพยาบาลแบบมนุษย์เงินเดือน
 

          นอกจากนี้ เมื่อฟรีแลนซ์ไม่มีสวัสดิการที่ช่วยในการออมเงินเพื่อเกษียณ อย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิ่งที่ควรทำคือ ออมเงินเกษียณด้วยตัวเอง จริงอยู่ว่า ฟรีแลนซ์ไม่มีอายุเกษียณแบบมนุษย์เงินเดือน โดยทั่วไปกำหนดไว้ที่ 55 หรือ 60 ปี หากยังมีแรงทำงานก็รับงานได้เรื่อย ๆ แต่ต้องยอมรับว่า เมื่ออายุมากขึ้น เรี่ยวแรงเริ่มลดน้อยถอยลง จะรับงานเยอะ ๆ แบบสมัยหนุ่ม ๆ สาว ๆ คงเป็นไปได้ยาก การเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ
 
          สำหรับรูปแบบการออมเงินที่แนะนำคือ กองทุนรวม ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนบริหารเงินให้เรา และมีให้เลือกหลายประเภท ตั้งแต่กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้น ไปจนถึงกองทุนประหยัดภาษี อย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยหากรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี การลงทุนในกองทุน LTF/RMF จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านภาษีได้ด้วย 
 
         ปัญหากู้เงินยาก

          เรื่องนี้เรียกว่าเป็นปัญหาใหญ่ของฟรีแลนซ์เลยก็ว่าได้ เพราะอาชีพฟรีแลนซ์รายได้ไม่แน่นอน เมื่อขอสินเชื่อจึงมีโอกาสถูกปฏิเสธได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเล็ก ๆ อย่างบัตรเครดิต ไปจนถึงสินเชื่อใหญ่ ๆ อย่างรถหรือบ้าน แต่จริง ๆ แล้ว ฟรีแลนซ์ก็สามารถมีบัตรเครดิต กู้ซื้อรถ กู้ซื้อบ้านได้ เพียงแต่ต้องมีการเตรียมตัวที่ต่างไปจากคนทำงานออฟฟิศทั่วไป โดยแสดงให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เราต้องการขอสินเชื่อเห็นว่า เราทำงานอะไร มีรายได้มากน้อยแค่ไหน โดยเตรียมเอกสารหลักฐานสำคัญ ๆ เช่น

          - หลักฐานแสดงการทำงาน เช่น สัญญาว่าจ้างจากลูกค้า ซึ่งเป็นหลักฐานที่ช่วยยืนยันที่มาของรายได้ว่าได้รับจากใคร หรือบริษัทอะไร

          - หลักฐานแสดงรายได้ เช่น ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย ใบเสร็จรับเงิน เอกสารทวิ 50 แสดงการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เอกสารเหล่านี้ธนาคารสามารถใช้ประเมินรายได้ของเราทั้งในปัจจุบันและที่ผ่านมา ยิ่งยอดรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ยิ่งช่วยยืนยันอาชีพการงานที่ทำอยู่ว่ามีความมั่นคงมากขึ้น นอกจากนี้ การเดินบัญชี (Statement) เป็นเอกสารหลักฐานสำคัญอีกตัวหนึ่งที่แสดงถึงความสม่ำเสมอของรายได้ โดยควรเดินบัญชีตลอด ให้มีเงินเข้ามากกว่าเงินออก ไม่ใช่เงินเข้าแล้วออกเลยตลอดเวลา และวันที่เงินเข้าบัญชีควรสอดคล้องกับวันที่รับเงินจากลูกค้า หรือวันจ่ายเงินที่ระบุในสัญญาว่าจ้าง

ฟรีแลนซ์

          สำหรับบัตรเครดิต บางธนาคารมีเงื่อนไขว่า หากมีเงินในบัญชีตามยอดขั้นต่ำที่กำหนดก็สามารถสมัครบัตรเครดิตได้ เช่น ยอดเงินฝากประจำ/ออมทรัพย์ ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน
 
          เมื่อเอกสารหลักฐานของเราผ่านการพิจารณาจากธนาคารก็เตรียมตัวผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือมีบัตรเครดิตได้ แต่สิ่งสำคัญหลังจากขอสินเชื่อผ่านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือรถคือ ผ่อนชำระให้ตรงเวลาทุกงวด รักษาเครดิตหรือประวัติการชำระหนี้ให้ดี เพราะหากผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา ประวัติเสียจะติดตัวเราไปอีกอย่างน้อย 3 ปี หากต้องการขอสินเชื่อในอนาคตจะยิ่งยากขึ้นไปอีก สำหรับบัตรเครดิต ต้องจ่ายครบและจ่ายตรง เพราะถ้าถึงกำหนดชำระ ไม่สามารถจ่ายเต็มจำนวน หรือจ่ายเพียงบางส่วน จะมีดอกเบี้ยเกิดขึ้นสูงถึง 20% ต่อปี
 
          จะเห็นได้ว่า ฟรีแลนซ์แม้มีอิสระในการทำงานหรือใช้ชีวิต แต่ก็มีเรื่องการเงินที่ต้องบริหารจัดการให้ดี เพื่อให้สามารถเป็นฟรีแลนซ์ที่มั่นคง และประสบความสำเร็จได้  
 
          K-Expert Action

          • เลือกลงทุนในสินทรัพย์ให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และระยะเวลาในการใช้เงิน
          • ทำประกันสุขภาพและประกันชดเชยรายได้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นและปกป้องเงินออมไม่ให้หมดไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
3 กุญแจปลดล็อกปัญหาการเงินฟรีแลนซ์ อัปเดตล่าสุด 22 สิงหาคม 2560 เวลา 16:40:33 5,801 อ่าน
TOP