x close

จัดพอร์ตจำเป็นไหม แค่ไหนเรียกจำเป็น

วางแผนการลงทุน

          จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย และเลือกรูปแบบการลงทุนให้เหมาะกับระยะเวลาที่ต้องการใช้เงินและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

          เมื่อพูดถึงการลงทุน หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง "จัดพอร์ตลงทุน" เพื่อกระจายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภท เช่น หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความเสี่ยงหรือโอกาสขาดทุนจากภาวะเศรษฐกิจผันผวน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะจำเป็นต้องจัดพอร์ตเสมอไป มีกรณีไหนบ้างที่อาจจะไม่ต้องจัดพอร์ตก็ได้ K-Expert มีคำตอบในเรื่องนี้มาฝากกัน
1. คนที่ไม่อยากเสี่ยง

          คำว่า "ไม่อยากเสี่ยง" ในที่นี้หมายถึง คนที่มีเป้าหมายการเงินที่สำคัญไม่ควรเสี่ยง จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ หรือไม่อยากต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายมากนักเมื่อถึงเวลาต้องใช้เงิน ซึ่งตัวอย่างของเป้าหมายประเภทนี้ เช่น แผนการศึกษา เพราะเมื่อถึงเวลาเปิดเทอมจะต้องมีเงินเพียงพอที่จะนำไปจ่ายให้โรงเรียนตามที่วางแผนไว้ ซึ่งรูปแบบการลงทุนสำหรับเป้าหมายการเงินที่สำคัญ ๆ จึงไม่ควรเสี่ยงมาก โดยจะเหมาะกับการเก็บเงินในกองทุนรวมตลาดเงิน

          แต่หากเป็นแผนการเงินที่สำคัญ แต่มีระยะเวลาเก็บเงินนานขึ้น แบบนี้ก็เสี่ยงมากขึ้นได้ โดยสามารถแบ่งเงินไปลงทุนในหุ้นสัก 30% ของเงินลงทุน ที่เหลืออยู่ในตราสารหนี้ เงินฝาก ก็ช่วยเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

          อีกเป้าหมายหนึ่งที่หลาย ๆ คนคงไม่อยากเสี่ยงเช่นกันคือ เก็บเงินดาวน์บ้าน ดาวน์รถ เพราะถ้าลงทุนแบบมีความเสี่ยงเข้ามาอยู่ในพอร์ต แล้วเกิดผลตอบแทนไม่เป็นไปตามคาดหวัง อาจทำให้ต้องลดสเปกบ้านหรือรถในฝันลงมา หรือบางทีเก็บเงินดาวน์ไม่พอ แต่ก็ไม่อยากปรับเปลี่ยนเป้าหมาย อาจจะต้องหาธนาคารหรือสถาบันการเงินใจดีปล่อยกู้วงเงินเต็มจำนวน หรือให้วางดาวน์ไม่ต้องเยอะ ก็จะสามารถซื้อบ้าน ซื้อรถได้ตามฝัน แต่สิ่งที่ตามมา เมื่อได้วงเงินกู้มากขึ้นก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น จึงต้องวางแผนให้ดี

          นอกจากคนที่เป้าหมายการเงินที่ไม่ควรเสี่ยงแล้ว บางคนอาจมีนิสัยไม่ชอบความเสี่ยง หรือรับความเสี่ยงได้ต่ำ การลงทุนสำหรับคนกลุ่มนี้แตกต่างจากคนที่มีเป้าหมายการเงินที่สำคัญเล็กน้อย คือ ไม่ใช่ว่าจะต้องลงทุนแต่ในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำเพียงอย่างเดียว แต่สามารถลงทุนในหุ้นได้บ้าง โดยควรมีในพอร์ตไม่เกิน 10-15% ของเงินลงทุน เพื่อไม่ให้พอร์ตการลงทุนผันผวนมากเกินไป แต่ก็ยังมีโอกาสรับผลตอบแทนได้มากขึ้น

วางแผนการลงทุน

2. คนที่ไม่มีเวลา

          อีกเหตุผลหนึ่งของการลงทุนที่ไม่จำเป็นต้องจัดพอร์ตนั่นคือ "ไม่มีเวลา" ขยายความให้ชัดเจนขึ้นคือ "ไม่มีเวลาลงทุนนานมากนัก"

          เช่น วางแผนไปเที่ยวในอีก 6 เดือน หรือ 1 ปี แม้ดูเป็นเป้าหมายที่อาจไม่ได้สำคัญมากนัก หากเทียบกับเป้าหมายการเงินอื่น ๆ ในชีวิต แต่เมื่อมีระยะเวลาเก็บออมไม่นานมาก ก็ควรลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการได้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือหากมีเงินก้อนเตรียมไว้พอแล้วสำหรับทริปท่องเที่ยวที่วางแผนไว้ ก็สามารถเก็บออมหรือพักเงินในกองทุนรวมที่กำหนดอายุกองทุน เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งเราจะรู้ผลตอบแทนประมาณการตั้งแต่วันที่ซื้อกองทุน

          ทั้งนี้ สำหรับผู้ลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่จัดว่า "ไม่มีเวลา" เช่นกัน แต่อาจเรียกว่า "ไม่มีเวลาติดตามตลาด" เช่น ทำธุรกิจส่วนตัว เวลาหมดไปกับการดูแลกิจการ จนไม่มีเวลาติดตามการลงทุน หรือปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนตามสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอด้วยตัวเอง กรณีเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องจัดพอร์ตเลย ยังสามารถจัดพอร์ตได้ แต่เลือกเป็น "พอร์ตลงทุนสำเร็จรูป"

วางแผนการลงทุน

          พอร์ตลงทุนสำเร็จรูปคือ กองทุนรวมผสมที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งกองทุนจะกำหนดไว้ในนโยบายการลงทุนว่า สามารถลงทุนหุ้นได้ในสัดส่วนเท่าไร และที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้

          โดยกองทุนจะมีผู้เชี่ยวชาญที่เรียกว่า ผู้จัดการกองทุน บริหารเงินลงทุน เลือกสินทรัพย์ลงทุน ปรับสัดส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ ผู้ลงทุนก็สามารถเลือกได้เลยว่า อยากให้พอร์ตลงทุนของตัวเองเป็นแบบไหน เลือกให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือเป้าหมายของตัวเรา เช่น เก็บเงินเกษียณ มีเวลาเก็บเงินนานเป็น 10 ปี แบบนี้เสี่ยงมากหน่อยก็ได้ ให้มีหุ้นในพอร์ตถึง 55% ของเงินลงทุนก็ยังไหว

          ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตคนเรามักไม่ได้มีเพียงเป้าหมายเดียว เมื่อทำงานมาได้สักระยะหนึ่งก็อยากเก็บเงินไปเที่ยว เมื่ออยากมีบ้าน มีรถเป็นของตัวเอง ก็ต้องเริ่มวางแผนเก็บเงินดาวน์ เมื่อแต่งงานมีครอบครัว ก็เริ่มวางแผนเก็บเงินส่งลูกเรียน หรือเริ่มต้องวางแผนระยะยาวอย่างการเก็บเงินเกษียณ การจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อดูว่ามีเวลาเก็บเงินแค่ไหน เป้าหมายไหนไม่จำเป็นต้องจัดพอร์ต แล้วเป้าหมายไหนควรจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงของเงินลงทุน    

K-Expert Action

          • ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของรูปแบบการลงทุนที่สนใจก่อนตัดสินใจลงทุน
          • เลือกลงทุนในสินทรัพย์ให้เหมาะกับระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จัดพอร์ตจำเป็นไหม แค่ไหนเรียกจำเป็น อัปเดตล่าสุด 13 มิถุนายน 2560 เวลา 18:24:10 5,020 อ่าน
TOP