x close

เทคนิควางแผนภาษีสายฟรีแลนซ์

ภาษี 2560

          ฟรีแลนซ์เตรียมพร้อมรับมือกับเกณฑ์ภาษีใหม่ปี 60 โดยกันเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อจ่ายภาษี และอย่าลืมนำรายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว มารวมคำนวณกับรายได้ประเภทอื่นเพื่อยื่นภาษีอีกครั้ง 
 
ภาษี 2560

          ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ที่รักอิสระ แต่ถึงอย่างนั้น ฟรีแลนซ์ก็ยิ่งต้องระมัดระวังและรอบคอบมากยิ่งขึ้นในเรื่องของภาษี เพราะมีรายได้ไม่เท่ากันในแต่ละเดือน

          สำหรับปีภาษี 2560 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็ส่งผลต่อฟรีแลนซ์ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ซึ่งจะมีทั้งแบบที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นและลดลง ขึ้นอยู่กับประเภทรายได้ของฟรีแลนซ์ ซึ่ง K-Expert จึงมีคำแนะนำเรื่องการวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์มาฝากกัน

- แบบที่หักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น  
 
ภาษี 2560

          หากฟรีแลนซ์คนไหนมีรายได้ประเภท 40(2) เช่น ค่านายหน้า ค่าจ้างเขียนหนังสือ ก็ถือว่าโชคดีไปเพราะปีนี้สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้เพิ่มขึ้น ทำให้เราเสียภาษีน้อยลง และมีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น

          สมมติปีนี้เรามีรายได้จากการรับทำงานให้ทั้งปีอยู่ที่ 500,000 บาท จากเดิมที่สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้เพียง 60,000 บาท เมื่อหักค่าลดหย่อนส่วนตัวไป 30,000 บาท เท่ากับว่าเหลือรายได้อีก 410,000 บาทที่ต้องนำมาคำนวณภาษี ซึ่งจะเสียภาษีอยู่ที่ 18,500 บาท แต่ปัจจุบันสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 บาท และสามารถหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 บาทด้วย เท่ากับว่าเหลือรายได้อีกแค่ 340,000 บาทที่เราต้องนำมาคำนวณภาษี ซึ่งจะเสียภาษีน้อยลงเหลือแค่ 11,500 บาทเท่านั้น   

- แบบที่หักค่าใช้จ่ายได้ลดลง
 
ภาษี 2560

          ส่วนคนที่มีรายได้เข้าข่าย 40(7) และ 40(8) คงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับค่าใช้จ่ายทางภาษีที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากปีนี้หากเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาก็จะหักค่าใช้จ่ายได้น้อยลง ทำให้เราเสียภาษีมากขึ้น

          คิดง่าย ๆ ว่า ถ้าเรามีรายได้จากการขายเครื่องสำอางซึ่งเป็นรายได้ประเภท 40(8) ทั้งปีอยู่ที่ 1 ล้านบาท จากเดิมที่สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ถึง 700,000 บาท เมื่อหักค่าลดหย่อนส่วนตัวไป 30,000 บาท เท่ากับว่าเหลือรายได้อีก 270,000 บาทที่ต้องนำมาคำนวณภาษี ซึ่งจะเสียภาษีอยู่ที่ 6,000 บาท แต่ปัจจุบันหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้น้อยลง เหลือเพียง 600,000 บาทเท่านั้น แม้ว่าจะหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 บาท เท่ากับว่าเหลือรายได้อีกตั้ง 340,000 บาทที่เราต้องนำมาคำนวณภาษี และต้องเสียภาษีสูงถึง 11,500 บาท ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้ฟรีแลนซ์คำนวณภาษีเอาไว้คร่าว ๆ ทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา และกันเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อเตรียมจ่ายภาษีที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง

          นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่ฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด นั่นคือ รายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคิดว่าจบแล้ว เพราะมีคนจ่ายภาษีให้เราเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ต้องไปทำอะไรอีก แต่จริง ๆ แล้ว รายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปจะยังไม่จบเพราะเป็นเพียงการนำส่งภาษีแค่บางส่วนเท่านั้น เรายังมีหน้าที่ที่ต้องนำรายได้ในส่วนนี้ไปรวมคำนวณกับรายได้ประเภทอื่นเพื่อยื่นภาษีอีกครั้ง โดยจะเสียภาษีตามฐานภาษีของเรา

          แล้วถ้าเราไม่นำรายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วมารวมคำนวณกับรายได้ประเภทอื่นเพื่อยื่นภาษีอีกครั้งล่ะ จะมีใครรู้ไหม ตรงนี้บอกได้เลยว่า กรมสรรพากรรู้อย่างแน่นอน เพราะตอนที่ผู้ว่าจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้นั้น ได้มีการระบุชื่อเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเงินส่วนนี้จ่ายให้กับใคร และมีเลขบัตรประชาชนของผู้รับเงินด้วยจึงสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น ใครที่ไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อนหรือลืมนำมารวมยื่น ก็แนะนำให้ทำให้ถูกต้อง โดยแจ้งสรรพากรพื้นที่เพื่อคำนวณภาษีใหม่อีกครั้ง

K-Expert Action

          •วางแผนค่าใช้จ่ายทางภาษีไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ประเภท 40(7) และ 40(8) 
          •รวบรวมหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำมารวมคำนวณกับรายได้ประเภทอื่นเพื่อยื่นภาษีอีกครั้ง


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคนิควางแผนภาษีสายฟรีแลนซ์ อัปเดตล่าสุด 28 มีนาคม 2560 เวลา 13:41:34 10,100 อ่าน
TOP