บริจาคน้ำท่วม ลดหย่อนภาษีปี 2560 ได้ ไขข้อสงสัยที่หลายคนอยากรู้ ?


บริจาคน้ำท่วม
ภาพจาก aphichato / Shutterstock.com

          5 เรื่องที่ต้องรู้ สำหรับผู้ที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการบริจาคเงินช่วยเหลือเหตุการณ์น้ำท่วม

          สถานการณ์น้ำท่วมของประเทศไทย ในปี 2560 ได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ภาคใต้ จนมาถึงภาคเหนือและอีสาน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน ทำให้ธารน้ำใจจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ไหลหลั่งไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยอย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งเงินบริจาคที่รวบรวมได้จากพี่น้องชาวไทยทั่วทุกสารทิศ
    
          นั่นจึงทำให้กระทรวงการคลังออกมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยให้สิทธิ์ผู้บริจาคสามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่ได้บริจาคเพื่อช่วยเหตุการณ์น้ำท่วม มาหักเป็นค่าลดหย่อน หรือหักเป็นรายจ่ายในการเสียภาษีได้ 
          สำหรับคนที่มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี และตั้งใจที่จะบริจาคเงินเพื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ด้วยแล้ว อาจเลือกใช้สิทธิ์ส่วนนี้เพื่อเป็นค่าลดหย่อนภาษีในปี 2560 ได้เช่นกัน ส่วนจะต้องบริจาคภายในวันที่เท่าไร หรือใช้หลักฐานอะไรบ้างนั้น กระปุกดอทคอม ขอรวบรวมคำถามต่าง ๆ มาชี้แจงให้ได้ทราบกัน


วิธีดูแลจิตใจผู้ประสบภัยช่วงนํ้าท่วม
ภาพจาก aphichato / Shutterstock.com

บริจาคเงินช่วยเหลือน้ำท่วมช่วงไหน ถึงได้สิทธิลดหย่อนภาษี ?


          กรมสรรพากรระบุว่า ต้องเป็นการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน (กรณีนิติบุคคล) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 แบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน คือ

          - ผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2560

          - ผู้ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ โดยต้องบริจาคระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม 2560 (ตามประกาศขยายระยะเวลาการบริจาคของกรมสรรพากร)


ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปีไหน ?

          เงินบริจาคนี้จะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2560 ซึ่งจะยื่นรายการภายในเดือนมกราคม-มีนาคม 2561

บริจาคเงิน
ภาพจาก STR / AFP

ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเท่าไร ?

          - กรณีบุคคลธรรมดา สามารถนำจำนวนเงินที่ได้บริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 1.5 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

          ตัวอย่างเช่น หากเราบริจาคเงินช่วยเหลือไป 1,000 บาท จะสามารถหักค่าลดหย่อนได้ 1.5 เท่า คือ (1,000x1.5) เท่ากับ 1,500 บาท ถ้าเงินได้สุทธิของเราต้องเสียภาษีอยู่ในขั้น 5% เท่ากับว่าจะได้คืนภาษี 5% ของ 1,500 บาท คือ 75 บาท แต่หากฐานภาษีอยู่ที่ 30% เท่ากับว่าจะได้คืนภาษี 30% ของ 1,500 บาท คือ 450 บาท

          - กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคไปหักเป็นรายจ่ายได้ 1.5 เท่า แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์แล้วต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ


ต้องบริจาคหน่วยงานไหนถึงได้สิทธิลดหย่อนภาษี ?

          กรมสรรพากรระบุว่าต้องเป็นการบริจาคให้ผู้รับบริจาคดังนี้

          - ส่วนราชการ มูลนิธิ องค์กรหรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

          - ตัวแทนรับบริจาคที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ที่ได้ขึ้นทะเบียนแจ้งขอเป็นตัวแทนรับบริจาคกับกรมสรรพากร เช่น สถานีโทรทัศน์ หรือสถานีวิทยุ


ใช้หลักฐานอะไรเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบ้าง ?

          - หลักฐานการรับเงิน หรือทรัพย์สิน ที่มีข้อความระบุว่าเป็นโครงการหรือเป็นการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ โดยอาจระบุช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัยไว้ด้วย

          - หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในช่วงระยะเวลาที่เกิดอุทกภัย ซึ่งพิสูจน์ผู้โอนและผู้รับโอนได้

          สำหรับมาตรการภาษีครั้งนี้นอกจากจะเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้มีการบริจาคเพื่อระดมความช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย และทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งหากใครมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกพื้นที่ และศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร. 1161

          ***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
กรมสรรพากร


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บริจาคน้ำท่วม ลดหย่อนภาษีปี 2560 ได้ ไขข้อสงสัยที่หลายคนอยากรู้ ? อัปเดตล่าสุด 13 พฤศจิกายน 2560 เวลา 10:23:08 16,336 อ่าน
TOP
x close