x close

คลอดแล้ว ครม. อนุมัติ 4 มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ



คลอดแล้ว ! ครม. อนุมัติ 4 มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ

           ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 4 มาตรการองรับสังคมผู้สูงอายุ ปี 2568 เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณของภาครัฐที่เกิดขึ้นในแต่ละปี

           วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2559) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ 4 มาตรการ ประกอบด้วย


           1. การจ้างงานผู้สูงอายุ

           2. การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex)

           3. สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)

           4. การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ โดยจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติและกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.)


           สำหรับมาตรการแรก การจ้างงานผู้สูงอายุ ครม. ได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ.... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่าย เพื่อจ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปเข้าทำงาน ทั้งนี้เฉพาะรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการจ้างผู้สูงอายุในส่วนที่ไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

           ในส่วนของมาตรการที่ 2 นั้นเป็นการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ แบ่งเป็น 3 แนวทาง ดังนี้

           1. มอบหมายให้กรมธนารักษ์นำที่ราชพัสดุมาสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 4 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ ชลบุรี, นครนายก, เชียงราย และเชียงใหม่

           2. มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สนับสนุนการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุบนพื้นที่อื่น

           3. มอบหมายให้ธนาคารออมสิน และ ธอส. ให้การสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขแบบผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Pre-Finance) ในวงเงินรวมไม่เกิน 4,000 ล้านบาท รวมถึงยังปล่อยสินเชื่อให้ผู้ต้องการมีบ้าน หรือ Post-Finance อีกด้วย โดยจะให้สิทธิ์ในการจองแก่บุตรที่ต้องการดูแลบุพการีผู้สูงอายุเป็นลำดับแรก


           ขณะที่ มาตรการที่ 3 เป็นการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุนำสินทรัพย์ที่ตนมีกรรมสิทธิ์มาเปลี่ยนเป็นรายได้ในการดำรงชีพ ซึ่งมูลค่าเงินที่กู้ได้จะขึ้นอยู่กับอายุของผู้กู้ มูลค่าบ้านและอัตราดอกเบี้ย โดยให้ ธอส. เป็นผู้นำร่องผลิตภัณฑ์ โดยผู้กู้จะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย อายุสัญญามี 2 รูปแบบ คือ อายุสัญญาตามอายุขัยของผู้กู้ และอายุสัญญาที่กำหนดช่วงเวลา และจะมีการจัดตั้งบริษัทค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือ มอตเกจ อินชัวรันส์ คัมปะนี เพื่อค้ำประกันความเสี่ยงของสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ

           มาตรการสุดท้ายจะเป็นการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดย ครม. ได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... เพื่อกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบายและกำหนดทิศทางในการพัฒนา และกำกับดูแลระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศให้มีความครอบคลุม และได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ กบช. เพื่อจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราว ส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างต้องร่วมกันส่งเงินเข้ากองทุนในอัตรา 3% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 1,800 บาทต่อเดือน ยกเว้นลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน นายจ้างจะเป็นผู้จ่ายทั้งหมด

     
           อนึ่ง กรณีที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วแต่ส่งไม่ถึง 3% เช่น นำส่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมเดือนละ 1% ในส่วนที่เหลือก็ต้องนำมาส่งที่ กบช. อีก 2% เพื่อให้ครบ 3% และลูกจ้างผู้ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้จะสามารถเลือกรูปแบบการรับเงินได้เมื่อครบอายุตามกำหนด โดยสามารถเลือกรับเงินเป็นก้อน หรือรับตามงวดเป็นรายเดือนจนครบ 20 ปี

           นายกอบศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า มาตรการทั้งหมดนี้ออกมาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ มาตั้งแต่ปี 2551 และสิ้นปี 2558 ประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้สูงอายุคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งประเทศและคาดว่าจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2568 และเพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณของภาครัฐที่เกิดขึ้นในแต่ละปี เพราะในปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบสำหรับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินสมทบเข้ากองทุนการออมเพื่อการเกษียณ เป็นจำนวนกว่า 2.87 แสนล้านบาทและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คลอดแล้ว ครม. อนุมัติ 4 มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ อัปเดตล่าสุด 9 พฤศจิกายน 2559 เวลา 18:12:32 128,427 อ่าน
TOP