จะเปิดร้านขายของออนไลน์ทั้งที ต้องทำความเข้าใจกับ 3 เรื่องนี้ให้ชัดเจน เชื่อว่าคำถามเหล่านี้ ว่าที่เจ้าของร้านออนไลน์ต้องสงสัยแน่ ๆ
ในยุคของโลก Social Media
การขายของออนไลน์กลายเป็นอาชีพหนึ่งที่มีคนให้ความสนใจอย่างมาก
เพราะเริ่มต้นได้ไม่ยาก มีโอกาสทำเงินได้สูง
และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว กระปุกดอทคอม จึงนำข้อมูลจาก K-Expert ที่ได้หยิบยก 3 คำถามยอดฮิต
ที่เจ้าของร้านออนไลน์มักสงสัยมานำเสนอ
พร้อมไขข้อข้องใจเพื่อเป็นความรู้สำหรับคนที่สนใจหรือกำลังคิดที่จะขายของออนไลน์
ดังนี้
หลายคนคิดว่าแค่ขายของออนไลน์เล็ก ๆ น้อย ๆ คงไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ยุ่งยากก็ได้ แต่จริง ๆ การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการขายของออนไลน์ เพราะหากเราละเลยหรือลืมจด ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 ต้องจ่ายค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท และมีค่าปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 100 บาท
ซึ่งการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่หลายคนเข้าใจ คนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถไปจดได้ที่สำนักงานเขต หรือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง ส่วนคนที่อยู่ต่างจังหวัดก็สามารถไปจดได้ที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีค่าคำขอจดทะเบียน 50 บาท และไม่มีค่าใช้จ่ายรายปีแต่อย่างใด นอกจากนี้ การที่เราไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นการแสดงถึงความตั้งใจในการทำอาชีพนี้ ซึ่งทำให้ลูกค้าและคู่ค้าของเรามั่นใจได้มากขึ้นอีกด้วย
เจ้าของร้านออนไลน์สามารถขายของในนามบุคคลธรรมดาไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมมากนัก ไม่ต้องจัดทำงบการเงิน การยื่นภาษีก็ไม่ต้องใช้เอกสารยุ่งยาก เรียกว่ามีความคล่องตัวมากกว่าการเป็นนิติบุคคล แต่หากขายดี มียอดขายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มมีข้อจำกัดต่าง ๆ ตามมา เช่น เริ่มเสียภาษีในฐานที่สูงขึ้น เพราะบุคคลธรรมดาใช้อัตราภาษีแบบก้าวหน้าอยู่ที่ 5-35% ในขณะที่นิติบุคคลมีอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 20% หรือข้อจำกัดด้านความน่าเชื่อถือในการสั่งซื้อสินค้าครั้งละมาก ๆ หรือต้องมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลนั้นสามารถลดข้อจำกัดเหล่านี้ได้ เมื่อต้องการขยายกิจการให้โตขึ้น การศึกษาเรื่องการจัดตั้งนิติบุคคลจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ
การจัดตั้งเป็นนิติบุคคลมี 2 รูปแบบ หลัก ๆ ได้แก่
• ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) เป็นการบริหารกิจการที่ใกล้เคียงกับการทำงานด้วยตัวคนเดียวมากที่สุด แต่ต้องมีการทำบัญชีงบการเงิน มีการตรวจสอบและรับรองงบการเงินด้วย ซึ่งนอกจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องเอกสารรายรับและรายจ่ายต่าง ๆ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ต้องมีหลักฐานเพื่อสามารถลงตัวเลขในงบการเงินได้
• บริษัทจำกัด (บจก.) ถือเป็นนิติบุคคลที่มีโครงสร้างมากขึ้น คือมีทั้งผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัท ซึ่งนอกจากการทำบัญชีงบการเงิน และสอบบัญชีแล้ว ยังต้องมีการทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ใบหุ้น และมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นอีกด้วย
3. อนาคตจะขอสินเชื่อ ควรเตรียมตัวอย่างไร
หากธุรกิจมียอดขายที่ดีอย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งการที่ธนาคารจะให้สินเชื่อกับกิจการหรือไม่นั้น มักจะพิจารณาจากความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ได้หรือไม่ โดยดูจากองค์ประกอบสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่
• ประสบการณ์ โดยพิจารณาจากระยะเวลาการดำเนินกิจการ ซึ่งสามารถอ้างอิงได้จากทะเบียนพาณิชย์หรือการจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ซึ่งโดยปกติหากดำเนินกิจการมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี ก็มีโอกาสสูงในการดำเนินกิจการไปได้อย่างต่อเนื่อง
• กำไรของกิจการ โดยดูว่ากิจการมีกำไรเพียงพอในการชำระหนี้หรือไม่ ซึ่งสามารถอ้างอิงได้จากเงินที่เข้า-ออกผ่านบัญชีธนาคาร บางกิจการทำกำไรได้มาก แต่รับและจ่ายเป็นเงินสดโดยไม่ผ่านบัญชีธนาคาร เมื่อมาขอสินเชื่อ ธนาคารจึงไม่สามารถรู้ได้ว่าที่ผ่านมากิจการมีกำไรมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น การดำเนินกิจการจึงควรรับรายได้ผ่านบัญชีธนาคาร และเมื่อต้องก่ารใช้จ่ายจึงค่อยถอนเงินออกไป หากสามารถเดินบัญชีได้อย่างน้อย 1 ปี ก็สามารถนำไปใช้อ้างอิงกับธนาคารถึงกำไรเฉลี่ยที่มีต่อเดือน ทั้งนี้ สำหรับนิติบุคคล ชื่อบัญชีธนาคารควรเป็นชื่อนิติบุคคลด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่าบัญชีดังกล่าวสะท้อนรายได้หรือกำไรของกิจการอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มต้นขายของออนไลน์ ควรศึกษาและลงมือทำอย่างจริงจัง ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง มีความซื่อสัตย์และจริงใจกับลูกค้า เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้การดำเนินกิจการเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก