x close

4 แนวทาง ให้ญาติยืมเงินยังไงให้ปลอดภัย

ยืมเงิน

          เมื่อมีคนมาขอยืมเงิน เราจะทำอย่างไรดีล่ะ ถ้าใจดีให้ยืม เราต้องทำอย่างไรบ้างจะได้ไม่เสียเปรียบ

          เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเจอมาแล้วกับสถานการณ์ที่ญาติ คนในครอบครัว หรือเพื่อนฝูงที่สนิทกันมาขอยืมเงิน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อย่างหาเงินมาหมุนไม่ทัน ต้องเอาเงินไปใช้หนี้ หรือมีเรื่องฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ ซึ่งถ้ามันไม่มากมายนัก ก็คงไม่ได้เป็นปัญหาเท่าไร แต่ถ้ามีการขอยืมเป็นจำนวนมาก ยังไงเราก็คงอึดอัดใจน่าดูใช่ไหมล่ะ เพราะถึงเรามีเงินเยอะแยะขนาดไหน ยังไงนั่นก็เงินเราที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง ใครจะอยากให้ยืมไปง่าย ๆ ล่ะ
ควรให้ญาติหรือเพื่อนยืมเงินไหม ?

          การให้พวกเขายืมเงินเป็นการแสดงน้ำใจในการช่วยเหลืออย่างหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราไม่อยากสนับสนุนให้ญาติหรือเพื่อน ๆ ยืมเงินเท่าไร เหตุผลก็เพราะ

          1. ถ้าไม่ตกลงกันให้ดี เราไม่รู้ว่าจะได้เงินคืนเมื่อไร พอฝ่ายที่ยืมเงียบไปนาน ๆ เราก็อึดอัดใจที่จะทวง บางทีทวงแล้วทวงอีกก็ยังไม่ได้เงินคืน แบบนี้ยิ่งเครียด

          2. พอให้ยืมครั้งหนึ่ง ก็อาจจะมีครั้งที่สองและครั้งอื่น ๆ ตามมา และยิ่งเป็นประเภทแบบข้อแรกที่ยืมไปแล้วยังไม่คืน ยังจะมายืมอีก อย่างนี้ยิ่งน่ารำคาญใจ

          แต่ครั้นจะไม่ให้ยืม บางทีคนที่มาขออาจจะมองว่าเราใจร้ายใจดำ เห็นเขาเดือดร้อนแล้วไม่คิดจะช่วยเหลือ ทั้งที่เราก็อยากช่วย และบางคนอาจจะเจอความกดดันจากครอบครัวรวมถึงเพื่อนฝูงคนอื่น ๆ ที่ทราบเรื่องอีก ทีนี้ ถ้าคิดจะให้ยืมเนี่ย จะทำอย่างไรดี เว็บไซต์ มาสิ เลยมีแนวทางให้ยืมเงินอย่างปลอดภัยมาแนะนำค่ะ

ยืมเงิน

1. ให้ยืมเฉพาะเท่าที่เสียแล้วรับได้

          อย่างแรกที่ทำใจเวลาให้ญาติหรือเพื่อนยืมเงิน คือ เราอาจไม่ได้รับเงินก้อนนั้นคืน ดังนั้น ถ้าคิดจะให้ใครยืมเงิน ให้บอกตัวเองก่อนเลยว่า ถ้าให้ยืมไปแล้วเนี่ย คงไม่ได้เห็นเงินก้อนนี้อีก ทีนี้ก็ค่อยมาคิดดูดี ๆ ว่าเราจะให้ยืมได้เท่าไร เพื่อให้เราเองไม่เดือดร้อนถ้าเสียเงินก้อนนั้นไป แต่ถ้าได้คืนมา ก็ถือว่าดีไป

          อีกเหตุผลที่ให้มองว่า เงินก้อนที่จะให้ยืมคงไม่มีวันได้กลับคืนมา เพราะลองนึกดูดี ๆ หากเขาต้องการเงินจำนวนมากขนาดนั้น เขาสามารถไปขอสินเชื่อส่วนบุคคลได้ แต่ทำไมเขาไม่ทำล่ะ ? เพราะเขาอาจติดแบล็กลิสต์ คือมีเครดิตสกอร์ที่ไม่ดี ประวัติการใช้เงินแย่ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นทำใจไว้เลยว่าถ้าไม่ได้คืนก็คงต้องปล่อยไป

2. ถ้าอยากรู้สาเหตุให้ถาม

          บางคนอาจไม่ต้องการเหตุผลจากคนที่ขอยืมว่าทำไมต้องมายืมเงิน จะได้ไม่ต้องไปนึกถึงมันมาก ให้ยืมแล้วก็จบไป อะไรทำนองนี้ แต่ถ้าหากเราเกิดสงสัย อาจด้วยความเป็นห่วงทั้งตัวคนยืมและเงินที่จะให้ยืม ให้ถามไปเลยว่า ยืมเงินไปทำไม อาจจะเป็นการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จ่ายค่าบัตรเครดิต หรืออะไรก็ตาม

          แม้อาจทำให้เกิดบรรยากาศที่กระอักกระอ่วน แต่เรามีสิทธิ์ที่จะรู้ถึงสาเหตุของการที่ต้องมาขอยืมเงินเรา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาว่าจะให้ยืมดีไหม

3. เขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษร

          การจะพูดคุยกันเฉย ๆ แล้วตกลงให้ยืมเงินนั้นเสี่ยงมาก ฉะนั้นให้คุยกันให้ชัดในเรื่องของรายละเอียดว่า จะยืมเท่าไร ผ่านช่องทางไหน จะคืนเงินทางไหน เมื่อไร มีดอกเบี้ยเท่าไร มีคิดเงินค่าชำระเงินสายไหม เป็นต้น

          จากนั้นให้เขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษร และลงลายเซ็นของผู้ขอยืมและผู้ให้ยืม จากนั้นจะให้ทนายมาเซ็นสัญญาให้หรือนำเอกสารไปที่ศาลแล้วทำให้สัญญานั้นเป็นสัญญาอย่างเป็นทางการก็ได้ แม้การทำแบบนี้อาจทำให้รู้สึกอึดอัด แต่การทำสัญญาจริงจังจะมีประโยชน์ต่อตัวผู้ยืมและผู้ให้ยืมแน่นอน

4. บอกคู่สมรส

          ถ้าเราแต่งงานแล้ว อย่าตัดสินใจให้ญาติหรือเพื่อนฝูงยืมเงินโดยไม่บอกคู่สมรส เพราะเรื่องการเงินหลังแต่งงาน ถือเป็นเรื่องที่รับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น สามีหรือภรรยาของเราควรมีการรับรู้ด้วย หากเกิดอะไรขึ้นกับเงินก้อนที่จะให้ยืม จะได้ไม่มีปัญหากันภายหลัง

          นอกจากนี้ การบอกคู่สมรสก่อน ยังจะช่วยเราในการตัดสินใจได้ว่า ควรจะให้คนคนนี้ยืมเงินไหม เป็นจำนวนเท่าไร เพราะความคิดเห็นของคู่สมรสเราอาจทำให้เราได้มุมมองที่เราไม่ได้นึกถึงมาก่อน และหากเขาหรือเธอไม่เห็นด้วย เราก็ควรเคารพการตัดสินใจ และปฏิเสธการให้ยืมเงิน

          การให้ญาติหรือเพื่อนยืมเงิน แม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็มีแนวทางในการทำให้มันปลอดภัยขึ้นได้ ด้วยการคิดก่อนว่าถ้าเสียเงินก้อนนั้นแล้ว เราอาจไม่ได้คืน แล้วก็พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ปรึกษาคู่สมรส และถ้าจะให้ยืมต้องมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าทำแบบนี้ จะช่วยลดปัญหาจากการให้ยืมเงินไปได้มากเลยค่ะ

          ทั้งนี้จำไว้ว่า ถ้าเราไม่สบายใจที่จะให้ใครยืมเงิน คิดว่าให้ยืมไม่ไหว ให้ปฏิเสธไปเลย อย่ารู้สึกผิด ถ้าเราช่วยได้เราก็ช่วย แต่ถ้าเราช่วยแล้วเราเดือดร้อน อย่าเลยดีกว่าค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Masii.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 แนวทาง ให้ญาติยืมเงินยังไงให้ปลอดภัย อัปเดตล่าสุด 17 พฤษภาคม 2559 เวลา 14:52:35 33,790 อ่าน
TOP